เมื่อพูดถึงโรคเกี่ยวกับตับ หลายคนอาจนึกถึงการดื่มสุราเป็นเหตุผลหลัก แต่รู้หรือไม่ว่า ตัวร้ายอย่าง “ไวรัสตับอักเสบซี” สามารถค่อย ๆ ทำให้ตับที่แข็งแรงกลายเป็นตับที่อ่อนแอได้ มาดูกันว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นอย่างไร ทำไมทุกคนควรตระหนักถึงโรคนี้!
สารบัญ
ไวรัสตับอักเสบ ซี คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus : HCV) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เข้าไปทำลายเซลล์ตับ ของเราอย่างช้า ๆ ผู้ติดเชื้อส่วนมากจะไม่รู้ตัว เพราะมักไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพหรือตรวจเลือดแล้วพบค่าตับผิดปกติ
เมื่อปล่อยให้เชื้อไวรัสสะสมอยู่ในร่างกายโดยไม่รักษา เชื้อนี้อาจสามารถนำไปสู่ภาวะ แทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะตับแข็ง หรือแม้กระทั่งมะเร็งตับได้ในที่สุด
ชนิดของไวรัสตับอักเสบ ซี
ไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว แต่แบ่งย่อยได้เป็น 6 ชนิด โดยชนิดที่ 1 และ 3 พบในไทยได้บ่อยพอกัน ประมาณ 40% รองลงมาจะเป็นชนิดที่ 2 ส่วนชนิดที่ 4, 5 และ 6 นั้นพบน้อย
การรักษาไวรัสแต่ละชนิดมีความยากง่ายแตกต่างกัน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่าไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นอยู่นั้นเป็นชนิดไหน เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาโรคต่อไป
ทำไมถึงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
เชื้อไวรัสตับอักเสบซีติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้
- การสัมผัสเลือด: การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อ เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มคนใช้สารเสพติด การรับเลือดที่ไม่ผ่านการคัดกรอง หรือการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้ฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม
- การมีเพศสัมพันธ์: การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ได้ป้องกัน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้สูง
- การรับเลือดหรืออวัยวะจากผู้ติดเชื้อก่อนปี พ.ศ. 2535: ก่อนปี พ.ศ. 2535 การตรวจสอบคัดกรองผู้บริจาคเลือดและอวัยวะยังไม่ละเอียด ทำให้บางคนอาจได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยไม่รู้ตัว
- การสักหรือเจาะร่างกาย: การสักหรือเจาะร่างกายด้วยเข็มที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อร่วมกับผู้อื่น ทำให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสไปสู่คนอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ไวรัสตับอักเสบซีไม่สามารถแพร่กระจายหรือติดต่อกันผ่านการสัมผัสทั่วไป เช่น การกอด การจูบ การทานอาหารร่วมกัน การไอ และการจาม
อาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นแบบไหน
อาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแสดงออกได้ในหลายระยะ ผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ยากที่จะรู้ว่าติดเชื้อ จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น
ระยะที่ 1: ตับอักเสบเฉียบพลัน
หลังจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้ว อาจไม่แสดงอาการเลย หรือมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น โดยผู้ป่วยราว 25–30% จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) ซึ่งเป็นสัญญาณของการอักเสบในตับ
ระยะที่ 2: ตับอักเสบเรื้อรัง
หากไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลันจะนำไปสู่ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ราว 60–80% มักจะมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา และเบื่ออาหาร
ระยะที่ 3: ตับแข็ง
เมื่อไวรัสตับอักเสบซีทำลายตับไปมากจะทำให้เกิดภาวะตับแข็ง (Cirrhosis) ตับไม่สามารถทำงานได้ตามเคย อาการจะเริ่มแสดงออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น
- ตัวเหลือง ตาเหลือง เนื่องจากตับไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้
- ท้องมานหรือบวมที่ท้อง ขาบวม จากการที่แรงดันของหลอดเลือดในตับสูงขึ้น จนเกิดการรั่วซึมของน้ำออกมาจากตับ ทำให้มีน้ำสะสมปริมาณมากกว่าปกติ
- เลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากตับไม่สามารถผลิตโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดได้
- คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด จากหลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหารแล้วแตกออก
- สมองมึนงง ฟุ้งซ่าน หรือสับสน เมื่อตับไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ ทำให้สารพิษสะสมในสมอง สมองได้รับความเสียหาย
หากไม่รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น มะเร็งตับ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่สุดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซี
หลัก ๆ ใช้การตรวจเลือด เพื่อยืนยันการติดเชื้อก่อน ดังนี้
- การตรวจหาแอนติบอดี (Anti-HCV) เป็นการตรวจเลือดหาปริมาณแอนติบอดีต่อไวรัสตับอักเสบซี หรือภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบซี ผลบวกบ่งชี้ว่า เคยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แต่ระบุไม่ได้ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ในเลือดหรือไม่ในขณะนั้น
- การตรวจหาเชื้อไวรัส (HCV RNA) เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง เพื่อยืนยันการติดเชื้อและวัดปริมาณไวรัสในเลือด ทำเมื่อผลตรวจ Anti-HCV เป็นบวก
หากตรวจพบเชื้อจะมีการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาต่อไป เช่น
- การตรวจสายพันธุ์ของไวรัส (Genotyping) เพื่อช่วยเลือกการรักษาที่เหมาะสม
- การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) ตรวจดูความยืดหยุ่นของตับ
- การอัลตราซาวนด์ตับ เพื่อดูร่องรอยของตับแข็งหรือมะเร็งตับ กรณีผลไม่แน่ชัด อาจมีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพิ่มเติม
- การเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ เพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อตับมาตรวจดูทางพยาธิวิทยา ปัจจุบันมักมักทำน้อยลง
การรักษาโรคเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
แนวทางหลักในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี มักจะใช้ยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์โดยตรง (Direct-acting antivirals: DAA) สามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ระยะเวลาสั้น
ตัวยาต้านไวรัสตับอักเสบซี อาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือเป็นยาสูตรผสม เช่น
- ยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir)
- ยาไรบาวิริน (Ribavirin)
- ยาโซฟอสบูเวียร์/ยาเวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) และอาจใช้ร่วมกับยาไรบาวิริน (Ribavirin)
- ยาดาคลาทาสเวียร์ (Daclatasvir)
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสตับอักเสบซีจะใช้เวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ หากมีภาวะตับแข็ง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจใช้เวลานานขึ้นถึง 24 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส และระดับความเสียหายของตับ
หลังจากการรักษาครบระยะเวลาประมาณ 3–6 เดือน แพทย์จะตรวจเลือด HCV RNA เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายจากการติดเชื้อไวรัสแล้วหรือไม่
กรณีผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งหรือมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ จำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามผลการทำงานของตับอย่างต่อเนื่อง เช่น
- การตรวจอัลตราซาวด์ ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของตับ
- การตรวจค่าตับ เพื่อติดตามสุขภาพโดยรวม และความเสียหายของตับ
การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี ในปัจจุบันมีความก้าวหน้า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจาก โรคได้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การป้องกันจึงมุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ
การตรวจเลือดคัดกรองโรค
การตรวจเลือดดูค่าตับเป็นประจำทุกปี จะบอกได้ถึงการทำงานของตับ สุขภาพของตับยังดีอยู่หรือไม่ หากตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การรักษาตั้งแต่แรกจะให้ผลการรักษาที่ดี ลดโอกาสการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง ควรเข้ารับการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ด้วย เช่น ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด เป็นโรคไตวายเรื้อรังหรือโรคเอดส์ เคยรับเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ. 2535
ลดความเสี่ยงหรือปัจจัยของโรค
เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ ควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของมีคม เช่น เข็มฉีดยา มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
- การรับเลือดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะ ควรเลือกรับบริการในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน
- คนที่ต้องการสักหรือเจาะร่างกาย ควรเลือกร้านที่มีมาตรฐาน เปลี่ยนเข็มใหม่ทุกครั้ง และทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างเหมาะสม
- บุคลากรทางการแพทย์หรือคนทำงานที่ต้องสัมผัสกับเลือดและสารคัดหลั่งของผู้อื่น ควรสวมถุงมือและอุปกรณ์ป้องกัน
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะคนที่มีคู่นอนหลายคน ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี และวัคซีนอื่น ๆ ตามความเสี่ยง
ค่าตับสูง ตับอักเสบ ยังลดทัน เช็กไว้ก่อนให้อุ่นใจด้วย แพ็กเกจตรวจสุขภาพตับ ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี จาก HDmall.co.th โปรโดนใจ เลือกได้ใกล้บ้านคุณ