รู้จักวัสดุที่ใช้ในการเสริมจมูก

การเสริมจมูกเป็นหนึ่งในการทำ ศัลยกรรมจมูก ที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยวัสดุที่ใช้ในการเสริมจมูก แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ ซิลิโคน และกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อของตัวเอง

ซิลิโคนเสริมจมูก

ซิลิโคน เป็นวัสดุที่นิยมใช้ในการเสริมจมูก โดยสิ่งที่ควรให้ความสำคัญก่อนที่จะเลือกซิลิโคน ได้แก่ เกรดของซิลิโคน แหล่งผลิต และรูปแบบของซิลิโคน

เกรดซิลิโคนที่สามารถนำมาใช้การเสริมจมูก

  • ซิลิโคนเกรดสำหรับปลูกฝังในร่างกาย (Implant grade) มีความบริสุทธิ์สูง สามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิต
  • ซิลิโคนเกรดทางการแพทย์ (Medical grade) มีความบริสุทธิ์น้อยกว่า Implant grade สามารถใช้ในการเสริมจมูกได้ แต่ยังไม่มีการทดสอบพิษสะสมในระยะยาว

แหล่งผลิตของซิลิโคน

ซิลิโคนมีแหล่งผลิตหลายประเทศ โดยในไทยนิยมใช้ซิลิโคนจาก 3 ประเทศ ดังนี้

  • เสริมจมูกแบบซิลิโคนอเมริกา (USA Silicone) เป็นซิลิโคนมาตรฐานพิเศษ เนื้อซิลิโคนเนียนละเอียด มีสีขาว นิ่มปานกลาง คุณภาพดี และมีความปลอดภัยสูง
  • เสริมจมูกแบบซิลิโคนเกาหลี (Korea Siliocone) เป็นซิลิโคนมาตรฐานพิเศษ มีความยืดหยุ่นสูง โดยส่วนโคนจมูกและปลายจมูกจะมีความนิ่มมาก มีสีเหลือง และสีน้ำตาลแดง
  • เสริมจมูกแบบซิลิโคนญี่ปุ่น (Japan Silicone) เป็นซิลิโคนมาตรฐานธรรมดา มีสีเหลือง และมีความแข็งปานกลาง ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับซิลิโคนอเมริกา และเกาหลี

รูปแบบของซิลิโคน

ซิลิโคนแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

1. ซิลิโคนแบบสำเร็จรูป

ข้อดีของการเสริมจมูกด้วยซิลิโคนแบบสำเร็จรูป คือ จะได้รูปทรงที่แน่นอน มีโอกาสที่จะเบี้ยว หรือเอียงน้อย แต่แพทย์จะปรับแต่งรูปทรงได้เล็กน้อยเท่านั้น ทำให้อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน

ตัวอย่างรูปทรงจมูกของซิลิโคนแบบสำเร็จรูปที่นิยมในไทย เช่น

  • ซิลิโคนแมนทิส (Mantis Silicone) นิยมเรียกว่า ซิลิโคนทรงตั๊กแตน เป็นซิลิโคนสำเร็จรูปที่เป็น Implant grade ออกแบบให้มีปีกทั้งสองข้างสำหรับครอบสันจมูกไว้ ช่วยลดปัญหาจมูกเบี้ยว เอียง ทะลุ มีขอบแกนบาง และปรับแต่งรูปทรงได้ง่าย
  • ซิลิโคนบาร์บี้ (Barbie Silicone) มีสันค่อนข้างกว้าง สโลป แต่ไม่โด่งมาก เหมาะสำหรับคนที่มีโครงสร้างจมูกดีอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มความโด่งขึ้นเล็กน้อย
  • ซิลิโคนบราว (Brown Silicone) รูปทรงคล้ายกับทรงแมนทิสผสมทรงบาร์บี้ คือ โด่งคล้ายแมนทิส แต่สันจมูกสโลปคล้ายบาร์บี้ เนื้อซิลิโคนมีสีออกน้ำตาล จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อจมูกน้อยหรือผิวบาง เพราะเมื่อแสงตกกระทบจะไม่เห็นซิลิโคนสะท้อนแสงชัดเจน
  • ซิลิโคนซินเดอเรลล่า (Cinderella Silicone) มีรูปทรงคล้ายทรงบาร์บี้ แต่เนื้อฐานซิลิโคนตรงสันจมูกจะค่อนข้างหนา เหมาะสำหรับคนที่มีโครงสร้างจมูกค่อนข้างแบนราบ

การเลือกรูปทรงจมูกของซิลิโคนแบบสำเร็จรูป รวมไปถึงลักษณะความอ่อน-แข็งของเนื้อซิลิโคนจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ ฐานจมูกเดิม และความต้องการของผู้เข้ารับบริการศัลยกรรมจมูก

อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ซิลิโคนชนิดเดียวกัน ผลที่ได้หลังการผ่าตัดเสริมจมูกจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบที่เลือก ลักษณะเดิมของจมูก และความชำนาญของแพทย์

2. ซิลิโคนแบบแท่ง หรือแบบเหลาเอง

ซิลิโคนแบบแท่ง หรือแบบเหลาเอง แพทย์จะต้องนำมาเหลาขึ้นรูปเอง ทำให้สามารถปรับแต่งให้เข้ากับจมูกทุกรูปหน้า แต่ใช้เวลานาน และจะต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้จมูกเบี้ยวได้

ซิลิโคนแบบแท่งยังแบ่งย่อยอีก 4 ชนิด ตามลักษณะความอ่อน-แข็งของซิลิโคน ได้แก่ แข็ง (Hard) แข็งปานกลาง (Medium) นุ่ม (Soft) และนุ่มมาก (Ultra Soft)

ซึ่งลักษณะความอ่อน-แข็งของเนื้อซิลิโคนจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

  • ซิลิโคนแข็ง จะคงรูปได้ดี ไม่ยุบตัวง่าย แต่อาจทะลุได้หากเนื้อจมูกไม่หนาพอ จึงมักเลือกใช้ซิลิโคนชนิดแข็งปานกลาง เพื่อให้ได้รูปทรงที่สวยงาม ไม่ทะลุง่าย และไม่ยุบตัวหลังทำ
  • ซิลิโคนนิ่ม เหมาะกับคนที่เนื้อจมูกไม่หนา เสริมแล้วจมูกดูเนียนเป็นธรรมชาติ แต่อาจยุบตัวได้เมื่อเวลาผ่านไป

กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อของตัวเองเสริมจมูก

กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อที่ใช้ในการเสริมจมูก เช่น กระดูกซี่โครง กระดูกอ่อนหลังหู เนื้อเยื่อก้นกบ หรือไขมัน เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูง เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้น้อย แต่มีราคาที่สูงกว่าการเสริมจมูกโดยใช้ซิลิโคน

การเสริมจมูกด้วยกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อของตัวเองจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วัน เนื่องจากต้องผ่าตัดเพื่อนำวัสดุมาใช้ในการเสริมจมูก

กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อ สามารถใช้ในการเสริมจมูกเป็นหลัก หรือนำมารองปลายจมูกที่เสริมด้วยซิลิโคนเพื่อป้องกันการทะลุก็ได้

นอกจากนี้ยังมีการเสริมจมูกด้วยการฉีดสารเติมแต่ง ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์ไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ อาการบวมแดงจากการอักเสบ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจศัลยกรรมจมูก

Scroll to Top