Default fallback image

ตัว-ตาเหลือง ปวดใต้ชายโครงขวา คันตามตัว สัญญาณมะเร็งท่อน้ำดี

โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อย แต่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง เพราะมักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจนในช่วงแรก ผู้ป่วยมักตรวจพบเมื่อโรคลุกลาม ซึ่งรักษาได้ค่อนข้างยากแล้ว…ดังนั้น การเข้าใจถึงสาเหตุของโรค กลุ่มเสี่ยง อาการ และแนวทางการรักษา จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณป้องกันและเตรียมรับมือให้พร้อม

โรคมะเร็งท่อน้ำดีคืออะไร?

มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) คือ โรคที่เกิดจากการที่เซลล์ในท่อน้ำดีเจริญอย่างผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

มะเร็งท่อน้ำดีสามารถแบ่งออกได้ตามตำแหน่งการเกิดเป็นสองชนิด คือ มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ และ มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ

ชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี

  1. มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ: เกิดจากเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีภายในตับ บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งตับ
  2. มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ: เกิดที่ท่อน้ำดีใหญ่ภายนอกตับ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี และทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองตามมา

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดียังไม่ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคได้ เช่น

  • การบริโภคปลาน้ำจืดดิบ: พฤติกรรมการรับประทานปลาน้ำจืดดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พยาธิชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายและสร้างความระคายเคืองที่ท่อน้ำดี เมื่อท่อน้ำดีได้รับการระคายเคืองต่อเนื่องเป็นเวลานาน เซลล์บริเวณนั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นมะเร็งได้
  • ภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง: การอักเสบเรื้อรังในท่อน้ำดีอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือการระคายเคืองจากปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น พยาธิ สารเคมี หรือการอักเสบเองของร่างกายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม การอักเสบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในท่อน้ำดีมากขึ้น
  • โรคระบบทางเดินน้ำดี: เช่น ท่อน้ำดีอุดตันหรืออักเสบเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เมื่อท่อน้ำดีได้รับการกระทบอย่างต่อเนื่องจะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ จนพัฒนาไปสู่การเป็นเซลล์มะเร็งได้
  • นิ่วในตับ: นิ่วในตับหรือนิ่วที่เกิดขึ้นในท่อน้ำดีส่วนใน มีผลทำให้เกิดการอุดตันและการอักเสบที่บริเวณท่อน้ำดี เมื่อท่อน้ำดีอุดตันและอักเสบเป็นเวลานาน เซลล์บริเวณนั้นจะเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์และเกิดเป็นมะเร็งในท่อน้ำดีได้ง่ายขึ้น
  • โรคพันธุกรรมที่มีถุงน้ำผิดปกติในระบบทางเดินน้ำดี: เช่น โรค Caroli’s disease เป็นภาวะที่ทำให้มีการก่อตัวของถุงน้ำในท่อน้ำดี ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและมีโอกาสเกิดมะเร็งในท่อน้ำดีสูงกว่าคนทั่วไป

อาการของมะเร็งท่อน้ำดี

ในระยะแรกของมะเร็งท่อน้ำดีมักไม่มีอาการชัดเจน แต่หากโรคลุกลามแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน
  • รู้สึกไม่สบาย แน่นท้อง และปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีอาการคันทั่วร่างกาย
  • อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม
  • เหนื่อยง่าย 
  • เบื่ออาหาร 
  • น้ำหนักลด
  • คลื่นไส้ อาเจียน

การตรวจวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับและสารบ่งชี้มะเร็ง รวมถึงอาจใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยวินิจฉัย เช่น อัลตราซาวด์ CT scan หรือ MRI เพื่อประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี

การรักษามะเร็งท่อน้ำดีมักพิจารณาจากระยะของโรคและสุขภาพของผู้ป่วย โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • การผ่าตัด: เป็นวิธีหลักในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี เพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด
  • การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดี: ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ และผู้ป่วยมีอาการดีซ่านจากท่อน้ำดีอุดตัน แพทย์อาจใช้การส่องกล้องเพื่อขยายท่อน้ำดีหรือใส่ท่อระบายน้ำดี
  • เคมีบำบัดและรังสีรักษา: ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดมะเร็งออกได้หมด หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้ได้ผลดี

โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคที่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงสูง แต่สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ และพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ เพื่อช่วยให้ตรวจพบและรักษาโรคในระยะแรกได้ทันท่วงที

สงสัยว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดีอยู่หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top