evar treatment faq scaled

ผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน ดูแลวิธีตัวเอง ผลข้างเคียง ราคา

การผ่าตัด EVAR ต้องเตรียมตัวอย่างไร ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างไร ผ่าตัดแล้วออกกำลังกายได้ไหม มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม ภาวะอ้วนส่งผลต่อการผ่าตัดหรือไม่ ค่ารักษาเท่าไร สารพัดคำถามเกี่ยวกับการผ่าตัด EVAR บทความนี้มีตอบให้คุณ

สารบัญ

1. การผ่าตัด EVAR ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดอย่างไร

ตอบ: การผ่าตัดแบบเปิด (Aortic Aneurysm Open Repair) เป็นวิธีการรักษาโรคหัวใจแบบดั้งเดิมที่ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ที่ช่องอกหรือช่องท้อง ซึ่งทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ชัดเจน

ในกระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้หัวใจเทียมและเครื่องปอด เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างปลอดภัย แต่อาจมีโอกาสเจ็บปวดและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

ในทางกลับกัน การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (Endovascular Aneurysm Repair) เป็นวิธีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเปิดแผลที่แขนหรือขาหนีบแทนการเปิดช่องท้อง และใส่หลอดเลือดเทียมเข้าไปแทนที่หลอดเลือดโป่งพอง โดยไม่ต้องตัดหลอดเลือดที่โป่งพองออกก่อน วิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและมีอาการเจ็บแผลน้อยกว่า

การผ่าตัด EVAR เหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุหรือต้องการเวลาฟื้นฟูร่างกายที่น้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว

2. ข้อดีของการผ่าตัด EVAR มีอะไรบ้าง

ตอบ: การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน มีข้อดี ดังนี้

  • แผลมีขนาดเล็กบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วและเจ็บปวดน้อยกว่า
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การสูญเสียเลือดมาก และภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด เนื่องจากไม่ต้องผ่าเปิดช่องท้องหรือหน้าอก

3. ข้อจำกัดของการผ่าตัด EVAR มีอะไรบ้าง

ตอบ: การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน มีข้อจำกัด ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแคบเกินไปหรือมีหลอดเลือดผิดปกติอาจไม่สามารถทำ EVAR ได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหลายครั้ง หรือภาวะหัวใจวาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองขั้นรุนแรง หรือมะเร็งระยะแพร่กระจาย
  • ในระยะยาว หลอดเลือดเทียมอาจเกิดการอุดตันหรือเสื่อมสภาพได้
  • ผู้ป่วยต้องตรวจติดตามสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าหลอดเลือดเทียมยังทำงานได้ดี
  • EVAR อาจไม่สามารถใช้กับหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กหรือรูปร่างซับซ้อนได้
  • ค่าใช้จ่ายในการทำ EVAR สูงกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่น

4. ผ่าตัด EVAR ราคาเท่าไหร่

ตอบ: การทำ EVAR มีราคาแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล ส่วนใหญ่แล้วโรงพยาบาลเอกชนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ผ่าตัด EVAR ต้องเตรียมตัวอย่างไร มีความเสี่ยงไหม? ขอความเห็นจากแพทย์ผู้เฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ  หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

5. ก่อนผ่าตัด EVAR ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ตอบ: ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยควรเตรียมตัว ดังนี้

  1. ตรวจประเมินความเสี่ยงตามแพทย์แนะนำ 
  2. แจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ การแพ้ยา แพ้อาหาร และผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แพทย์ทราบโดยละเอียด 
  3. งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนทำผ่าตัด
  4. งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด
  5. แพทย์อาจให้โกนขนบริเวณรอบขาหนีบหรือบริเวณที่มีการกรีดเปิดแผล
  6. แพทย์อาจแนะนำให้ญาติหรือคนสนิทที่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกันบริจาคเลือดสำรองไว้ให้ผู้ป่วย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงต้องใช้เลือดมาก
  7. ลางานล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ เพื่อพักฟื้นร่างกาย 
  8. วันผ่าตัดพาญาติมาด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก

6. การทำ EVAR มีขั้นตอนอย่างไร

ตอบ: ขั้นตอนการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน มีดังนี้

  1. แพทย์หรือพยาบาล ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ที่จะทำการสอดสายสวนหัวใจ
  2. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
  3. แพทย์ผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่ขาหนีบหรือข้อมือ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหลอดเลือดที่โป่งพอง
  4. จากนั้นสอดท่อนำทางเข้าไปในหลอดเลือด จนถึงตำแหน่งที่โป่งพอง
  5. แพทย์ฉีดสารทึบรังสี เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองอีกครั้ง
  6. สอดสายสวนสำหรับปล่อยหลอดเลือดเทียมตามเข้าไป 
  7. จากนั้นจึงปล่อยหลอดเลือดเทียมเข้าไปยังตำแหน่งหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยส่วนมากใช้เป็นหลอดเลือดเทียมชนิดขวดลวดหุ้มกราฟต์ (Stent Graft) 
  8. หลอดเลือดเทียมจะขยายตัวจนเท่าหลอดเลือดแดงปกติ และแนบติดกับผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เองโดยไม่ต้องใช้การเย็บติด
  9. แพทย์ฉีดสารทึบรังสีอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบรอยรั่วที่อาจเกิดขึ้นที่หลอดเลือด หากไม่มีจะนำอุปกรณ์ผ่าตัดออก และเย็บปิดแผล

ตลอดกระบวนการทำ EVAR ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน เพื่อติดตามอาการ

7. หลังผ่าตัดต้องดูแลตัวเองอย่างไร

ตอบ: หลังผ่าตัดแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง ดังนี้

    • ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ และงดอาบน้ำ 24-48 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด
    • หลังผ่าตัดแพทย์จะค่อยๆ ให้เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายทีละน้อย เช่น การลุกและเดินรอบเตียง นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหมั่นเดินเบาๆ ทุกวัน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
    • ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก อาจรู้สึกอ่อนเพลียง่าย ควรพักผ่อน และนอนหลับให้เพียงพอ 
    • งดขับรถเองในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
    • งดยกของหนัก งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากประมาณ 3 เดือน หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
    • กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด กรณีที่มีอาการปวด สามารถกินยาแก้ปวดได้ตามแพทย์สั่ง
    • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม และแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
    • ตรวจสุขภาพตามนัดและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที

8. ต้องนอนโรงพยาบาลกี่วัน

ตอบ: การพักฟื้นหลังการทำ EVAR มักจะใช้เวลาน้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิด โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยมักจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นสามารถกลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้านได้

9. ผลลัพธ์ระยะยาว หลังการผ่าตัดเป็นอย่างไร

ตอบ: การทำ EVAR ช่วยลดโอกาสที่หลอดเลือดโป่งพองจะแตกได้ในระยะยาว ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูความคงทนของหลอดเลือดเทียมและป้องกันการอุดตันหรือการเสื่อมสภาพ

10. ต้องตรวจติดตามหลังทำ EVAR บ่อยแค่ไหน

ตอบ: ผู้ป่วยควรกลับมาตรวจติดตามตามนัดที่แพทย์กำหนด ซึ่งแพทย์อาจให้ตรวจอัลตราซาวด์ หรือ CT Scan ทุก 6-12 เดือนในช่วงแรก

11. ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด มีอะไรบ้าง

ตอบ: การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน มีผลข้างเคียงที่พบได้ ดังนี้

  • ผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ อาการเจ็บแผลผ่าตัดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ติดเชื้อจากแผลผ่าตัด บางรายอาจมีอาการแพ้ยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่นๆ อาจรู้สึกชาหรือบวมช้ำบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด นอกจากนี้อาจมีเลือดออกจากแผลหรือมีเลือดคลั่งใต้ผิวหนัง
  • อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ทันที
    • ไข้สูงและหนาวสั่น: อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน
    • หัวใจเต้นผิดปกติ: การเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • หายใจลำบาก: รู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือหายใจได้ยาก
    • ปวดเจ็บแผลอย่างรุนแรง: อาการปวดที่แผลไม่บรรเทาลงจากการใช้ยาแก้ปวด
    • แผลบวมแดงและมีของเหลวไหล: แผลมีอาการบวมแดง หรือมีของเหลวซึมออก
    • แผลปริแตก: แผลมีรอยเปิดหรือแตก
    • ปวดหลัง น่อง ต้นขา หรือขาหนีบ: อาการปวดที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น แต่มีโอกาสค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวาย ภาวะเลือดคั่งใต้ผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

อย่างไรก็ตาม การดูแลหลังการผ่าตัดอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

12. ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ส่งผลต่อการผ่าตัด EVAR ไหม

ตอบ: ภาวะน้ำหนักเกินสามารถส่งผลกระทบต่อการทำ EVAR ได้บางประการ เช่น มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหรือมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด นอกจากนี้อาจเพิ่มความซับซ้อนในกระบวนการผ่าตัด และใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

13. อาหารอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัด EVAR

ตอบ: หลังการผ่าตัด EVAR ควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้

  1. อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง และผลิตภัณฑ์จากนม เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหารและมีผลต่อการฟื้นตัว
  2. อาหารเผ็ดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารและทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้น
  3. อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป อาจทำให้มีอาการบวมและความดันโลหิตสูง
  4. อาหารที่ทำให้ท้องผูก เช่น ขนมปังขาวหรือข้าวขาว ควรหันไปบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
  5. อาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่ว กะหล่ำปลี และหัวหอม อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องในช่วงฟื้นตัว

14. สามารถออกกำลังกายได้เมื่อไหร่

ตอบ: ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ผู้ป่วยควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวเต็มที่

หลังจาก 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถเริ่มกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดิน แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่ใช้แรงมาก

สำหรับออกกำลังกายเต็มรูปแบบ เช่น การวิ่งหรือการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อที่หนักขึ้น ควรรอประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์

15. หลังผ่าตัด มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

ตอบ: ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากการผ่าตัด EVAR แต่ควรรอให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถเริ่มได้หลังจากผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและคำแนะนำของแพทย์ 

เชื่อว่าข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน ที่นำมาฝากในบทความนี้ น่าจะช่วยให้หลายคนหายคาใจและหมดกังวลเกี่ยวกับการรักษาโรคหัวใจแล้ว

ผ่าตัด EVAR ที่ไหนดี? มีขั้นตอนอย่างไร? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top