ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) เป็นโรคปวดท้องเฉียบพลันที่พบได้บ่อยที่สุด มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป พบบ่อยในช่วงอายุ 15-45 ปี และไม่สามารถรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวได้ จำเป็นจะต้องผ่าตัดนำไส้ติ่งออก ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติกับไส้ติ่งและจะต้องได้รับการผ่าตัดอย่างทันท่วงที แต่หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าการผ่าตัดไส้ติ่งมีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร
สารบัญ
ผ่าตัดไส้ติ่ง คืออะไร?
การผ่าตัดไส้ติ่ง (Appendectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำไส้ติ่งออก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบนั้น อาจเกิดจากการอุดตันของสิ่งตกค้างบริเวณไส้ติ่ง หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการไส้ติ่งอักเสบ มักเริ่มจากปวดท้องบริเวณรอบสะดือลงมาถึงบริเวณท้องน้อยด้านขวา และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือท้องเสีย ท้องอืด จุกแน่น กดบริเวณท้องน้อยขวาแล้วรู้สึกเจ็บ ซึ่งอาการระยะแรกจะมีความใกล้เคียงกับอาการปวดท้องเฉียบพลันอื่นๆ ทำให้มีโอกาสได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไส้ติ่งอาจอักเสบและติดเชื้อมากขึ้น จนไส้ติ่งแตกทะลุ มีหนองไหลเข้าสู่ช่องท้อง หรือมีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปวดจนถึงระยะที่ไส้ติ่งแตก มักไม่เกิน 3 วัน และหากถึงขั้นนี้ การผ่าตัดและการรักษาจะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
ดังนั้นเมื่อมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อผ่าตัดไส้ติ่งได้อย่างทันท่วงที
ผ่าตัดไส้ติ่งมีกี่แบบ?
การผ่าตัดไส้ติ่งสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบเปิด หรือ การผ่าตัดแบบธรรมดา (Open Appendectomy) และ การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Appendectomy) โดยแต่ละแบบจะมีรายละเอียด และมีข้อดีและข้อเสีย ดังต่อไปนี้
การผ่าตัดไส้ติ่งแบบธรรมดา
การผ่าตัดไส้ติ่งแบบธรรมดา (Open Appendectomy) เป็นการผ่าตัดนำไส้ติ่งออกโดยการผ่าตัดบริเวณท้องน้อยด้านขวา ตรงกับตำแหน่งของไส้ติ่งที่อักเสบ มีขนาดแผลประมาณ 3-10 เซนติเมตร โดยกรณีไส้ติ่งแตก อาจต้องเปิดแผลขนาดยาวกลางท้องเพื่อทำการล้างภายในช่องท้องด้วย
ข้อดีของการผ่าตัดไส้ติ่งแบบธรรมดา
- ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้องประมาณเกือบเท่าตัว
- กรณีไส้ติ่งแตก แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดไส้ติ่งแบบธรรมดา เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาดเนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ
- เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน
ข้อเสียของการผ่าตัดไส้ติ่งแบบธรรมดา
- ผู้รับการผ่าตัดจะมีแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ขนาดยาวกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้องและเห็นได้ชัดเจน
- ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
- มีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดมากกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
- มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
การผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Appendectomy) เป็นการผ่าตัดนำไส้ติ่งออก โดยการเจาะผ่านช่องท้อง แล้วสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไป เพื่อส่งภาพมายังจอรับภาพ ทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนจากกล้อง ส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและเพิ่มความปลอดภัย โดยแผลจะมีเพียง 2-3 จุด ขนาดเล็กๆ ประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลยาว ทำให้เป็นที่นิยมสูงในปัจจุบัน
ข้อดีของการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
- แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก โดยถ้าผ่าตัดผ่านสะดือจะไม่เห็นแผลเป็น เหมาะสำหรับผู้กังวลเรื่องความสวยงาม
- ความเจ็บปวดน้อยหลังผ่าตัด และทำให้ใช้ยาแก้ปวดน้อยลงอีกด้วย
- ลดการเสียเลือด
- ลดระยะการพักที่โรงพยาบาล ในบางรายอาจกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนค้าง
- ฟื้นตัวไว ใช้เวลาในการพักฟื้นน้อย สามารถกลับไปดำเนินกิจวัตรประจำวันหรือกลับไปทำงานได้เร็วกว่า
- ด้วยอุปกรณ์กล้องส่อง ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัด หรือพยาธิสภาพได้ชัดเจนจากกำลังขยายของเลนส์กล้อง ทำให้ผ่าตัดได้ตรงจุด ทั้งยังลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และลดโอกาสติดเชื้อ
- โอกาสเกิดความบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในจะน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด และเกิดพังผืดหลังผ่าตัดน้อยกว่า
- สามารถทำได้ในผู้ที่เป็นไส้ติ่งอักเสบธรรมดา หรือไส้ติ่งแตกก็ได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ข้อเสียของการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
- ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดผ่านกล้องจะสูงกว่าการผ่าตัดแบบปกติประมาณเท่าตัว
- ในบางกรณี จะไม่สามารถใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องได้ เช่น ผู้ที่มีโรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยผ่าตัดแบบแผลเปิดขนาดใหญ่มาก่อน
- หากมีพยาธิสภาพอื่นๆ แทรกซ้อน ที่ไม่สามารถใช้การผ่าตัดผ่านกล้องจัดการได้ มีโอกาสเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดได้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้ติ่ง
แพทย์จะถามประวัติ อาการ และตรวจร่างกายของผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ เพื่อประเมินว่าอาการปวดท้องนั้น คือไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบและต้องผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรเตรียมตัวดังนี้
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลมและปอด ระหว่างให้ยาระงับความรู้สึก
- ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ สระผม ให้เรียบร้อย
- งดแต่งหน้าและงดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด
- ตัดเล็บให้สั้น หากทาเล็บให้ล้างออกให้หมด
- ถอดเครื่องประดับทุกชนิดออก
- งดใส่คอนแทคเลนส์
- กรณีใส่ฟันปลอมชนิดถอดออกได้ ให้ถอดออก เพื่อป้องกันฟันปลอมหลุดเข้าไปอุดหลอดลมขณะผ่าตัด
- ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- เตรียมหาเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิดมาคอยดูแล ขับรถพากลับบ้านหลังผ่าตัด เพราะผู้รับการผ่าตัดอาจมีอาการง่วงซึมซึ่งเป็นอาการข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ
- แจ้งให้ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดทราบ เพื่อให้คอยสังเกตและดูแล โดยเฉพาะหากผู้รับการผ่าตัดมีอาการผิดปกติหลังผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้ติ่ง
ก่อนที่จะทำการผ่าตัดไส้ติ่งนั้น เบื้องต้นแพทย์จะตรวจ วินิจฉัย และพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้รับการผ่าตัดว่า จะต้องเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีใด มีลักษณะอย่างไร ผลเป็นอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไร
โดยขั้นตอนในการผ่าตัดแต่ละวิธีนั้น มีดังต่อไปนี้
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้ติ่งแบบธรรมดา
- แพทย์จะใช้ยาสลบและยาระงับความรู้สึก ฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของผู้รับการผ่าตัด เพื่อให้ผู้รับการผ่าตัดไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดตลอดระยะเวลาการผ่าตัด หรืออาจใช้วิธีฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลัง ผู้รับการผ่าตัดจะไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่จะยังคงรู้สึกตัวอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่าตัด
- แพทย์ผ่าเปิดช่องท้องบริเวณช่วงท้องด้านล่างขวาตรงกับบริเวณไส้ติ่ง เป็นความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร
- แพทย์ตัดไส้ติ่งออก
- แพทย์ทำความสะอาด เย็บปิด และตกแต่งบาดแผล
- หลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัด ต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล 1-3 วัน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อรับการดูแลสังเกตอาการจากแพทย์ เช่น การเต้นของชีพจร การหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ
- หากไม่พบสัญญาณผิดปกติใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้ผู้รับการผ่าตัดกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง
- แพทย์จะใช้ยาสลบและยาระงับความรู้สึก ฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของผู้รับการผ่าตัด เพื่อให้ผู้รับการผ่าตัดไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดตลอดระยะเวลาการผ่าตัด หรืออาจใช้วิธีฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลัง ผู้รับการผ่าตัดจะไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่จะยังคงรู้สึกตัวอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่าตัด
- แพทย์ผ่าตัดเปิดช่องเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง แล้วสอดท่อขนาดเล็กที่เรียกว่า แคนนูล่า (Cannula) เข้าไปเพื่อขยายช่องท้องด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจะสอดอุปกรณ์ที่เรียกว่า แลพพาโรสโคป (Laparoscope) ซึ่งเป็นท่อที่มีหลอดไฟและมีกล้องความละเอียดสูงอยู่ที่ปลายท่อ เพื่อส่งสัญญาณภาพให้แพทย์ผ่าตัดสำรวจ
- จากสัญญาณภาพที่แสดง เมื่อแพทย์พบบริเวณที่เป็นไส้ติ่งแล้ว แพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องที่ผ่าบริเวณหน้าท้อง เพื่อทำการตัดและนำไส้ติ่งออกมา
- แพทย์ทำความสะอาด เย็บปิด และตกแต่งบาดแผล
- หลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน เพื่อรับการดูแลสังเกตอาการจากแพทย์ เช่น การเต้นของชีพจร การหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ
- หากไม่พบสัญญาณผิดปกติใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้ผู้รับการผ่าตัดกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้ติ่ง
หากไม่มีอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะฟื้นตัวและหายดีเป็นปกติภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยควรดูแลรักษาสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดดังนี้
- รับประทานยาให้ตรงเวลา และครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง โดยแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะบางชนิดเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านอาการอาเจียน หรือ ยาแก้ปวดให้ตามอาการของแต่ละคน
- หากแพทย์สั่งกลุ่มยาแก้ปวดซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้เวียนหัวหรือง่วงนอนได้ จึงควรเตรียมหาผู้ช่วยดูแล เพื่อขอความช่วยเหลือได้หากจำเป็น
- หากมีอาการเจ็บปวดหรือต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลทันที ไม่ควรรอจนอาการรุนแรง
- งดอาหารและน้ำหลังผ่าตัดวันแรก จนกว่าจะมีการเคลื่อนไหวของลำไส้
- รับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ ซี่งโดยทั่วไปแพทย์จะให้เริ่มด้วยการจิบน้ำ หากไม่มีอาการท้องอืด จะเริ่มให้อาหารเหลว อาหารอ่อน และอาหารธรรมดาตามลำดับ
- งดเครื่องดื่มแอลกอออล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนทุกชนิด
- พยายามหายใจเข้าออก ลึกๆ
- ระมัดระวังการไอจาม เวลาไอหรือจามให้ใช้มือประคองแผลไว้ เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บมาก ป้องกันไม่ให้แผลกระทบกระเทือน หรือแผลปริ
- รักษาความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ
- ระมัดระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ ทำความสะอาดของร่างกายโดยการเช็ดตัว และหากแผลเปียกน้ำให้เปลี่ยนผ้าปิดแผลทันที
- ระมัดระวัง ไม่จับไม่เกาแผล เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน เพราะอาจทำให้แผลอักเสบ บวม แดง ได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก จนกว่าร่างกายจะกลับสู่สภาพปกติ
- ลุกเดินออกกำลังเบาๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- ไปพบแพทย์ตามนัด
- สังเกตตัวเอง หากมีอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา โดยอาการที่เป็นสัญญาณอาจมีดังนี้ มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องผิดปกติ ถ่ายเหลวผิดปกติ ท้องร่วงหรือท้องผูกนานเกินกว่า 2 วัน ปวดแผลมากขึ้น ขอบแผลผ่าตัดบวมแดงและกดเจ็บ แผลมีหนองหรือน้ำเหลืองซึม
การผ่าตัดไส้ติ่งนั้น เป็นความจำเป็นและเร่งด่วนในการยุติไส้ติ่งอักเสบ เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน และได้ผลลัพธ์ที่ดี