prostate cancer vs bhp facts disease definition scaled

เข้าใจความแตกต่าง มะเร็งต่อมลูกหมาก กับต่อมลูกหมากโต ไม่เหมือนกัน

หลายคนอาจเข้าใจว่า โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก กับ โรคต่อมลูกหมากโต เป็นโรคเดียวกัน ไม่ก็เกี่ยวข้องกัน ความจริงแล้ว 2 โรคนี้ เกิดกับต่อมลูกหมากในผู้ชายเหมือนกัน อาการบางอย่างอาจคล้ายกัน แต่ไม่ใช่โรคเดียวกัน 

ต่อมลูกหมาก คืออะไร อยู่ตรงไหน

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่ ตั้งอยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ล้อมรอบไปด้วยท่อปัสสาวะส่วนต้น แต่ไม่สามารถคลำเจอจากภายนอกร่างกายได้

ต่อมลูกหมากมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพทางเพศ และสุขภาพโดยรวมของผู้ชาย หน้าที่สำคัญของต่อมลูกหมาก คือ ผลิตน้ำเลี้ยงอสุจิ และช่วยส่งเชื้ออสุจิในขณะที่มีการหลั่งของน้ำอสุจิ 

ปกติแล้ว ต่อมลูกหมากโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น ผู้ชายสูงวัยหรืออายุราว ๆ 50 ปีขึ้นไป เลยมักเป็นโรคของต่อมลูกหมากมากกว่าผู้ชายอายุน้อย โดยโรคของต่อมลูกหมากที่มักพบบ่อย ๆ คือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต

มะเร็งต่อมลูกหมากกับต่อมลูกหมากโต ต่างกันอย่างไร

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต ส่งผลให้ต่อมลูกหมากเกิดความผิดปกติขึ้นเหมือนกัน มาดูความต่างของ 2 โรคนี้กัน

สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม และอีกส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การได้รับสารเคมีบางชนิด ส่งผลให้เซลล์ที่ต่อมลูกหมากผิดปกติ จนเกิดเป็นมะเร็งขึ้น 

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อย บางชนิดอาจโตช้า ไม่รุนแรง แต่บางชนิดก็อาจรุนแรง ลุกลามได้อย่างรวดเร็ว การตรวจพบได้ก่อนตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้  

โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโตเป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย ทำให้มีการโตของต่อมลูกหมากในช่วงที่ผู้ชายอายุมากขึ้น 

โรคต่อมลูกหมากโตเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้ชาย ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย ไม่ได้ทำให้กลายเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ผู้ชายบางคนอาจเป็นทั้งโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโตได้

อาการมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต

ทั้ง 2 โรคเป็นความผิดปกติที่ต่อมลูกหมาก และส่งผลให้ต่อมลูกหมากโตขึ้นจนไปกดเบียดท่อปัสสาวะที่อยู่รอบ ๆ เหมือนกัน อาการของโรคเลยจะคล้ายกัน เช่น

  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ตื่นกลางดึกมาปัสสาวะบ่อย ๆ มากกว่า 12 ครั้ง
  • ปัสสาวะลำบาก เจ็บขณะปัสสาวะ
  • น้ำปัสสาวะอ่อน แผ่ว ไหลช้า ไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วง ๆ 
  • รู้สึกเจ็บตอนหลั่งน้ำอสุจิหรือถึงจุดสุดยอด

นอกจากนี้ ยังมีบางอาการที่ต่างกัน โรคต่อมลูกหมากโตอาจพบอาการปัสสาวะไม่สุด มีปัสสาวะหยดเมื่อใกล้จะสุด ปัสสาวะมีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไป ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน ต้องใช้แรงเบ่งปัสสาวะ 

ส่วนโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจพบเลือดปนออกมากับปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการปวดกระดูก สะโพก และหลัง อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมลูกหมากมักไม่แสดงอาการในระยะแรก 

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต

เมื่อผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคของต่อมลูกหมาก การตรวจจะบอกได้ถึงความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และตรวจหาโรคต่อมลูกหมากโตได้เช่นกัน

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโตหลัก ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ 

การตรวจหาค่า PSA (Prostate-specific antigen)
ค่า PSA สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด โดยค่า PSA ที่สูงกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ไม่ว่าจากมะเร็งต่อมลูกหมากเอง หรือจากโรคต่อมลูกหมากโต 

การตรวจคลำต่อมลูกหมาก (Digital rectal exam)
การคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนักด้วยการใช้นิ้ว เพื่อประเมินขนาด ลักษณะ และสัมผัสพื้นผิวของต่อมลูกหมากว่าผิดปกติดไปจากเดิมไหม

ทั้ง 2 วิธีนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้ตรวจโรคของต่อมลูกหมาก และจะต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการตรวจร่วมด้วย กรณีที่พบความผิดปกติ จำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันผลอีกครั้ง 

แนวทางการรักษาของมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก บางรายอาจไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที แพทย์อาจเฝ้าสังเกตการเติบโตของมะเร็งเป็นระยะก่อน และวางแผนการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมในขั้นต่อไป เพื่อลดผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ความรุนแรง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย มีตั้งแต่การผ่าตัด การใช้ยาเคมี การฉายแสง การใช้ยาฮอร์โมน และการใช้ยามุ่งเป้า  

โรคต่อมลูกหมากโต
ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาเพื่อควบคุมและลดขนาดของต่อมลูกหมาก คนที่มีอาการต่อมลูกหมากโตอย่างรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยา อาจรักษาด้วยการผ่าตัด การใช้เลเซอร์ และเทคนิคทางการแพทย์อื่น เพื่อลดขนาดต่อมลูกหมากแทนการใช้ยา

มะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต ป้องกันได้ไหม

การป้องกันนั้นอาจทำได้ยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโตได้ด้วยการดูแลสุขภาพ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ตามความเสี่ยง ดังนี้

  • รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่ครบถ้วน
  • ลดของทอด ของหวาน และอาหารไขมันสูง
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • งดบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • เมื่ออายุ 50 ปี ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากทุกปี 

เห็นได้ว่าทั้ง 2 โรคนี้ มีทั้งจุดที่เหมือน และแตกต่างกัน การหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง ร่วมการดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองโรคของต่อมลูกหมากตามเกณฑ์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย 

รุ่นใหญ่ ใจต้องนิ่ง คุณผู้ชายอย่าละเลยเมื่อถึงวัยเสี่ยง มาตรวจสุขภาพต่อมลูกหมาก และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อความสบายใจ เช็กแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จากคุณหมอเฉพาะทาง จะเช็กราคา ดูรีวิว หรือโปรสุขภาพอื่น ๆ HDmall.co.th ลิสต์มาให้แล้ว คลิกเลย

Scroll to Top