โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual-Transmitted diseases: STDs) เป็นโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งสามารถติดต่อได้หลายวิธี และมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ อาการ และวิธีป้องกัน จะช่วยให้คุณสามารถดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในอนาคตได้เช่นกัน
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้ชาย
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ STDs ผู้ชาย มักเกิดจากการมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งโรคติดต่อที่พบบ่อยในเพศชาย มีดังนี้
1. โรคหนองในแท้
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae สามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ไม่สวมถุงยางอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
อาการ: มักมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะ มีเมือกสีขาวขุ่นหรือหนองข้นไหลออกจากท่อปัสสาวะ หรือมีอาการบวมแดงรอบๆ รูท่อปัสสาวะ เชื้อหนองสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมีบุตรในอนาคตได้
วิธีป้องกัน: ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการตรวจสุขภาพหรือตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
2. โรคหนองในเทียม
หนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis สามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก
เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ หรือบริเวณที่มีการสัมผัส หากไม่ทำการรักษา หนองในเทียมสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่อัณฑะหรืออวัยวะสืบพันธุ์ได้
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ไม่สวมถุงยางอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
อาการ: อาการของหนองในเทียมมักคล้ายกับหนองในแท้ อาจรู้สึกปวดแสบขัดเมื่อปัสสาวะ มีมูกออกเล็กน้อยในช่วงแรก และจะค่อยๆ มีอาการอักเสบมากขึ้น
วิธีป้องกัน: ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการตรวจสุขภาพหรือตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
3. โรคเริมที่อวัยวะเพศ
เริมคือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส HSV (Herpes Simplex Virus) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผ่านการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 สามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก หรือการสัมผัสผิวหนังที่ติดเชื้อ
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับหลายคน หรือมีประวัติเป็นโรคเริม
อาการ: ผู้ติดเชื้อมักมีตุ่มน้ำหรือแผลที่อวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง มีอาการปวดแสบปวดร้อน มีไข้ อาจรวมถึงคันหรือแสบบริเวณที่ติดเชื้อ บางรายอาจไม่มีอาการชัดเจน ผู้ที่เคยเป็นเริมแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ
วิธีป้องกัน: ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีอาการ
4. ติดเชื้อไวรัส HIV หรือโรคเอดส์
เชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ใช้เข็มร่วมกัน และผู้ที่มีคู่นอนที่ติดเชื้อ
อาการ: ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ท้องเสีย มีผื่นผิวหนัง ไอ ต่อมน้ำเหลืองบวม แต่ถ้าไม่รักษา เชื้อจะทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
วิธีป้องกัน: ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และพิจารณาการใช้ PrEP (Pre-exposure prophylaxis) สำหรับกลุ่มเสี่ยง
5. ติดเชื้อไวรัส HPV
เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิดในผู้ชาย อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งในช่องปาก โรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนักได้ โดยเชื้อสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์และสัมผัสผิวหนัง
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
อาการ: อาจเกิดหูดที่อวัยวะเพศ โดยมักจะมีอาการคันหรือเจ็บ อาจมีเลือดออกจากท่อปัสสาวะ
วิธีป้องกัน: ฉีดวัคซีน HPV และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
6. โรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือการสัมผัสแผล
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน สัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ติดเชื้อ
อาการ: อาการแรกเริ่มมีตุ่มแผลเล็กๆ มีลักษณะกดไม่เจ็บที่อวัยวะเพศหรือริมฝีปาก ต่อมาอาจมีผื่น แผลที่ผิวหนัง ปวดตามร่างกาย และอาการคล้ายไข้ หากไม่รักษา เชื้อสามารถแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน เช่น หัวใจ สมอง และระบบประสาท
วิธีป้องกัน: ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการตรวจสุขภาพหรือตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
7. โรคไวรัสตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis B) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ หรือเลือด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการรับสารคัดหลั่งทางปากและทางทวารหนัก
กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ร่วมเพศทางทวารหนัก หรือใช้ปาก
อาการ: บางรายอาจไม่มีอาการ แต่บางรายอาจมีอาการเหมือนไข้ ปวดท้อง และตัวเหลือง
วิธีป้องกัน: ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
อาการแบบนี้ ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเปล่า? อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ โดยวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีดังนี้
- ใช้ถุงยางอนามัย: ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ รวมถึง HIV หนองใน และซิฟิลิส
- ตรวจสุขภาพหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ: การเข้ารับการตรวจสุขภาพ และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพื่อให้สามารถตรวจพบและรักษาได้ทันท่วงที
- ขริบ: การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Circumcision) หรือ “ขริบ” เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหนังหุ้มปลายส่วนเกินของอวัยวะเพศชายออกบางส่วน เพื่อให้ปลายอวัยวะเพศเปิดออก และสามารถทำความสะอาดบริเวณส่วนหัวอวัยวะเพศได้ง่าย การขริบช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยช่วยให้การรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีอาการ: หากคุณหรือคู่ของคุณมีอาการของโรคติดต่อ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการตรวจและรักษา
- ฉีดวัคซีน: การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิด B และ HPV ได้
แม้ว่าการป้องกันข้างต้นจะไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อยากป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีไหนช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผู้ชาย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย