ท้องผูกไม่ได้หมายความแค่มีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพียงอย่างเดียว เพราะหากความถี่ในการขับถ่ายของคุณเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ได้รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง อุจจาระไม่เป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ด ผิวขรุขระ สามารถขับถ่ายได้เป็นปกติไม่ลำบาก และใช้เวลาไม่นานแสดงว่า นั่นไม่ใช่อาการท้องผูก แต่หากอาการทั้งหมดตรงกันข้าม และ 3-4 วันกว่าจะขับถ่ายครั้งหนึ่ง นั่นหมายความว่า “คุณกำลังท้องผูก”
สารบัญ
อาการท้องผูก
อาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกแบเบาะ จนถึงวัยชรา โดยพบประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
ในเด็กทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่
- อาจท้องผูกเมื่อเปลี่ยนไปดูดนมขวด หรือเริ่มหัดรับประทานอาหารเสริม แต่ส่วนใหญ่มักหายได้เองเมื่อเริ่มคุ้นชินกับอาหารใหม่ๆ
- พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกน้อยให้บรรเทาอาการเจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระได้ โดยให้ดูดน้ำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำสะอาด น้ำผลไม้ หรือน้ำผสมน้ำตาลก็ได้ และหากลูกน้อยสามารถรับประทานอาหารที่มีกากใยได้แล้วก็ควรให้ผักและผลไม้มากขึ้น
- เด็กวัยก่อนเรียนบางคนมีอาการท้องผูกเพราะกลั้นไว้ ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น เคยรู้สึกเจ็บเวลาถ่าย ถึงเวลาปวดอุจจาระก็ไม่อยากถ่ายเพราะเกรงว่าจะเจ็บอีก บางคนถูกหัดให้นั่งส้วมเร็วเกินไป หากกลั้นไว้นานๆ อุจจาระก็ยิ่งแข็งและก้อนใหญ่ขึ้นทำให้เจ็บมากขึ้นอีก
- ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ช่วยเหลือปลอบโยน ให้เวลาขับถ่ายอย่างเพียงพอ ถ้าจำเป็นอาจต้องช่วยสวน หรือเหน็บยาให้
สำหรับเด็กวัยห้าหกขวบขึ้นไป
- เป็นวัยที่สามารถเข้าห้องน้ำเองได้แล้ว พ่อแม่จึงอาจละเลยไม่ถามเรื่องการขับถ่าย หรือเด็กบางคนถือว่า การเข้าห้องน้ำทำให้เสียเวลาเล่น ห่วงเล่นมากกว่า จึงกลั้นเอาไว้
- ในวัยเด็กจึงต้องปลูกฝังนิสัยการกินและการขับถ่ายที่ดี อย่าปล่อยให้ท้องผูกจนเป็นนิสัยและไม่ควรใช้ยาถ่ายหากไม่จำเป็น โดยเฉพาะการใช้ยาถ่ายชนิดที่เป็นน้ำมันแร่อาจทำให้ร่างกายสูญเสียวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ อี ดี และเค ซึ่งในวัยเติบโตไปได้ ร่างกายไม่ควรขาดวิตามินเหล่านี้
สำหรับวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป
- โดยมากอาการท้องผูกมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การพักผ่อน ความเครียด โรคบางโรค การใช้ยาบางชนิด และความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุที่ทำให้ท้องผูก
สาเหตุของท้องผูกอาจจะไม่เกี่ยวกับอาหารการกินเลยก็ได้เป็นอาการหนึ่งของโรค เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมไทรอยด์ หรือพาราไทรอยด์ผิดปกติ รวมถึงการตีบแคบของลำไส้จากพังผืด หรือการผ่าตัด เป็นต้น
- เป็นอาการข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีมอร์ฟีน ยารักษาอาการทางจิตเวช ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาอาการพาร์คินสัน ยารักษาอาการอัลไซเมอร์ ยารักษามะเร็งบางชนิด ยาแก้ท้องเสีย ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
- ความเครียด มีความทุกข์หมกมุ่นในใจทำให้การขับถ่ายพลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย ที่เห็นชัดคือ ในขณะเดินทาง หรือการอยู่ในบางสถานที่หากห้องน้ำไม่สะอาดก็จำเป็นต้องงดเว้นขับถ่าย ทำให้บางคนกลั้นอุจจาระไว้และยกยอดไปจัดการคราวเดียวเมื่อถึงบ้านแล้ว เมื่อทำบ่อยเข้าๆ ก็กลายเป็นท้องผูก
- การรับประทานอาหารและดื่มน้ำ เช่น การไม่รับประทานผักหรือผลไม้ ดื่มน้ำน้อยเกินไป เป็นต้น
- ตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะสูงขึ้น และฮอร์โมนโมทิลินลดลง ทำให้การเคลื่อนตัวในลำไส้นานขึ้นและเกิดท้องผูก
- การเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ผิดปกติ หรืออาจจะเรียกว่า ลำไส้แปรปรวน อาการท้องผูกจะพบได้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของภาวะนี้
- มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่าย หรือการเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี เกิดจากการที่กล้ามช่องท้องที่ใช้ช่วยในการเบ่งมีแรงไม่เพียงพอ หรือการที่กล้ามเนื้อหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่งถ่ายอุจจาระ โดยมีการเกร็งตัว หรือไม่คลายตัวดีพอขณะทำการเบ่งถ่าย
- ท้องผูกชนิดที่ลำไส้มีภาวะเคลื่อนไหวตัวช้ากว่าปกติ
- ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ท้องผูกบ่อยๆ ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
- เกิดความเครียด
- ปวดหัว ปวดหลัง ปวดตามเนื้อตัว
- เบื่ออาหาร อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
- มีความดันในช่องทรวงอกสูงขึ้น อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ
- เกิดโรคริดสีดวงทวาร
- ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น
- กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- หากท้องผูกเรื้อรังมีโอกาสเกิดลำไส้อุดตัน ท้องอืด ปวดท้อง ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ
วิธีป้องกันท้องผูก
- พยายามการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ทำงานได้เอง ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีกากใย (fiber) มากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ให้มากขึ้น
- ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกวัย ประหยัดและดีต่อสุขภาพ
- การสร้างสุขนิสัยการขับถ่ายใหม่ ขับถ่ายให้เป็นเวลา เมื่อรู้สึกปวดไม่ควรอั้นไว้และไม่ขับถ่ายอย่างรีบเร่ง เพียงเท่านี้ ปัญหาท้องผูกก็ไม่สามารถมารบกวนเราได้แล้ว
10 อาหารที่ช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น
1. ราสเบอร์รี
ราสเบอร์รี่เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีไฟเบอร์สูง เนื่องจากมีปริมาณไฟเบอร์ประมาณ 8 กรัมต่อถ้วยมากกว่าสตรอว์เบอร์รี่ถึงสองเท่า โดยประโยชน์ของไฟเบอร์คือ ช่วยเพิ่มปริมาณของอุจจาระเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายไปยังระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ไฟเบอร์ยังเป็นอาหารที่สำคัญของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
2. ส้ม
นอกจากส้มจะอุดมไปด้วยวิตามินซีแล้วก็ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมวลของอุจจาระได้ อีกทั้งยังมีสารนารินจีนิน (Naringenin) หนึ่งในสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ถูกค้นพบว่าทำหน้าที่คล้ายยาระบาย
3. น้ำเปล่า
การที่ร่างกายขาดน้ำจะส่งผลให้อุจจาระแข็งและเคลื่อนตัวไปยังระบบย่อยอาหารได้ยากและนำไปสู่การเกิดอาการท้องผูก ดังนั้นในแต่ละวันควรดื่มน้ำด้วยปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว
4. คีเฟอร์
คีเฟอร์ (Kefir) เป็นผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านกรรมวิธีการหมักซึ่งอุดมไปด้วยโปรไบโอติก (Probiotics) ที่นับว่าเป็นแบคทีเรียชนิดดีและมีความสำคัญต่อลำไส้ใหญ่ คีเฟอร์มีปริมาณของแบคทีเรียมากกว่าโยเกิร์ตถึงสิบเท่าทำให้อุจจาระอ่อนตัวลงจึงส่งผลดีต่อการขับถ่าย
5. อัลมอนด์
นอกจากถั่วอัลมอนด์จะอุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อหัวใจ โปรตีน และไฟเบอร์แล้ว ก็ยังเป็นแหล่งของโพแทสเซียมด้วย ทั้งนี้โพแทสเซียมสามารถช่วยรักษาสมดุลของกรดในกระเพาะอาหารและทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้สะดวกขึ้น
6. ถั่วดำ
ถั่วดำหนึ่งถ้วยอุดมไปด้วยไฟเบอร์ถึง 15 กรัม อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมที่ช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น
7. ลูกพรุน
นอกจากจะพบไฟเบอร์ปริมาณสูงในลูกพรุนแล้วก็ยังมีสารไดไฮดรอกซีฟีนีลอิซาติน (Dihydroxyphenylisatin) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ สารซอร์บิทอล (Sorbitol) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย และโพแทสเซียมที่มากกว่ากล้วยถึงสองเท่าจึงช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้นด้วย
8. ผักใบเขียว
ตัวอย่างผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักสวิสชาร์ด และผักเคล เป็นต้น ล้วนอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อระบบขับถ่าย ได้แก่ ไฟเบอร์ที่ช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวในลำไส้ได้สะดวกขึ้น แมกนีเซียมและโพแทสเซียมที่ช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อของระบบย่อยอาหารดีขึ้น
9. รำข้าวสาลี
เปลือกของรำข้าวสาลี อุดมไปด้วยไฟเบอร์ถึง 25 กรัมต่อถ้วย จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูกและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นได้
10. ชา กาแฟ
เครื่องดื่มอย่างชาและกาแฟ เป็นที่ทราบกันดีว่า มีสารคาเฟอีนที่สามารถช่วยให้บางคนขับถ่ายได้ดีขึ้น มีผลการวิจัยหนึ่งพบว่า เครื่องดื่มทั้งแบบมีคาเฟอีนและดีแคฟ (Decaf) มีผลทำให้คนประมาณ 30% รู้สึกปวดอุจจาระ สันนิษฐานว่า กุญแจหลักของการเกิดความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากสารที่ทำให้กาแฟมีรสขมอย่างกรดโครโรจีนิก (Chrologenic acid) นั่นเอง
หากแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย รับยาระบายมารับประทาน หรือหากแก้ปัญหาหลากหลายวิธีแต่ก็ยังไม่ได้ผล
แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดลำไส้ใหญ่เพื่อแก้ไขการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้หากแพทย์สงสัยว่า อาการท้องผูกอาจเกิดจากสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื้องอกในลำไส้ แพทย์จะสามารถส่งคุณไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวด้านนั้นๆ ได้ต่อไป