กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) สาเหตุ อาการ การรักษา ดูแล

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อย สามารถพบได้ในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทุกช่วงวัย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาการไม่รุนแรงมาก

ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุชัดเจน เช่น โรคสมองพิการแต่กำเนิดในเด็ก (Cerebral Palsy) โรคกล้ามเนื้อฝ่อลีบ (Muscular Dystrophy) การติดเชื้ออย่างรุนแรงในไขสันหลัง หรือการเสื่อมของกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ (Degenerative Lumbar Scoliosis)

กระดูกสันหลังคดคืออะไร มีอาการและวิธีการสังเกตอย่างไรบ้าง?

โดยปกติแล้ว กระดูกสันหลังมนุษย์เมื่อมองจากทางด้านหลังจะสังเกตเห็นปุ่มกระดูกแต่ละข้อต่อเรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงตั้งแต่คอไล่ลงไปจนถึงเอว ในผู้ที่มีกระดูกสันหลังคด แนวของกระดูกสันหลังนี้จะเปลี่ยนไป

การคดสามารถเกิดได้ทุกระดับของกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะกระดูกสันหลังส่วน คอ อก หรือหลัง การคดของกระดูกสันหลังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ

คือ คดเป็นรูปตัว C และรูปตัว S การสังเกตง่ายๆ คือ เมื่อยืนในท่าตรง จะเห็นว่าระดับสะโพกสองข้างสูงไม่เท่ากัน สะบักนูนไม่เท่ากัน หรือไหล่ทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

โดยทั่วไปแล้วถ้าอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ที่มีกระดูกสันหลังคดจะไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่อาจจะมีความเสี่ยงของอาการปวดคอ บ่า หลัง มากกว่าปกติเท่านั้น ในรายที่มีอาการมากอาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อร่างกายได้

กระดูกสันหลังคดแบ่งออกเป็นกี่ประเภท?

กระดูกสันหลังคดสามารถแบ่งออกได้ด้วยหลายเกณฑ์ ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งประเภทแบบง่ายๆ โดยใช้สาเหตุของการเกิดกระดูกสันหลังคดเป็นเกณฑ์ ดังนี้

  1. กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) กระดูกสันหลังคดแบบนี้ เป็นที่สงสัยว่าอาจจะเกิดจากกระบวนการสร้างไขสันหลังและกระดูกสันหลังของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์
  2. กระดูกสันหลังคดที่เกิดจากท่าทางที่ผิดปกติ (Functional Scoliosis) เกิดจากการที่มีสรีระส่วนอื่นของร่างกายผิดปกติ เช่น
    • มีอุ้งเท้าสูงหรือแบนกว่าปกติ ส่งผลให้การเดินลงน้ำหนักผิดปกติเป็นเวลานานหลายปี ส่งผลให้กระดูกสันหลังคด
    • มีความยาวของขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
    • อยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมนานๆ เช่น นั่งทำงานนานๆ ไหล่ห่อ คางยื่น ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่สมดุล ซึ่งพบได้มากในผู้ที่นั่งทำงานคอมพิวเตอร์ หรือใช้สมาร์ตโฟนนานๆ

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังคดได้ทั้งนั้น

การตรวจและการรักษากระดูกสันคดทำได้อย่างไรบ้าง?

การตรวจประเมินก่อนการรักษาง่ายๆ แพทย์จะให้ผู้ป่วยยืนแล้วค่อยๆ ก้มลง โดยเหยียดศอกตึง ในลักษณะคล้ายจะแตะที่ปลายเท้า หากมีอาการกระดูกสันหลังคด จะพบกว่ามีการนูนของหลัง (Hump) ฝังใดฝั่งหนึ่ง (Adam’s Forward Bending Test)

นอกจากนี้ การเอกซเรย์เพื่อดูความรุนแรงของการคดงอก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมมาก ในผู้ป่วยบางรายที่สงสัยว่าจะมีความผิดปกติของไขสันหลังร่วมด้วย อาจใช้การทำวินิจฉัยด้วยภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ส่วนการรักษากระดูกสันหลังคดในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ ดังนี้

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด จะเน้นไปที่การรักษาทางกายภาพบำบัดและการใช้อุปกรณ์พยุงหลัง เพื่อป้องกันหรือชะลอความคดงอที่มากขึ้นของกระดูกสันหลัง ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคด มักพบว่ากล้ามเนื้อที่วางตัวตามแนวยาวทั้งสองข้างของแนวกระดูกสันหลังทำงานไม่สมดุลกัน
    กล่าวคือข้างนึงหดเกร็ง ส่วนอีกข้างอ่อนแรงและถูกยืดยาวออก นักกายภาพบำบัดมักออกแบบการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง และยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นกับอาการ ความรุนแรง และอายุของผู้ป่วยแต่ละรายไป
    การใช้อุปกรณ์พยุงหลังหลายชนิดก็มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ว่าช่วยลดหรือชะลอการโค้งงอของกระดูกสันหลังได้ ทั้งนี้ระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวจะมาจากประเมินอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย เช่น ในบางรายอาจจะใส่ไว้ตลอดเวลา ในบางรายใส่แค่เวลานั่งทำงานนานๆ เท่านั้น
  2. การผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่การรักษาแบบไม่พึ่งพาการผ่าตัดไม่ได้ผล หมายถึงไม่สามารถลดหรือชะลอความรุนแรงของการคดงอได้ ในกรณีที่กระดูกสันหลังคดงอมากกว่า 40 องศาขึ้นไป
    ผู้มีอาการปวดหลังรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจเพราะการคดงอของกระดูกสันหลังทำให้รูปทรงของซี่โครงผิดปกติและกดทับปอด หรืออาการคดงอนั้นมีผลกระทบต่อระบบประสาทและไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยชา หรือมีอาการขาอ่อนแรง เป็นต้น

คำแนะนำสำหรับหลีกเลี่ยงและรักษากระดูกสันหลังคดด้วยตนเอง

อาการกระดูกสันหลังคด สามารถป้องกันและรักษาเบื้องต้นได้ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมนานๆ เช่น การนั่งลงน้ำหนังที่สะโพกสองข้างไม่เท่ากัน หรือนั่งพับเพียบนานๆ
  2. เลือกใช้กระเป๋าเป้ แทนจะเป๋าสะพายข้างเดียว เพื่อให้กล้ามเนื้อบ่าและหลังทั้งสองข้างทำงานเท่ากัน หรือหากใช้กระเป๋าสะพายข้าง ก็ควรเป็นกระเป๋าที่มีน้ำหนักไม่มากจนเกินไป นอกจากนี้ควรสลับบ่าที่ใช้สะพายเป็นประจำ เพื่อป้องกันการทำงานของกล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งมากจนทำให้เกิดความไม่สมดุล
  3. ในกรณีที่กระดูกสันหลังคดเป็นรูปตัว C ไปแล้ว และลำตัวเอียงไปทางด้านขวา หมายความว่ากล้ามเนื้อฝั่งขวาของกระดูกสันหลังหดสั้นลง แนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อด้วยการเริ่มจากนอนคว่ำ ใช้หมอนข้างหนุนลำตัวในบริเวณกระดูกสันหลังระดับที่คดเอียงผิดปกติ แล้วค่อยๆ พลิกตัวเป็นท่านอนตะแคงทับด้านซ้าย ให้ด้านซ้ายของร่างกายแนบติดกับพื้น ค้างไว้ 30 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อวัน หากลำตัวเอียงไปทางด้านซ้าย ให้ทำท่ายืดกล้ามเนื้อตามนี้แต่สลับข้าง
  4. อาจใช้วิธีโหนบาร์ยืดกล้ามเนื้อ โดยใช้มือทั้งสองข้างเกาะบาร์หรือราวที่มั่นคง จ่กระเรค่อยๆ งอเข่า และยกขึ้นให้พ้นจากพื้น ค้างไว้ 30 วินาที 10 ครั้ง ด้วยวิธีนี้ น้ำหนักตัวส่วนล่างจะช่วยยืดกล้ามเนื้อหลังที่หดเกร็ง และช่วยปรับสมดุลของแนวกระดูกสันหลังได้

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อที่แนะนำไว้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการไม่มาก ยังมีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และการออกกำลังกายที่จำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละรายอีกด้วย
หากออกกำลังกายด้วยตนเองแล้วมีอาการปวดเกิดขึ้นควรหยุด และปรึกษานักกายภาพบำบัดทันที เพื่อให้นักกายภาพบำบัดออกแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงต่อไป

กระดูกสันหลังคดเป็นอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย และอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากนักในระยะแรก เมื่อสังเกตพบการป้องกันความรุนแรงที่มากขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมและการออกกำลังกายเพื่อแก้ไขจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้หากมีอาการแทรกซ้อนอื่น เช่น ปวดหลังเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เหนื่อยง่าย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อรับการประเมินและรักษาอย่างทันท่วงที

Scroll to Top