เมื่อพูดถึง “นอนกรน” หลายคนอาจรู้สึกเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าลองถามคนใกล้ชิด อาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น… นอกเหนือจากเสียงที่ส่งผลต่อความรำคาญ รู้หรือไม่ว่า ถ้าปล่อยไว้ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน
วันนี้เราหยิบเรื่องใกล้ตัวอย่างการนอนกรนมาฝาก มาดูกันดีกว่า การนอนกรนมีสาเหตุมาจากอะไร อันตรายต่อสุขภาพจริงไหม และรักษาอย่างไรได้บ้าง
สารบัญ
นอนกรน คืออะไร
นอนกรน คือ การที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณคอส่วนบนหย่อนคล้อยลงมา ได้แก่ ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอหอย โคนลิ้น ทำให้ทางเดินหายใจส่วนต้นแคบลง ลมที่ออกมาจึงเกิดการสั่นสะเทือนแรงกว่าปกติ จนมีเสียงกรนเกิดขึ้น
การตีบแคบของทางเดินหายในส่วนต้นอาจเป็นเพียงบางส่วน หรืออาจรุนแรงจนปิดกั้นลมหายใจทั้งหมด โดยระดับความรุนแรงของการนอนกรน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ระดับที่ 1 คือ การนอนกรนทั่วไป เกิดขึ้นไม่บ่อย และเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนระดับนี้จะไม่ส่งผลต่อระบบหายใจ
- ระดับที่ 2 คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย อาจมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนระดับนี้อาจส่งผลต่อระบบหายใจในระดับน้อยถึงปานกลาง ทำให้รู้สึกเหนื่อย ง่วง และเพลียในช่วงเวลากลางวัน
- ระดับที่ 3 คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นทุกวัน และมีเสียงที่ดัง อาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ กระทบกับสุขภาพร่างกาย
นอนกรน เกิดจากสาเหตุอะไร
นอนกรนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย มักจะพบมากในวัยผู้สูงอายุ รองลงมาเป็นวัยทำงานที่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเด็กเล็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม
โดยภาวะและปัจจัยที่มีผลต่ออาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ มีดังนี้
- โครงสร้างช่องปาก คนที่มีเพดานอ่อนที่ต่ำและหนา ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
- ปัญหาที่โพรงจมูก คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง หรือผนังกั้นจมูกคด จะส่งผลโดยตรงต่อระบบการหายใจ
- มีช่องคอแคบโดยกำเนิด หรือมีโครงหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อทางเดินหายใจ เช่น ช่องจมูกคด โคนลิ้นใหญ่ กระดูกแก้มที่แบนหรือคางที่เล็กและถดไปข้างหลัง
- ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ คนอ้วนจะมีเนื้อเยื่อไขมันแทรกในช่วงคอส่วนบน ทำให้มีความหนาขึ้น ปิดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับมากขึ้น
- การอดนอน การนอนหลับไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ช่วงลำคอเกิดการหย่อนตัวมากขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากในช่วงก่อนเข้านอน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ หย่อนคล้อยมากกว่าปกติ
- การสูบบุหรี่ จะทำให้ช่องทางเดินหายใจอักเสบ หนาตัว และมีเสมหะมากขึ้น จนกระตุ้นให้เกิดอาการนอนกรนได้
- ท่าทางการนอน การนอนกรนมักเกิดขึ้นได้มากและดังยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย เพราะการนอนหงายจะทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณคอส่วนบน หย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจได้มากที่สุด
- อายุมาก ยิ่งอายุมากขึ้นจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนยิ่งหย่อนมากขึ้น จนเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้นได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท
นอนกรน ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร อันตรายแค่ไหน
การนอนกรนเกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจตีบแคบ หากเป็นรุนแรงอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจทั้งหมด ทำให้จังหวะการหายใจเข้าและออกไม่เป็นระยะตามปกติ ลักษณะดังกล่าวจะเรียกว่า “โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น” (OSA) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”
โดยจะสังเกตได้จากตอนหลับไม่สนิทจะยังกรนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อหลับสนิทแล้ว จะมีช่วงหยุดกรนไปสักระยะหนึ่งคล้ายกับการกลั้นหายใจ หรือคล้าย ๆ สำลักน้ำ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศ
การนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย สามารถก่อให้เกิดอันตราย และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง การขาดออกซิเจนจากการหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ตื่นบ่อย และถูกกระตุ้นระบบประสาท ทำเกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในช่วงที่ออกซิเจนไม่เพียงพอ ร่างกายจะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพื่อส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย และเมื่อออกซิเจนเพียงพอ หัวใจจะสลับกลับมาเต้นช้า การสลับช้าเร็วบ่อยครั้ง จะส่งให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในที่สุด
- ภาวะความดันเลือดในปอดสูง การหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ส่งผลต่อความดันเลือดในปอดสูง และยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ และการขาดออกซิเจน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายเกิดความเครียด และส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ และความต้องการทางเพศ
นอกจากนี้ การนอนกรนยังสร้างปัญหาความรำคาญต่อเสียงกรนกับคนรอบข้าง นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาในชีวิตคู่ ความอับอายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือเสียบุคลิกภาพ เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับไหม? มาลองตรวจ Sleep Test หาความผิดปกติตอนนอนที่คุณอาจไม่เคยรู้กันเถอะ! HDmall.co.th รวบรวมแพ็กเกจจาก รพ.และคลินิกชั้นนำ ราคาโปร พร้อมส่วนลดหรือแคชแบ็ค คลิกเลย!
วิธีรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาอาการนอนกรน จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้นอนกรน และระดับความรุนแรง มีอยู่หลายวิธี ทั้งการปรับพฤติกรรม การใช้อุปกรณ์ช่วย หรือการผ่าตัด โดยแพทย์จะแนะนำแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง จะช่วยลดโอกาสของการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้าและตื่นนอนในเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอ
- งดการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีนในช่วงบ่าย เพราะอาจกระทบกับพฤติกรรมการนอน
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงใกล้เวลานอน และงดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือคลายกล้ามเนื้อ
- คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีภาวะอ้วน ควรลดน้ำหนัก ควบคุม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การรักษาโรคที่อาจเป็นต้นตอ
คนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้เรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนกรน ควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาควบคู่ไปการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การใช้อุปกรณ์รักษาอาการนอนกรน
ปัจจุบันมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยบรรเทาอาการนอนกรน เช่น การใช้เครื่องมือในช่องปาก ลักษณะจะคล้ายฟันยางหรือที่ครอบฟัน ช่วยป้องกันลิ้นไปปิดกั้นทางเดินหายใจ
หรือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เป็นเครื่องที่ใช้การเป่าลมเข้าทางจมูกและปาก เพื่อให้มีแรงดันลมพอที่จะเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นขณะนอนหลับ
อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ช่วยรักษาอาการนอนกรน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะแต่ละแบบมีข้อดี ข้อจำกัด ความเหมาะสมกับอาการของแต่ละคนต่างกันไป รวมถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์เหล่านั้นต้องได้มาตรฐาน
การรักษาด้วยการผ่าตัด
กรณีที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้อุปกรณ์ช่วยรักษานอนกรน หรือการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล รวมถึงอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้นอนกรน เช่น คนที่มีปัญหาเพดานหย่อนหรือลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (UPPP) หรือหากเป็นคนที่มีปัญหาต่อมทอนซิลโต แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์
อาการนอนกรนเกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเพศไหนหรืออายุเท่าไหร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถละเลยได้ เพราะจากข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าอาการนอนกรน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
และในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งนับว่าเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น เมื่อพบว่ามีปัญหานอนกรน ควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาให้ตรงจุดและทันท่วงที ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อนาคต
อย่าปล่อยให้ช่วงเวลานอนหลับพักผ่อน กลายเป็นสิ่งที่อันตรายกับตัวคุณ… จองแพ็กเกจ รักษาอาการนอนกรน กับ HDmall.co.th ราคาดีกว่า จองฟรี จ่ายทีหลัง พร้อมให้คุณผ่อน 0% สูงสุด 10 เดือน คลิก! หรือ ทักแอดมิน เพื่อขอข้อมูลและคำปรึกษาเพิ่มเติม