แม้หูจะไม่ใช่อวัยวะที่หลายคนมองเป็นอันดับแรกๆ จากด้านหน้า แต่สำหรับผู้ที่มีใบหูกางออกมามากกว่าปกติ ก็อาจกลายเป็นจุดสังเกตขึ้นมาได้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือการได้ยิน แต่ก็อาจทำให้เสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต เช่น เวลาคุยกับผู้อื่น โดนเพื่อนล้อ หรือแม้แต่เวลาถ่ายรูป ปัจจุบันสถานพยาบาลต่างๆ มีบริการ “ศัลยกรรมหูกาง” เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ไขลักษณะใบหู
สารบัญ
- ศัลยกรรมหูกาง (Otoplasty) คืออะไร?
- ผู้ที่เหมาะกับศัลยกรรมหูกาง
- ศัลยกรรมหูกางเจ็บหรือไม่?
- ข้อดีของศัลยกรรมหูกาง
- ศัลยกรรมหูกางได้ตั้งแต่อายุเท่าไร?
- การเตรียมตัวก่อนศัลยกรรมหูกาง
- ขั้นตอนการศัลยกรรมหูกาง
- ระยะเวลาในการผ่าตัด
- การดูแลหลังศัลยกรรมหูกาง
- ผลข้างเคียงของการศัลยกรรมหูกาง
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการศัลยกรรมใบหู
- มีโอกาสที่ใบหูจะกางออกมาอีกหรือไม่?
ศัลยกรรมหูกาง (Otoplasty) คืออะไร?
ศัลยกรรมหูกาง คือการผ่าตัดแก้ไขรูปร่าง รูปทรง และตำแหน่งขอบใบหูเพื่อแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิด หรือจากการบาดเจ็บ เพื่อให้ใบหูดูสมส่วนและเข้ากับใบหน้า
โดยทั่วไปโครงสร้างใบหูจะมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อนที่สามารถบิดงอได้ และสามารถผ่าตัดปรับแต่งหรือจัดรูปทรงใหม่ได้เช่นเดียวกับศัลยกรรมจมูก โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเกี่ยวกับการได้ยินเสียง
ผู้ที่เหมาะกับศัลยกรรมหูกาง
ผู้ที่เหมาะกับการศัลยกรรมหูกางคือผู้มีลักษณะหูที่มีรูปร่างไม่สมส่วนและไม่รับกับใบหน้า มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าจากลักษณะต่อไปนี้
- ผู้ที่มีขอบใบหู (Helix, Helix Fold) กางออกมามากจนเกินไป
- ผู้ที่มีขอบกลางใบหู (Anti Helix) มีลักษณะแบนและมุมกางเกินไป
- ผู้ที่มีคองกา (Concha) ของใบหูมีขนาดใหญ่หรือลึกเกินไป
ศัลยกรรมหูกางเจ็บหรือไม่?
ระหว่างการผ่าตัดศัลยกรรมหูกางจะไม่รู้สึกเจ็บ เพราะก่อนผ่าตัดแพทย์จะฉีดยาชาและให้ยาลดความกังวล หลังผ่าตัดอาจมีอาการเจ็บ แต่หากได้รับการดูแลหลังผ่าตัดเป็นอย่างดี จะช่วยให้อาการเจ็บแผลลดลงและทำให้แผลหายเร็วอีกด้วย
ข้อดีของศัลยกรรมหูกาง
- แก้ไขรูปทรงของใบหูให้สมมาตรรับกับใบหน้า
- ไม่ต้องดมยาสลบ (ยกเว้นผู้เข้ารับการผ่าตัดอยู่ในวัยเด็ก) เพราะสามารถใช้การฉีดยาชาเฉพาะจุดได้
- ช่วยแก้ไขบุคลิกภาพและสร้างความมั่นใจ
ศัลยกรรมหูกางได้ตั้งแต่อายุเท่าไร?
การศัลยกรรมหูกางสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป เนื่องจากใบหูเจริญเติบโตจนเต็มที่แล้ว แต่การผ่าตัดในเด็กไม่สามารถทำโดยฉีดยาชาได้เพราะผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดที่อยู่ในวัยเด็กยังมีสมาธิไม่นิ่งพอ จึงต้องใช้วิธีดมยาสลบแทนการฉีดยาชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ข้อดีของการศัลยกรรมหูกางในวัยเด็กคือทำง่ายและได้ผลดีกว่าตอนโตมาก
การเตรียมตัวก่อนศัลยกรรมหูกาง
แม้การศัลยกรรมหูกางจะเป็นการผ่าตัดเล็ก แต่การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ โดยการเตรียมตัวหลักๆ อาจมีดังต่อไปนี้
- งดรับประทานวิตามิน สมุนไพร และอาหารเสริมทุกชนิดก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เช่น วิตามินซี วิตามินรวมน้ำมันตับปลา น้ำมันพริมโรส กระเทียมอัดเม็ด ใบแปะก๊วย
- หากมีโรคประจำตัวหรือแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์อย่างละเอียดก่อนวันผ่าตัดอย่างน้อย 3 วัน
- ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวาน ต้องควบคุมระดับความดันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 4 สัปดาห์เพราะอาจเป็นสาเหตุของภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยงขณะผ่าตัด อาจทำให้เนื้อเยื่อที่แผลผ่าตัดตายได้ ดังนั้นหากคุณเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัดควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
- งดดื่มสุราอย่างน้อย 3-4 วัน
- วันผ่าตัดควรใส่เสื้อที่ติดกระดุมด้านหน้า ไม่ควรใส่เสื้อยืดที่ไม่มีกระดุม เพราะต้องสวมผ่านศีรษะทำให้เจ็บแผลผ่าตัดที่ใบหูได้
- วันผ่าตัดงดใส่คอนแทคเลนส์ แต่งหน้า ทาเล็บ ทาโลชั่น เครื่องประดับและของมีค่า
- วันผ่าตัดควรมีผู้ติดตามหรือญาติมาด้วย เพราะหลังผ่าตัดใหม่ๆ แผลผ่าตัดต้องได้รับการป้องกันอย่างดี ทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจไม่คล่องตัวอาจเกิดอุบัติเหตุได้ในช่วงหลังผ่าตัด จึงต้องมีผู้ติดตามคอยช่วยเหลือ
- เตรียมลาหยุดเพื่อพักฟื้นประมาณ 3-5 วัน
ขั้นตอนการศัลยกรรมหูกาง
แพทย์จะพิจารณาโครงสร้างใบหูก่อนว่าควรรับการผ่าตัดแบบใด โดยแบ่งได้ 2 กรณีหลักๆ คือ หากขอบใบหูหรือบริเวณหยักใบหูไม่พับไปกับรูปหน้า มีลักษณะเปิดออกทำให้ใบหูดูกางใหญ่ กรณีนี้แพทย์จะผ่าตัดพับใบหูและปรับองศาใบหูให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ร่วมกับการตัดตกแต่งผิวหนังส่วนเกิน
แต่หากแอ่งบริเวณใบหูมีลักษณะเปิดออกมา กรณีนี้แพทย์จะผ่าตัดแอ่งบริเวณใบหูให้แนบชิดกับกระดูกท้ายทอยมากยิ่งขึ้น โดยผู้เข้ารับการผ่าตัดบางท่านอาจทำการผ่าตัดตกแต่งใบหูเพียงจุดเดียวหรือทั้ง 2 จุดขึ้นอยู่กับปัญหาและการประเมินของแพทย์ โดยมีขั้นตอนการผ่าดังนี้
- แพทย์จะทำการทำความสะอาดใบหู โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
- จากนั้นฉีดยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthesia) บริเวณหลังใบหูที่จะผ่าตัด
- แพทย์เปิดแผลกว้างประมาณ 3-4 ซม. บริเวณตำแหน่งที่กำหนดไว้ และตัดผิวหนังส่วนหนึ่งบริเวณแนวเส้นผ่าตัดออก
- แพทย์ทำการผ่าตัดทำกระดูกอ่อนใบหู ให้มีรูปทรงที่สวยงาม และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- จากนั้นทำการดึงผิวหนังบริเวณข้างแนวเส้นผ่าตัดแนบเข้าหากันเพื่อเย็บปิดแผลและใช้ผ้ารัดหูทั้งสองข้างโดยการพันไว้
ระยะเวลาในการผ่าตัด
ระยะเวลาการผ่าตัด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
การดูแลหลังศัลยกรรมหูกาง
หลังการผ่าตัดจะมีแผลหลังใบหูโดยจะมองไม่เห็นจากด้านหน้าและด้านข้าง เนื่องจากใบหูจะพับไปปิดแผล และหลังผ่าตัดจะมีอาการบวมและเขียวช้ำประมาณ 3-5 วัน แต่อาการบวมจะค่อยๆ ลดลงใน 1-2 สัปดาห์ โดยระยะนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องหมั่นดูแลตัวเองดังนี้
- หลังผ่าตัดต้องใส่ผ้ารัด (Face Support) รัดบริเวณใบหูอย่างน้อย 2 สัปดาห์ตลอดเวลา (รวมถึงเวลานอนด้วย)
- ห้ามโดนน้ำบริเวณแผลอย่างน้อย 3 วัน
- ควรงดออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่กระทบกระเทือนศีรษะอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี
- หลังผ่าตัด 2-3 วันสามารถเปิดแผลออกเพื่อทำความสะอาดและทายาตามที่แพทย์จัดไว้ให้
- หากมีเลือดออกผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที
- หลังผ่าตัดภายในระยะเวลา 7 วัน พบแพทย์เพื่อตัดไหมและตรวจผลลัพธ์
- ระยะเวลาพักฟื้น 1 สัปดาห์
ผลข้างเคียงของการศัลยกรรมหูกาง
การผ่าตัดแก้ไขหูกางแม้จะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยากแต่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน คือ
- อาจมีอาการปวดแผล แต่สามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยรับประทานยาแก้ปวด
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจรู้สึกชาหรือรับความรู้สึกได้น้อยลงบริเวณหู เพราะบริเวณหูมีเส้นประสาทจำนวนมาก ทำให้การผ่าตัดต้องใช้ความชำนาญสูงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผ่าตัดไปโดนเส้นประสาทเหล่านั้นโดยให้กระเทือนน้อยที่สุด ส่วนใหญ่อาการชาหรือการรับรู้ความรู้สึกที่น้อยลงมักเกิดเพียงชั่วคราวประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการถาวรได้ หากพบว่ามีความผิดปกติดังกล่าวนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- มีโอกาสเกิดการม้วนกลับของใบหู อาจทำให้ใบหูหลุดออกมากางเหมือนเดิม ซึ่งอาจเกิดจากความชำนาญไม่เพียงพอของแพทย์ผู้ผ่าตัด หรืออาจเกิดจากผู้เข้ารับการผ่าตัดเอาผ้ารัด (Face Support) ออกก่อนเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ในการผ่าตัดใบหูพร้อมกันทั้ง 2 ข้างอาจกางไม่เท่ากันแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการศัลยกรรมใบหู
การศัลยกรรมใบหูมีโอกาสเกิดความเสี่ยงได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภท ดังนี้
- อาจเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดทั่วไป
- อาจเกิดการติดเชื้อกระดูกอ่อนที่ใบหู
- อาจมีเลือดออกใต้ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัดปริมาณมากจนไปกดกระดูกอ่อนที่ใบหู อาจทำให้กระดูกอ่อนตายและผิดรูป หากพบความผิดปกตินี้ให้รีบแพทย์เพื่อทำการแก้ไขทันที
มีโอกาสที่ใบหูจะกางออกมาอีกหรือไม่?
ศัลยกรรมหูกางเป็นการแก้ไขอย่างถาวร แต่ต้องผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความชำนาญอย่างแท้จริงเท่านั้น เพราะการผ่าตัดที่ไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดใบหูอาจไม่แนบเท่าที่ควร หรือได้ผลชั่วคราวและใบหูจะกางออกเหมือนเดิม รวมถึงการที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดเอาผ้ารัด (Face Support) ออกก่อนเวลาที่กำหนดก็อาจทำให้ใบหูจะกางออกเหมือนเดิมเช่นกัน
การศัลยกรรมหูกางอาจไม่ใช่การผ่าตัดที่ยุ่งยากซับซ้อนมากแต่ต้องอาศัยความแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์มาก เพื่อให้ผลลัพธ์การศัลกรรมหูกางออกมาดูสวยงาม ได้รูปเข้ากับใบหน้าและเป็นที่พอใจแก่ผู้เข้ารับการผ่าตัด ดังนั้นเราจึงจำเป็นเลือกโรงพยาบาลที่มีแพทย์และผลงานที่น่าเชื่อถือในการเลือกตัดสินใจ