นิ้วล็อค งอ สะดุด กดเจ็บ อาการเจ็บเล็กๆ แต่เรื้อรัง ถ้าเป็นมากอาจต้องผ่าตัด!

“งอนิ้วแล้วสะดุด กดโคนนิ้วมือแล้วรู้สึกเจ็บ เหยียดนิ้วตรงไม่ได้” ถ้าเริ่มรู้สึกแบบนี้ต้องระวัง! คุณอาจกำลังเริ่มมีอาการนิ้วล็อค หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเรื้อรัง เป็นนานนับเดือน ถ้าร้ายแรงกว่านั้นอาจจะต้องผ่าตัด มาเช็กอาการ พร้อมสาเหตุ และวิธีรักษาในเบื้องต้นกับ HDmall.co.th ได้เลย

นิ้วล็อคคืออะไร?

นิ้วล็อค (Trigger Finger) คือ อาการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นที่บริเวณฝ่ามือ ตรงตำแหน่งโคนนิ้ว เป็นอาการที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย มักเกิดบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลางหรือนิ้วนาง ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในผู้ที่มาอายุน้อยลง ตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป

อาการนิ้วล็อคเป็นอย่างไร?

โดยปกติอาการนิ้วล็อคที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ รู้สึกติดขัดเวลางอนิ้ว มีอาการปวดที่โคนนิ้ว นิ้วเริ่มติดในท่าที่ผิดรูป แต่อาการโดยละเอียดสามารถแบ่งได้ 4 ระยะ

ระยะที่ 1: ปวดบริเวณฐานนิ้วมือ ถ้าลองกดแล้วจะมีอาการปวดมากขึ้น
ระยะที่ 2: รู้สึกสะดุดเวลางอ ขยับ หรือเหยียดนิ้ว
ระยะที่ 3: เมื่องอนิ้วแล้วมีอาการนิ้วล็อค ขยับไม่ได้ ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วย ถ้าเป็นมากขึ้นจะเริ่มงอนิ้วไม่ได้
ระยะที่ 4: เริ่มมีอาการอักเสบ บวม เหยียดนิ้วตรงไม่ได้ ถ้าพยายามเหยียดนิ้วจะรู้สึกปวดมาก

สาเหตุของอาการนิ้วล็อคคืออะไร?

อาการนิ้วล็อคส่วนใหญ่เกิดจากการใช้นิ้วมือต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เช่น เกร็งนิ้วมือขณะทำงาน พิมพ์คอมพิวเตอร์ ใช้เมาส์ ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันนานๆ จนทำให้เยื่อหุ้มเส้นเอ็นที่บริเวณฝ่ามือ ตรงตำแหน่งโคนนิ้วอักเสบ บวม ขาดความยืดหยุ่น รู้สึกเจ็บปวดขณะขยับนิ้ว ไม่สามารถยืดเหยียดหรืองอนิ้วได้ตามปกติ

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการนิ้วล็อคคือใคร?

  • ผู้ที่ทำงานที่จำเป็นต้องเกร็งนิ้วมือบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ ช่างฝีมือ ทันตแพทย์ ช่างทำผม ศัลยแพทย์ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ จะมีความเสี่ยงมีอาการนิ้วล็อคสูงกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตเป็นประจำ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

วิธีรักษาและค่ารักษาในเบื้องต้น

อาการนิ้วล็อค หากเริ่มเป็นแล้วไม่รีบรักษาหรือไม่ปรับพฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือ จะทำให้เป็นเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษานานกว่าจะหายขาด โดยวิธีรักษาอาการนิ้วล็อคมีดังนี้

รักษาด้วยตัวเอง

  • ปรับพฤติกรรม พยายามใช้งานนิ้วมือให้น้อยลง หรือหากหลีกเลี่ยงได้ยากก็ควรต้องหยุดพักเป็นระยะ
  • แช่น้ำอุ่นแล้วกำมือ พร้อมแบมือในน้ำเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นคลายตัว
  • บริหารนิ้วมือ ยืดเหยียดนิ้วเป็นประจำ

ใช้ยารับประทาน หรือยาฉีด

  • หากเริ่มมีอาการรุนแรงแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาในกลุ่ม NSAID หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ ควบคู่กับการใส่อุปกรณ์ดามนิ้วมือ เพื่อให้นิ้วอยู่ในท่าที่เหมาะสม ไม่เหยียดหรืองอจนเกินไป
  • ใช้ยาฉีดกลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ บวมแดง แต่อาการจะดีขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และสามารถกลับมาปวดอีกได้ในเวลาไม่นาน
  • ค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์เพื่อรับยาหรือฉีดยา เริ่มต้นที่ประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป

ผ่าตัดรักษา

ในกรณีที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล อาจต้องผ่าตัด โดยสามารถผ่าตัดได้ 2 วิธี

  1. ผ่าตัดแบบปิด เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ ฉีดบริเวณฝ่ามือตำแหน่งที่มีอาการ แล้วใช้มีดกรีดเปิดแผลเล็กๆ จากนั้นจึงสอดเข็มเข้าไปสะกิดเนื้อเยื่อที่รัดเส้นเอ็นไว้ ให้คลายตัวลง หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล สามารถใช้งานนิ้วมือได้ตามปกติ ผลการรักษาสำเร็จประมาณ 80-90% แต่หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิด
  2. ผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีมาตรฐาน โดยแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดบริเวณฝ่ามือตำแหน่งที่มีอาการ แล้วใช้มีดกรีดเปิดแผล จากนั้นจึงตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาตัวอยู่ให้เปิดกว้าง เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น

หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่ต้องหลีกเลียงการใช้งานหนักและการสัมผัสแผล ประมาณ 2 สัปดาห์

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดรักษาเริ่มต้นที่ประมาณครั้งละ 5,000 – 6,000 บาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาและค่าบริการโรงพยาบาล

นิ้วล็อค อาการเจ็บเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่ถ้าไม่รีบเลี่ยงสาเหตุ ปรับพฤติกรรมแต่เนิ่นๆ อาจป่วยเรื้อรัง ใช้งานนิ้วมือลำบาก ขยับแต่ละทีก็มีอาการปวด ร้ายแรงกว่านั้นอาจถึงขั้นผ่าตัด หากไม่อยากใช้เงินเก็บไปกับค่ารักษา เลือกประกันสุขภาพ Mobile Syndrome จำกัดความเสี่ยงก่อนมีอาการ เพื่อให้คุณใช้งานนิ้วมือได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล

*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด ควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจซื้อประกันทุกครั้ง

Scroll to Top