การฉีดฟิลเลอร์ (Filler) อันตรายไหม? ข้อมูล ข้อดี-เสีย

เมื่อวันเวลาผ่านไปจากวัยสาวเข้าสู่วัยกลางคน ผิวที่เคยเต่งตึงมีน้ำมีนวลก็จะเริ่มแห้งหยาบกร้านและรูขุมขนกว้าง นั่นเป็นเพราะคอลลาเจนใต้ผิวหนังฝ่อลงจนก่อให้เกิดร่องลึก หากจะใช้วิธีนวด หรือทาครีมบำรุงต่างๆ ก็ได้ผลช้า ดังนั้นการฉีดฟิลเลอร์จึงเป็นวิธีที่ตอบโจทย์สำหรับผู้มีปัญหา และยังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

การฉีดฟิลเลอร์คืออะไร

การฉีดฟิลเลอร์คือ การฉีดสารเติมเต็มเพื่อทำให้ริ้วรอย ร่องลึกตามจุดต่างๆ บนใบหน้า เช่น หน้าผาก รอบดวงตา ร่องลึกริมฝีปาก ตื้นขึ้น หรือใช้แก้ไขปรับแต่งรูปหน้า เช่น เติมริมฝีปากหรือร่องแก้มให้ดูอวบอิ่ม ปรับแต่งจมูกให้โด่งขึ้น ตลอดจนใช้ฟื้นฟูผิวพรรณให้กลับมากระชับเปล่งปลั่งอีกครั้ง

ฟิลเลอร์ (Filler) คือสารเติมเต็ม มีสรรพคุณช่วยทำให้ใบหน้าเต่งตึง มีน้ำมีนวล ริ้วรอยร่องลึกที่เคยเป็นจะตื้นขึ้น อีกทั้งฟิลเลอร์บางชนิดที่เลือกใช้ยังช่วยเติมใยคอลลาเจนที่หายไปให้กลับมาดูอิ่มเอิบ แลดูอ่อนเยาว์กว่าวัยด้วยเวลาอันรวดเร็ว

ชนิดของฟิลเลอร์แบ่งตามความคงตัวหลังฉีด

แบ่งได้ 3 ชนิด ดังต่อไปนี้

  • การฉีดสารเติมเต็มแบบชั่วคราว (Temporary Filler) เช่น สารไฮยาลูโรนิกแอซิด (Hyaluronic Acid) สารคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับที่มีอยู่แล้วในผิวหนัง ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นชนิดที่ไม่ทำให้เกิดการแพ้หรือแพ้น้อยมาก เมื่อฉีดเข้าบริเวณที่ต้องการแก้ไขแล้วจะคงอยู่ได้ประมาณ 4-6 เดือน จัดว่ามีความปลอดภัยสูงและสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ
  • การฉีดสารเติมเต็มแบบกึ่งถาวร (Semi-Permanent Filler) เช่น สาร PMMA (Polymethyl-methacrylate) สารโพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyakylimide)
    สารเหล่านี้เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น แต่มีความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ จะมีอายุยาวกว่าการฉีดฟิลเลอร์แบบชั่วคราว อาจอยู่ได้นานถึง 2 ปี ขึ้นกับชนิดของฟิลเลอร์ที่เลือกใช้ มีความปลอดภัยในระดับปานกลาง และสารที่ให้ผลยาวนานกว่ามีแนวโน้มจะเกิดผลข้างเคียงมากกว่า
  • การฉีดสารเติมเต็มแบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคนเหลว หรือน้ำมันพาราฟิน จะให้ผลลัพธ์แบบถาวรโดยไม่สามารถสลายออกเองได้ การฉีดสารประเภทนี้ระบุผลข้างเคียงในระยะยาวไม่ได้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง มีการอักเสบ หรือถึงขั้นทำให้บริเวณที่ฉีดเปลี่ยนรูปไป จึงไม่แนะนำให้ฉีดสารชนิดนี้

ระยะเวลาในการฉีดฟิลเลอร์

การฉีดฟิลเลอร์จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที โดยเมื่อฟิลเลอร์อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขแล้วก็จะเห็นผลทันที และจะยิ่งเห็นผลชัดที่สุดในวันที่ 5

ปกติแล้ว ผลลัพธ์ของการฉีดฟิลเลอร์สามารถอยู่ได้นานถึง 6 เดือน ถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสารฟิลเลอร์ที่ฉีด ความเหมาะสมของชนิดฟิลเลอร์และปัญหาของผิว และการดูแลหลังการฉีด ซึ่งผลที่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย

อย่างไรก็ตาม ฟิลเลอร์บางชนิดอาจไม่เห็นผลในทันทีหลังฉีด แต่จะค่อยๆ กระตุ้นให้ผิวหนังสร้างคอลลาเจนขึ้นมาเอง สารฟิลเลอร์ประเภทนี้ ได้แก่ สารโพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide) สารโพลีแลคติกแอซิด (Poly lactic acid)

การฉีดฟิลเลอร์เหมาะสำหรับใคร

การฉีดฟิลเลอร์เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องริ้วรอย มีร่องลึกรอบดวงตา มุมปาก หรือบริเวณอื่นๆ และผู้ที่ต้องการปรับแต่งรูปหน้า รวมถึงช่วยเติมเต็มแก้มที่ตอบให้เปล่งปลั่ง และเต่งตึง ทำให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์มากยิ่งขึ้น

ข้อดีของการฉีดฟิลเลอร์

  • การฉีดฟิลเลอร์ให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วทันใจ ใช้เวลาน้อย ไม่จำเป็นต้องพักฟื้น
  • การฉีดฟิลเลอร์สามารถปรับโครงสร้างใบหน้าให้ได้รูป
  • การฉีดฟิลเลอร์เพื่อเติมเต็มจุดบกพร่องที่ทำให้ดูสูงวัย เช่น ริ้วรอย ร่องลึกรอบดวงตา มุมปาก แก้มตอบ หลุมสิว ให้เต่งตึงมากยิ่งขึ้น ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ในทันทีที่ฉีด แก้ปัญหารอยแผลเป็น และยังช่วยเสริมโหงวเฮ้งตามความเชื่อได้อีกด้วย
  • การฉีดฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นสารจากธรรมชาติที่สามารถสลายได้เอง ไม่มีปัญหาตกค้างในร่างกาย และมักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้อีกด้วย

ข้อเสียของการฉีดฟิลเลอร์

  • หากใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงในบริเวณที่ฉีดได้
  • หากคุณฉีดฟิลเลอร์แบบถาวร เช่น ซิลิโคนเหลว หรือน้ำมันพาราฟิน ซึ่งเป็นฟิลเลอร์ที่ไม่สามารถสลายออกเองได้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ฟิลเลอร์จับตัวเป็นก้อนจนเกิดพังผืด ซึ่งจะต้องไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแก้ไขเท่านั้น
  • การฉีดฟิลเลอร์โดยแพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญ หรือเลือกสถานพยาบาลที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะตำแหน่งที่ฉีดถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้คุณภาพของสารฟิลเลอร์ หากไม่ใช่แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกายวิภาค อาจฉีดในจุดที่ไม่ควรฉีดและทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

วิธีดูแลตนเองก่อนฉีดฟิลเลอร์

ห้ามรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วิตามินอี สารสกัดใบแปะก๊วย ที่ทำให้เลือดหยุดไหลช้า

หากกำลังรับประทานยา หรือมีประวัติการแพ้ยาใดๆ ก็ตาม จะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบล่วงหน้า

วิธีดูแลตนเองหลังฉีดฟิลเลอร์

  • บางรายอาจมีอาการบวมแดงในบริเวณที่ฉีด แต่จะหายไปได้เองภายใน 2 วัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อบางชนิด เป็นเวลา 2 วันหลังฉีดฟิลเลอร์
  • ห้ามนอนราบหลังการฉีดฟิลเลอร์ 3-4 ชั่วโมง
  • ห้ามแต่งหน้า หรือใช้ครีมบำรุงทุกชนิดหลังการฉีดฟิลเลอร์ 12 ชั่วโมง
  • ห้ามออกกำลังกายภายใน 48 ชั่วโมงแรก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อน เช่น ทำเลเซอร์ การใช้ไดร์เป่าผม ล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เสื่อมสลายได้เร็ว รวมทั้งห้ามถูหน้าแรงๆ ด้วย
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
  • ทาครีมกันแดดทุกวัน

ข้อควรระวังในการฉีดฟิลเลอร์

  • ปัจจุบันมีสารที่มีลักษณะคล้ายฟิลเลอร์ออกมามากมาย ซึ่งไม่ได้ถูกรับรองตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา จึงควรขอแพทย์ตรวจสอบฟิลเลอร์ทุกครั้งก่อนฉีด เพื่อลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น
  • ควรใช้บริการจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงเลือกสถานให้บริการที่ได้มาตรฐาน และเชื่อถือได้
  • ห้ามฉีดฟิลเลอร์ในสตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก

วิธีตรวจสอบฟิลเลอร์อย่างง่ายๆ

  • ปกติแล้วแพทย์จะแกะกล่องฟิลเลอร์ต่อหน้าคนไข้ เพื่อให้คนไข้สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง
  • ฟิลเลอร์ทุกยี่ห้อจะมี Lot Serial No. รวมถึงหมายเลขอ้างอิงต่างๆ ซึ่งจะตรงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน้ากล่อง ในกล่อง หรือตัวเข็ม
  • สามารถเช็กฟิลเลอร์แท้ได้ โดยนำเลข Serial No. ไปสอบถามบริษัทที่นำเข้าหรือผลิต

ราคาของการฉีดฟิลเลอร์

  • ราคาการฉีดในแต่ละครั้งจะคิดจากปริมาณฟิลเลอร์ที่ต้องการฉีด มีหน่วยวัดคือ “ซีซี (CC)”
  • ส่วนใหญมักเริ่มจากราคาซีซีละ 2,500 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละสถานที่ที่ให้บริการด้วย
  • 1 ซีซี สามารถฉีดได้ 1 จุด โดยสามารถเลือกจุดใดจุดหนึ่งบริเวณใบหน้า เช่น ปาก ใต้ตา ร่องแก้ม หรือขมับ เป็นต้น

ในท้องตลาดมีบริการฉีดฟิลเลอร์หลากหลายราคา เราไม่ควรเห็นแก่ราคาถูกเท่านั้น แต่ควรเลือกคลินิก หรือโรงพยาบาลที่สามารถตรวจสอบได้ว่า สารที่นำมาฉีดเป็นสารชนิดใด เพราะหากเป็นสารที่ไม่ได้มาตรฐานอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้

อย่างไรก็ตาม หากใช้บริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง การฉีดฟิลเลอร์ถือว่าเป็นการรักษาที่ไม่อันตรายและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

Scroll to Top