รู้จักการทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิคพิเศษ ICSI หรืออิ๊กซี

ในบางครั้ง การทำเด็กหลอดแก้วปกติอาจไม่ได้ผลในครอบครัวที่ฝ่ายชายมีปัญหาด้านปริมาณอสุจิน้อย ไม่แข็งแรง หรือมีปัญหาในการหลั่งอสุจิ ซึ่งการทำ ICSI (Intracytoplasmic sperm injection) หรือที่นิยมเรียกว่า อิ๊กซี เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้

มีคำถามเกี่ยวกับ อิ๊กซี? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ICSI คืออะไร?

การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยเทคนิคพิเศษ ICSI เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization: IVF) จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีปกติไม่ได้ผล

ICSI คือการที่แพทย์คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดด้วยวิธีการส่องกล่องจุลทรรศน์จำนวน 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ หลังจากนั้นจะนำไข่ที่ผสมแล้วไปเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ 3-5 วัน เมื่อเจริญเป็นตัวอ่อนจะถูกนำกลับไปไว้ในโพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตในครรภ์ของฝ่ายหญิงต่อไป

ICSI และ IVF แตกต่างกันอย่างไร?

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF คือการคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและอสุจิที่แข็งแรงจากฝ่ายชายมาผสมกันภายนอก โดยปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง เมื่อไข่ผสมกันแล้วจะถูกนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนเจริญเป็นตัวอ่อน และนำกลับไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เจริญเติบโตในครรภ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฝ่ายชายมีปริมาณตัวอสุจิน้อย หรือมีคุณภาพไม่ดีอย่างมาก เช่น เคลื่อนไหวได้น้อย มีรูปร่างผิดปกติ หรือมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ จนทำให้ไม่มีตัวอสุจิที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำปฏิสนธิกับไข่ในหลอดแก้วด้วยตัวเอง แพทย์จะทำ ICSI ในขั้นตอนผสมไข่

ดังนั้นความแตกต่างของ IVF และ ICSI คือ IVF เป็นการปล่อยให้ตัวอสุจิและไข่ผสมกันเอง ในขณะที่ ICSI เป็นการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเจาะจง ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่เป็นวิธีการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และในบางครั้งยังอาจส่งผลให้ไข่แตกสลายและตายได้

ICSI กับการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม

นอกจากการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากแล้ว ICSI ยังมีประโยชน์ในด้านการวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนระยะก่อนฝังตัว (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) โดยการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, 21, X และ/หรือ Y

โครโมโซมคู่ที่ 21 นั้นพบว่า มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการดาวน์ (Sown syndrome) ซึ่งมักพบในการตังครรภ์ของหญิงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

การทำ PGD จึงช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายถอดความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ในผู้ที่ตั้งครรภ์ตอนมีอายุมาก (35 ปีขึ้นไป) มีประวัติความผิดปกติด้านพันธุกรรมในครอบครัว หรือในกรณีที่คู่สมรสเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมได้มาก

PGD จะทำหลังจากที่แพทย์ทำ ICSI และนำไปเลี้ยงจนเจริญตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว โดยแพทย์จะนำไปตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางพันธุกรรมเพื่อดูว่า เซลล์มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่

หากตัวอ่อนมีผลตรวจปกติ จะถูกนำกลับไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เจริญเติบโตในครรภ์ต่อไป

ใครที่ควรทำ ICSI และ PGD

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีแนวโน้มสูงที่ลูกจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • ผู้ที่มีประวัติตั้งครรภ์ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาก่อน มีประวัติแท้งบุตรติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป
  • ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำ IVF ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป
  • ผู้ที่ทำการแช่แข็งไข่เอาไว้ (Frozen eggs)
  • คู่สมรสที่มีพาหะโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้
  • คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีอสุจิอ่อนแอ เคลื่อนไหวได้น้อย มีรูปร่างผิดปกติ มีจำนวนตัวอสุจิน้อยเกินไป (น้อยกว่า 2 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร) หรือมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ แล้วย้อนกลับเข้ากระเพาะปัสสาว.

ขั้นตอนการทำ ICSI หรืออิ๊กซี

ก่อนทำ ICSI หรืออิ๊กซี คู่สามีภรรยาต้องไปพบแพทย์เพื่อรับฟังข้อมูล หรือข้อจำกัดที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำ ICSI และตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำ ICSI เช่น ฝ่ายหญิงจะต้องตรวจการทำงานของรังไข่ คัดกรองภาวะติดเชื้อ ส่วนฝ่ายชายจะต้องตรวจคุณภาพของอสุจิ

มีคำถามเกี่ยวกับ อิ๊กซี? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หลังจากที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถทำ ICSI จะเข้าสู่กระบวนการทำ ICSI ดังนี้

  • กระตุ้นการตกไข่ของฝ่ายหญิงให้มีปริมาณมากกว่า 1 ใบ ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการฉีดยาฮอร์โมน
  • ติดตามการตกไข่ และดูขนาดของไข่ ด้วยการเจาะเลือดและอัลตราซาวด์ เมื่อไข่มีขนาดสมบูรณ์แพทย์จะทำการดูดไข่และเก็บอสุจิของฝ่ายชายในวันเดียวกัน
  • แพทย์คัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด ฉีดเข้าไปผสมกับไข่โดยตรง (หากเป็นการทำเด็กหลอดแก้วปกติ แพทย์จะนำอสุจิที่แข็งแรงจำนวนหนึ่งใส่ปนไปกับไข่เพื่อให้ทำการปฏิสนธิกันเอง)
  • หลังจากที่ไข่ผสมแล้ว จะถูกนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนกว่าเจริญเป็นตัวอ่อน ระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ในระหว่างนั้นสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมได้
  • เมื่อไข่เจริญเป็นตัวอ่อนแล้วจะถูกนำกลับมาไว้ในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตในครรภ์ของฝ่ายหญิงต่อไป

การดูแลตัวเองหลังทำ ICSI

หลังทำ ICSI ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ฝ่ายหญิงควรพักผ่อนมากๆ ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกายหนักๆ หรือการเดินทางไกล
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด
  • ไม่รับประทานยานอกเหนือจากแพทย์สั่ง และควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออก หรือมีตกขาวมากผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ที่ดูแลทันที

ข้อควรระวังคือ การตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วอย่าง IVF หรือ ICSI หากเป็นการตั้งครรภ์เดี่ยวจะมีอัตราความเสี่ยงไม่ต่างกับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ เช่น การแท้ง การท้องนอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด หรือความผิดปกติทางโครโมโซมของเด็ก

อย่างไรก็ตาม จะมีความแตกต่างกันในกรณีตั้งครรภ์แฝด โดยจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นครรภ์เป็นพิษ การแท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนด

แต่ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์แบบใด ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกาย และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามนัดหมายของแพทย์อย่างครบถ้วน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัยมากที่

ICSI มีความเสี่ยงหรือไม่?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อว่า อัตราการเกิดข้อบกพร่องในเด็กที่เกิดจากกระบวนการ ICSI นั้นแตกต่างจากประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่เด็กผู้ชายที่เกิดจากกระบวนการ ICSI จะมีปัญหาการเจริญพันธุ์ของผู้ชายด้วย

เปอร์เซ็นต์สำเร็จในการทำ ICSI

การทำ ICSI หรืออิ๊กซี ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยให้อสุจิและไข่ทำการปฏิสนธิกัน ประมาณ 90%

อย่างไรก็ตาม มีอัตราการสำเร็จในการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 32% เพราะหลังจากไข่กับอสุจิปฎิสนธิกันแล้ว มีโอกาสที่ไข่จะเสียหาย ไม่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน หรือตัวอ่อนอาจหยุดการเจริญเติบโตได้

การทำ ICSI สามารถเลือกเพศได้ไหม?

ไม่สามารถเลือกเพศได้ แต่การทำ ICSI ร่วมกับทำ PGD จะสามารถรู้เพศของตัวอ่อนก่อนย้ายไปฝังในโพรงมดลูกได้ โดยมีความแม่นยำ 99.99%

การทำ ICSI มีโอกาสเป็นฝาแฝดเท่าไหร่

การทำ ICSI มีโอกาสในการตั้งครรภ์แฝดคล้ายกับการทำเด็กหลอดแก้วปกติ คือ มีโอกาสประมาณ 30-35% ในการเกิดฝาแฝด และมีโอกาสประมาณ 5-10% ในการเกิดแฝดสามขึ้นไป

ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI หรืออิ๊กซี ราคาเท่าไร?

การทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิคพิเศษ ICSI ราคาเริ่มต้นประมาณ 160,000-200,000 บาท


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำ IVF, IUI, ICSI, IMSI ฝากไข่ แช่แข็งไข่

มีคำถามเกี่ยวกับ อิ๊กซี? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ HDcare โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ พยาบาล HDcare