ตรวจตับ อาจจับสัญญาณอันตรายได้ตั้งแต่ต้น!

ตับเป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และมีความสำคัญต่อระบบต่างๆ มากมาย หน้าที่หลักของตับอาจมีดังนี้

  • ช่วยสร้างน้ำดีที่มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร
  • ช่วยกำจัดของเสียออกจากกระแสเลือด เช่น แอลกอฮอล์ สารพิษ
  • ช่วยผลิตโปรตีนต่างๆ
  • ช่วยหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย

หากตับเกิดความเสียหาย ระบบต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นอาจเกิดความผิดปกติได้ การตรวจตับเป็นระยะจึงมีความสำคัญไม่แพ้กับการตรวจเช็กอวัยวะอื่นๆ

การตรวจตับคืออะไร?

การตรวจตับ คือการวัดระดับสารเคมีหลายชนิดในเลือด และแปลผลออกมาเป็นค่าต่างๆ ที่หลายคนมักเรียกว่า “ค่าตับ” อาจใช้บ่งชี้ได้ว่าตับยังคงมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่

จุดประสงค์ในการตรวจตับ อาจมีดังนี้

  • ตรวจดูความเสียหายของตับจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี (Hepatitis A, B, C)
  • ตรวจดูความเสียหายที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้เป็นประจำ
  • ตรวจดูการทำงานของตับว่ายังทำงานปกติดีหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ตรวจดูความผิดปกติอื่นๆ ของตับที่อาจส่งผลต่ออาการอื่นๆ ของร่างกาย
  • ติดตามอาการสำหรับผู้ที่เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับตับ เช่น ตับอักเสบ ฝีในตับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ในการตรวจตับไม่ได้เฉพาะเจาะจงสำหรับคนที่เป็นโรคตับเท่านั้น ในบางโปรแกรมตรวจสุขภาพจึงอาจมีรายการตรวจตับควบรวมอยู่ด้วย

ใครควรตรวจตับบ้าง?

แม้คนทั่วไปจะสามารถตรวจตับได้ตามโปรแกรมตรวจสุขภาพ แต่ผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ควรพิจารณาโปรแกรมตรวจตับโดยเฉพาะเพื่อเช็กสภาพตับ

  • ผู้ที่สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมากหรือดื่มเป็นประจำ
  • ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับมาก่อน
  • ผู้ที่กินยาที่อาจส่งผลกระทบต่อตับเป็นประจำ

เงื่อนไขข้างต้นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับได้ หากความเสียหายที่ตับเกิดขึ้นแล้ว อาจแสดงอาการให้เห็นได้ ดังนี้

  • มีอาการเจ็บท้อง หรือท้องบวม
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการตาเหลือง ผิวเหลือง (ภาวะดีซ่าน)
  • มีอาการขาหรือเข่าบวม
  • มีอาการอ่อนแรงมาก
  • เบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • มีอาการคันตามผิวหนัง

ความเสียหายที่ตับอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ดังนั้นหากเข้าข่ายข้อใดด้านบน หรือมีอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง ควรไปพบแพทย์ตรวจตับทันที

โปรแกรมตรวจตับมีรายการตรวจอะไรบ้าง?

โปรแกรมตรวจตับส่วนมากมักมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การซักประวัติและการเจาะเลือด เพราะสามารถแปลผลเป็นค่าตับอย่างที่กล่าวไปข้างต้น รายละเอียดในการตรวจตับที่พบได้ อาจมีดังนี้

1. ตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ (Physical examination)

แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติเบื้องต้นถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มสุราบ่อยแค่ไหน กินยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อเก็บข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อตับ

จากนั้นอาจมีการตรวจร่างกายภายนอกทั่วไป เพราะอาการบางอย่างอาจแสดงออกให้เห็นได้ชัด เช่น ท้องบวม กดแล้วเจ็บ ตาเหลือง และตัวเหลือง เป็นต้น

2. ตรวจสารบ่งชี้อาการบาดเจ็บ ALT

Alanine transaminase (ALT) หรือเรียกอีกอย่างว่า Serum glutamic pyruvic transaminase (SGPT)

ALT เป็นเอนไซม์ที่ร่างกายใช้ในการเผาผลาญโปรตีนเป็นพลังงาน เอนไซม์ ALT พบมากในตับ แต่สามารถพบในอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วยเล็กน้อย

โดยปกติระดับ ALT พบได้ในกระแสเลือดปริมาณเล็กน้อย แต่หากตับได้รับความเสียหายหรือทำงานบกพร่องอาจตรวจพบ ALT ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

ระดับปกติของ ALT จะอยู่ที่ประมาณ 7-55 U/L (Unit per liter) ผู้ชายอาจมีค่าสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อยเป็นธรรมดา

3. ตรวจสารบ่งชี้อาการบาดเจ็บ AST

Aspartate aminotransferase (AST) หรือเรียกอีกอย่างว่า Serum glutamic-oxaloacetic transaminase (SGOT)

AST เป็นเอนไซม์ที่ตับสร้างขึ้นมา แต่สามารถพบได้จากอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เช่น หัวใจ ไต สมอง และกล้ามเนื้อ เพียงแต่จะมีปริมาณน้อยกว่าตับ

โดยปกติแล้วระดับ AST ในเลือดจะมีปริมาณไม่มาก แต่หากตับ หัวใจ ไต เกิดความเสียหาย ค่า AST ในกระแสเลือดจะสูงขึ้น ดังนั้นค่า AST จึงต้องตรวจร่วมกับ ALT ด้วย

ค่าปกติของ AST ของผู้ชายอาจอยู่ที่ประมาณ 10-40 U/L และ 9-32 U/L สำหรับผู้หญิง

แพทย์จะเปรียบเทียบผล AST และ ALT ในการวินิจฉัย หากตับเกิดความเสียหายขึ้นจริง ค่า ALT มักจะสูงกว่า AST

4. ตรวจสารบ่งชี้อาการบาดเจ็บ ALP

Alkaline phosphatase (ALP) เป็นเอนไซม์ที่พบในกระดูก ท่อน้ำดี และตับ หากตับเกิดความเสียหาย ระดับ ALP ในเลือดอาจจะสูงขึ้นได้

แต่การตรวจ ALP มักตรวจร่วมกับ ALT และ AST ด้วย เพราะระดับ ALP ที่สูงอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น เกิดการอักเสบที่ตับ มะเร็งตับ ท่อน้ำดีอุดตัน หรือโรคที่เกี่ยวกับกระดูก

ค่าปกติของ ALP ในผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยอาจอยู่ที่ประมาณ 120 U/L

แต่อย่างไรก็ตาม เด็ก วัยรุ่น อาจมีระดับ ALP สูงได้แม้จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ แต่เพราะร่างกายกำลังเสริมสร้างกระดูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ALP ได้

5. ตรวจการทำงานของตับ (Albumin test)

Albumin เป็นโปรตีนหลักที่ผลิตจากตับ มีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวเวลาที่เลือดออก คอยหล่อเลี้ยงและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย

การตรวจวัดระดับ Albumin จึงช่วยประเมินได้ว่าตับของคุณสามารถผลิตโปรตีนชนิดนี้ได้ดีแค่ไหน

ค่าเฉลี่ยของ Albumin อยู่ที่ประมาณ 3.5-5.0 g/dL แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจพบค่า Albumin ต่ำกว่าปกติอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยเช่นกัน ทั้งตับทำงานผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ ร่างกายเกิดการติดเชื้อ และการอักเสบ

6. ตรวจการทำงานของตับ (Bilirubin test)

Bilirubin เป็นของเสียที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่เกิดขึ้นจากตับก่อนจะขับออกทางอุจจาระ

หากตับเกิดความเสียหายจะไม่สามารถกำจัด Bilirubin ได้เต็มที่ ทำให้ระดับ Bilirubin ในกระแสเลือดสูงเกินกว่าปกติ

ปกติแล้วค่าเฉลี่ยของ Bilirubin จะอยู่ที่ประมาณ 0.1-1.2 mg/dL

8. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ (HBsAg)

HBsAg เป็นสารบ่งชี้ว่าตับอาจเกิดการติดเชื้อตับอักเสบ (Hepatitis A, Hepatitis B, Hepatitis C)

เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นจะสามารถตรวจพบโปรตีนแอนติเจน (Antigens) ที่มาจากเชื้อไวรัส และอาจตรวจพบแอนติบอดี้ (Antibodies) ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน จึงเรียกทั้ง 2 อย่างนี้ว่า (HBsAg)

HBsAg จะสามารถตรวจพบในเลือดได้ตั้งแต่ 1-10 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ

9. ตรวจความเสี่ยงภาวะตับแข็ง (Fibroscan)

Fibroscan เป็นอุปกรณ์ที่คล้ายกับการอัลตร้าซาวด์ โดยการส่งคลื่นเข้าไปกระทบกับตับด้านในและวัดออกมาเป็นตัวเลข

โดยปกติตับที่แข็งแรงจะมีความนิ่ม แต่ตับที่มีผังผืดหรือไขมันพอกตับจะทำให้ตับแข็งขึ้น คลื่นจาก Fibroscan จึงสามารถตรวจพบความผิดปกติของตับได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

แพทย์จะใช้เครื่องมือทาบบริเวณชายโครงที่อยู่เหนือตับโดยไม่ต้องเจาะหรือผ่า จากนั้นปล่อยคลื่นเข้าไปด้านใน ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20 นาที

10. ตรวจการทำงานของตับ (Globulin test)

Globulin เป็นชื่อกลุ่มของโปรตีนซึ่งประกอบไปด้วย

  • Alpha 1
  • Alpha 2
  • Beta
  • Gamma globulin

บางโปรแกรมตรวจตับอาจใช้ชื่อเหล่านี้ในรายการตรวจ ซึ่งหมายถึงโปรตีนในกลุ่ม Globulin นั่นเอง

Globulin เป็นโปรตีนที่มีความสำคัญต่อตับมาก รวมถึงส่วนช่วยในระบบภูมิคุ้มกันและกระบวนการต่างๆ ของเอนไซม์ในร่างกาย

ระดับ Globulin ปกติของผู้ใหญ่อาจอยู่ที่ประมาณ 6.4-8.3 g/dL แต่สตรีมีครรภ์อาจมีค่าสูงกว่าเล็กน้อย จึงต้องทำการตรวจร่วมกับรายการอื่นๆ ในการวินิจฉัยเช่นกัน

ประโยชน์ที่ได้จากการตรวจตับ

หลังจากทราบผลการตรวจตับแล้ว อาจช่วยให้คุณสามารถกำหนดทิศทางการดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น ดังนี้

  • อาจปรับเปลี่ยนอาหารการกินให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
  • อาจช่วยให้ผู้ที่ตับอักเสบจากสุราติดตามอาการได้ดีขึ้น
  • อาจเป็นข้อมูลในการเลือกวิตามินหรืออาหารเสริมภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • อาจช่วยให้รักษาอาการติดเชื้อได้เฉพาะเจาะจงขึ้น
  • อาจหาวิธีช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนได้ง่ายขึ้น
  • อาจช่วยให้คุณควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจตับ

การตรวจตับเบื้องต้นนั้นมาจากการเจาะเลือดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีความเสี่ยงต่ำและไม่ต้องอาศัยการเตรียมตัวมากนัก

แพทย์อาจให้คุณงดอาหาร อาหารเสริม และยาบางชนิดก่อนตรวจเลือด เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าตับที่ต้องการแปลผล

ในวันตรวจตับควรใส่เสื้อที่สามารถถกแขนเสื้อได้ง่าย เพื่อให้สามารถเจาะเลือดได้

ตรวจตับราคาเท่าไร?

ราคาโปรแกรมตรวจตับมีระยะห่างกันค่อนข้างมาก ตั้งแต่ 700-8,000 บาทโดยประมาณ

ราคาดังกล่าวขึ้นอยู่กับรายการตรวจของแต่ละแพ็กเกจ สถานที่ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจ

Scroll to Top