โรคไต ไตเสื่อม หรือโรคไตวายเรื้อรัง ในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าไตจะเสื่อมการทำงานไปมากกว่า 50% จึงจะเริ่มแสดงความผิดปกติให้เห็น ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่มาพบแพทย์เมื่อสายเกินไป หรือไตเริ่มเสื่อมรุนแรงแล้ว
แต่ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่าโรคไตจะไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่อาจมีสัญญาณบางอย่างปรากฏ หากเราหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เราอาจมองเห็นสัญญาณได้เร็วขึ้น และเริ่มรักษาหรือชะลอความเสื่อมได้เร็วขึ้นตามไปด้วย
บทความนี้เรารวบรวมสัญญาณผิดปกติ ที่บ่งบอกว่าคุณอาจกำลังเริ่มมีภาวะไตเสื่อมเอาไว้แล้ว จะมีอาการอะไรบ้าง ได้ดูกันได้เลย
สารบัญ
1. ปัสสาวะผิดปกติ
อาการปัสสาวะผิดปกติเป็นสัญญาณของโรคไตที่สังเกตได้เด่นชัดที่สุด ไม่ว่าจะเป็น
- ปัสสาวะเป็นฟอง มีสาเหตุมาจากโปรตีนรั่วออกจากเส้นเลือดฝอยของไต และขับออกมาทางปัสสาวะ
- ปัสสาวะมีเลือดปน โดยสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีสีชมพู แดง หรืออมน้ำตาล บางครั้งอาจมีลิ่มเลือดปนออกมาด้วย เป็นสัญญาณของความผิดปกติได้หลายประการ เช่น นิ่วในไต เนื้องอกที่ไต ไตอักเสบ ฯลฯ
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนมากกว่า 1-2 ครั้งต่อคืน เนื่องจากไตไม่สามารถดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายได้ตามปกติ จึงทำให้น้ำถูกขับออกจากร่างกายมากกว่า และบ่อยกว่าปกติ
ทั้งนี้ในกรณีที่ไตเสื่อมการทำงานไปมากแล้ว หรืออยู่ในภาวะไตวาย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อยมาก
2. ขาบวม เท้าบวม หรือใบหน้าบวม
อาการบวมตามร่างกาย เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของภาวะไตเสื่อม เนื่องจากไตทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่สามารถขับน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ได้อย่างปกติ จนเกิดการคั่งค้าง สะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวมตามขา เท้า หน้าแข้ง ใบหน้า เปลือกตา จะสังเกตได้ชัดเจน ขณะที่ยืน หรือเดินนานๆ
วิธีตรวจเบื้องต้นว่าอาการบวมนี้เกิดจากโรคไตหรือไม่คือ ให้ลองใช้นิ้วกดลงไปที่หน้าแข้งหรือเท้า ค้างไว้ 5-10 วินาที หากมีรอยบุ๋มลงไปอย่างชัดเจน ผิวหนังคืนตัวกลับมาช้า อาจเป็นสัญญาณของโรคไต
เกิดจากไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือได้อย่างปกติ จนเกิดการคั่งของน้ำและเกลือ ส่งผลให้เกิดอาการบวมตามร่างกายขึ้น เช่น อาการบวมบริเวณเปลือกตา ใบหน้า เท้า และหน้าแข้ง โดยจะเห็นได้ชัดเจนในตอนที่ยืน หรือเดินนานๆ โดยที่สามารถตรวจง่ายด้วยการใช้นิ้วกดลงไปที่เท้า หรือหน้าแข้งค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที แล้วสังเกตว่ามีการบุ๋มลงไปหรือไม่ หากมีรอยบุ๋มอย่างชัดเจนแสดงว่าคุณอาจเป็นโรคไตแล้ว
3. รู้สึกปวดบริเวณหลัง หรือบั้นเอว
เนื่องจากบริเวณหลังหรือบั้นเอว เป็นตำแหน่งที่ไตวางตัวอยู่ หากไตมีความผิดปกติ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบริเวณดังกล่าวได้ โดยอาการปวดนี้มักมีสาเหตุจากการอักเสบ ติดเชื้อ เกิดการอุดกั้นบริเวณทางเดินปัสสาวะ เช่น มีนิ่วในไต หรือมีเนื้องอกในไต
แต่อาการปวดนี้ก็มักคล้ายคลึงกับอาการปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ หรือกระดูกได้เช่นกัน ทำให้หลายๆ คนอาจสับสนได้
วิธีสังเกตง่ายๆ คือ หากเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูก จะรู้สึกปวดเมื่อมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบท หรือปวดเฉพาะบางท่า เช่น ถ้าก้มหลัง หรือขยับตัว จะรู้สึกปวด แต่หากเป็นอาการปวดจากความผิดปกติของไต จะปวดตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบทไหนก็ปวดเช่นเดิม
4. คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวหนังเป็นจ้ำเลือดง่าย
เนื่องจากการที่ไตทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถขับน้ำ หรือของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมักจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบ จนอาจแสดงความผิดปกติหลากหลายรูปแบบ เช่น ผู้ป่วยอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รู้สึกขมๆ ในปาก รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง อิดโรย เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย ไม่สดชื่น บางรายน้ำหนักอาจลดลงจนซูบผอม
นอกจากนี้ยังอาจเกิดความผิดปกติทางระบบผิวหนัง เช่น ผิวหนังซีด คันตามร่างกาย มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวหนังแตกแห้ง เป็นแผลแล้วหายช้า หรือผู้ป่วยบางรายจะมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ
5. ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ
อาการของโรคไตมักสัมพันธ์กับระดับความดันโลหิต สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของไต เช่น ไตอักเสบ ไตวาย หรือเส้นเลือดไปเลี้ยงไตตีบ เป็นต้น
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตมักมีความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ แม้รับประทานยาลดความดันโลหิตแล้วก็ยังสูงอยู่ โดยจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในการควบคุม
6. ประจำเดือนผิดปกติ / ความรู้สึกทางเพศลดลง
ในผู้ป่วยโรคไต ระบบฮอร์โมนในร่างกายมักทำงานผิดปกติเกือบทุกชนิด หนึ่งในนั้นคือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง
สำหรับเพศหญิงอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมาช้า มากะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด หรือไม่มาเลย ส่วนในเพศชายอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง ความสามารถในการสร้างอสุจิลดลง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรืออาจเป็นหมันได้
โรคไต ไตเสื่อม หรือโรคไตวายเรื้อรัง จัดเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงประคับประคองอาการ ชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด
ดังนั้นหากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่ไตจะเสื่อมก่อนวัย ควรหมั่นสังเกตอาการตามที่กล่าวไปข้างต้น พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่กระตุ้นให้ไตเสื่อมก่อนวัยอันควร เลี่ยงการรับประทาน อาหารที่ทำให้ไตทำงานหนัก และหมั่นตรวจคัดกรองโรคไตอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง เพราะหากเริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยง จะได้รีบวางแผนรักษาได้ทันก่อนสายเกินไป
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไตไหม? อยากคุยกับคุณหมอ นัดตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย