cardiovascular disease definition scaled

โรคหัวใจ มีกี่ชนิด สาเหตุ อาการ ขั้นตอนการตรวจ วิธีรักษา

รู้ไหม? ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงถึง 17.9 ล้านคนทั่วโลก…หากคุณมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคหัวใจ บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจว่า โรคหัวใจมีกี่ชนิด มีสาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร มีขั้นตอนการตรวจและวิธีการรักษาอย่างไร เพื่อที่คุณจะได้รู้จัก และรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกวิธี 

โรคหัวใจคืออะไร มีกี่ชนิด

โรคหัวใจ (Cardiovascular Disease) คือกลุ่มของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ดังนี้

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease – CAD) เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงและการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก (Angina) หรือหัวใจวาย (Heart Attack)
  2. หัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ มีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง อาจเกิดจากความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 
  3. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ เช่น เต้นช้าหรือเร็วเกินไป อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในระบบไฟฟ้าของหัวใจ อาจทำให้รู้สึกเวียนหัว หรือถึงขั้นหมดสติได้
  4. โรคลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ทำให้การไหลของเลือดภายในหัวใจไม่เป็นปกติ อาจทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย
  5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจตั้งแต่เกิด เช่น ผนังหัวใจมีรูรั่ว หรือหลอดเลือดหัวใจพัฒนาไม่สมบูรณ์ อาจต้องรับการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่วัยเด็ก
  6. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy) เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจมีอาการหายใจลำบาก บวมตามเท้า ขา หน้าท้อง เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เวียนหัว เป็นลม และมักตื่นมาไอในเวลากลางคืน
  7. โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณต่างๆ ของหัวใจ เช่น Endocarditis, Myocarditis และ Pericarditis อาจทำให้มีไข้ อ่อนเพลีย หายใจหอบ และในบางกรณี อาจมีผื่นหรือจุดแดงขึ้นตามตัว

โรคหัวใจเกิดจากสาเหตุใด

โรคหัวใจเกิดได้จากหลายสาเหตุ สำหรับสาเหตุหลักที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจได้มีดังนี้

  1. สภาพร่างกาย ความผิดปกติของร่างกายบางประการส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้ เช่น การสะสมของไขมันในหลอดเลือด การที่ผนังหลอดเลือดมีการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลสูง จะทำให้หลอดเลือดตีบและแข็งตัว ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจวายได้ คอเลสเตอรอลสูง การที่คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) สูงเกินไป สามารถสะสมในหลอดเลือดและนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดหัวใจได้ น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
  2. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้มากขึ้น เนื่องจากเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น ความเสื่อมของหลอดเลือด ผนังหัวใจหนาขึ้นและไม่ยืดหยุ่นเท่าเดิม
  3. เพศ ผู้ชายมีแนวโน้มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเร็วกว่าในผู้หญิง อย่างไรก็ตาม หลังวัยหมดประจำเดือน ความเสี่ยงของโรคหัวใจในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้น
  4. ประวัติครอบครัว หากมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจก็จะเพิ่มขึ้น
  5. ความเครียด ความเครียดเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และกระตุ้นให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง
  6. สภาพแวดล้อมและพฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวันบางประการ สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ ทำลายหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอย่างมาก การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
  7. โรคร่วมอื่นๆ โรคประจำตัวบางโรค เป็นปัจจัยกระตุ้นให้หัวใจเกิดความผิดปกติได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นและนำไปสู่การเสื่อมสภาพของหลอดเลือด โรคเบาหวาน การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมหัวใจ ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม คือ ภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และรอบเอวใหญ่ ซึ่งล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

อาการเตือนโรคหัวใจที่ไม่ควรมองข้าม

สัญญาณเตือนของโรคหัวใจมีหลายรูปแบบ แม้ว่าอาการบางอย่างอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นได้ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม อาการเตือนโรคหัวใจที่พบได้บ่อย มีดังนี้ 

  1. เจ็บหรือแน่นหน้าอก อาการเจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือมีความเครียด อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจ หากมีอาการนานเกิน 15 นาที ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  2. หายใจลำบาก อาการหายใจติดขัด เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อออกแรง หรือมีอาการในขณะนอนราบ อาจเป็นอาการของหัวใจล้มเหลวหรือปัญหาหัวใจอื่นๆ
  3. ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วเกินไปหรือเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ และอาจทำให้เวียนหัวหรือเป็นลมได้
  4. เหงื่อออกมากผิดปกติ อาการเหงื่อออกมากผิดปกติ โดยที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ใช้แรง หรืออยู่ในสภาพอากาศร้อน อาจเป็นสัญญาณของหัวใจวาย
  5. บวม อาการบวมที่ข้อเท้า เท้า ขา หรือหน้าท้อง อาจเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งทำให้ของเหลวเกิดการสะสมในร่างกาย
  6. อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมหนักๆ อาจเป็นสัญญาณของหัวใจที่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
  7. เวียนหัวหรือเป็นลม อาการเวียนหัว หรือเป็นลม อาจเกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาหัวใจ
  8. ปวดหรืออึดอัดบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาการปวดหรืออึดอัดอาจลามไปยังแขน คอ กราม หรือหลัง ในบางรายอาการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกับการเจ็บหน้าอกด้วย
  9. คลื่นไส้หรืออาเจียน อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมกับอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณของหัวใจวาย โดยเฉพาะในผู้หญิง
  10. หายใจหอบเมื่อออกกำลังกาย หากรู้สึกหายใจไม่ทันเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคยทำได้โดยไม่มีปัญหา อาจเป็นสัญญาณของปัญหาหัวใจ

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบากที่เป็นอยู่ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า?  อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

ขั้นตอนการตรวจโรคหัวใจ

การตรวจโรคหัวใจมีหลายขั้นตอน โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคหัวใจและระบบหลอดเลือดจากขั้นตอนดังนี้

  1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติครอบครัวที่มีโรคหัวใจ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับตรวจร่างกายโดยการฟังเสียงหัวใจและปอด ตรวจความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจหาสัญญาณของอาการบวมที่ขาหรือข้อเท้า
  2. การตรวจเลือด เป็นหนึ่งในวิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด และการทำงานของไต เพื่อตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หรือแพทย์อาจสั่งตรวจระดับเอนไซม์หัวใจ (Cardiac Enzymes) เช่น Troponin เพิ่มเติม หากสงสัยว่ามีภาวะหัวใจวาย
  3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram – ECG/EKG) ใช้เพื่อวัดการทำงานของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ช่วยตรวจหาการเต้นผิดจังหวะ ปัญหาของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะหัวใจวายที่อาจเกิดขึ้น
  4. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test – EST) มักทำโดยการให้ผู้รับการตรวจเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่ง หรือปั่นจักรยานขณะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะสังเกตอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก และดูการทำงานของหัวใจเมื่ออยู่ภายใต้ความเครียดหรือออกแรง
  5. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) การตรวจนี้ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อสร้างภาพของหัวใจและดูการทำงานของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ
  6. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) การตรวจ CT Scan ใช้เพื่อตรวจหาการสะสมของไขมันในหลอดเลือดหัวใจ หรือการตีบของหลอดเลือด

ส่วนการตรวจ MRI ใช้เพื่อตรวจดูโครงสร้างหัวใจอย่างละเอียด รวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ความสามารถในการสูบฉีดเลือด ตรวจหาพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการขาดเลือด นอกจากนี้ยังใช้ในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ

  1. การตรวจหัวใจด้วยการฉีดสี (Coronary Angiography) แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะทำการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจผ่านทางสายสวน เพื่อดูภาพหลอดเลือดหัวใจ และตรวจหาการอุดตันหรือการตีบของหลอดเลือด
  2. การตรวจหัวใจด้วยการใส่สายสวน (Cardiac Catheterization) แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงผ่านทางขาหรือแขน เพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ ตรวจวัดความดันในหัวใจ หรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจ
  3. การตรวจหัวใจแบบ Holter Monitoring เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาไว้กับตัวผู้ป่วย เพื่อบันทึกการเต้นของหัวใจเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง เพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างวัน มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่นหรือเป็นลม
  4. การตรวจหัวใจแบบ Event Recorder คล้ายกับ Holter Monitoring แต่ใช้เวลาติดเครื่องนานกว่าหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน เพื่อตรวจหาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นๆ หายๆ 

วิธีการรักษาโรคหัวใจ

วิธีการรักษาโรคหัวใจมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็น และความรุนแรงของโรค วิธีการรักษาสามารถแบ่งออกเป็นดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ และลดความเครียด
  2. ารใช้ยา เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดคอเลสเตอรอล ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านการเกิดลิ่มเลือด ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  3. การรักษาด้วยหัตถการและผ่าตัด
    • การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Angioplasty) ใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน และอาจมีการใส่ขดลวด (Stent) เพื่อช่วยให้หลอดเลือดเปิด
    • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting – CABG) การใช้หลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาเชื่อมต่อหลอดเลือดหัวใจ เพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตันให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
    • การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Heart Valve Repair or Replacement) สำหรับผู้ที่มีปัญหาลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
    • การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) สำหรับผู้ที่มีปัญหาหัวใจเต้นช้าหรือผิดจังหวะ เครื่องกระตุ้นหัวใจจะช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
    • การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิด Defibrillator (ICD) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ICD จะช่วยกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง
    • การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (Endovascular Aneurysm Repair – EVAR) เป็นการผ่าตัดในผู้ที่หลอดเลือดโป่งพองจนใกล้ปริแตก หรือมีอาการเจ็บป่วยจากหลอดเลือดที่โป่งพอง เช่น แน่นหน้าอก ปวดท้อง ปวดหลัง
    • การรักษาด้วยการปลูกถ่ายหัวใจ สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่นๆ การปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า วิธีการรักษาโรคหัวใจในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ละวิธีจะถูกปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของโรคหัวใจ ความรุนแรง และสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วย

อาการแบบนี้ ใช่โรคหัวใจหรือเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top