TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยโรคทางสมองและระบบประสาท ซึ่งบางคนอาการดีขึ้นไม่มาก หรือดื้อต่อการรักษาบางวิธี
TMS เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้ามาช่วยรักษาและฟื้นฟูการทำงานของสมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ โดยไม่เป็นอันตราย ไม่เจ็บปวด และยังใช้ร่วมกับการรักษาหลัก อย่างการใช้ยาและการบำบัด ถือเป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่น่าสนใจ
สารบัญ
การกระตุ้นสมองด้วยเครื่อง TMS คืออะไร
TMS ย่อมาจาก Transcranial Magnetic Stimulation เป็นการใช้เครื่องมือทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไปกระตุ้นหรือยับยั้งเซลล์ประสาทบริเวณสมองที่ทำให้เกิดโรค เพื่อช่วยปรับการทำงานของสมองหรือสมดุลของสารเคมีในสมอง โดยไม่ก่อให้เกิดการเจ็บปวด
หลักการทำงานของเครื่อง TMS
เซลล์ประสาท (Neuron) ในสมองทำหน้าที่รับความรู้สึก และส่งต่อข้อมูลด้วยกระแสไฟฟ้าหรือกระแสประสาทไปสู่สมองและทั่วร่างกาย ทำให้เครื่อง TMS ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถส่งผลต่อการทำงานของสมองได้
เครื่อง TMS จะอาศัย 2 หลักการทำงานร่วมกัน คือ ไฟฟ้าและแม่เหล็ก ผู้ป่วยจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คล้ายหมวกไว้ที่ศีรษะ อุปกรณ์นี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดที่เหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถลงลึกไปใต้กระโหลกศีรษะได้ประมาณ 1–3 เซนติเมตร โดยเข้าไปปรับการทำงานของสมองในจุดที่เกิดอาการ อาจเป็นการกระตุ้นหรือยับยั้งเซลล์สมอง ขึ้นอยู่กับทิศทางและขนาดของกระแสไฟฟ้าที่แพทย์ใช้
ประโยชน์ของเครื่อง TMS รักษาโรคได้อะไร
เทคโนโลยี TMS เหมาะกับผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป นำมาใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้ป่วยซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยา ใช้ยาต้านเศร้าเกิน 1 ปี แล้วอาการซึมเศร้าไม่ดีขึ้น เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษา รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
นอกจากนี้ ตามการรับรองขององค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกายังใช้ TMS เป็นทางเลือกในการรักษาโรคทางจิตเวชอื่น ๆ อย่างโรคย้ำคิดย้ำทำ และการเลิกบุหรี่
รวมถึงฟื้นฟูภาวะอ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตัน ลดและป้องกันอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดไมเกรน
ข้อจำกัดของการรักษาด้วยเครื่อง TMS
แม้ TMS จะมีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงต่ำมาก แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางราย จึงจำเป็นต้องปรึกษาและผ่านการประเมินจากแพทย์ก่อนเสมอ เช่น
- ผู้ป่วยที่อาการไม่คงที่ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมองแตก
- ผู้ที่สมองเสียหายจากอาการป่วยหรือการบาดเจ็บ อย่างเนื้องอกที่สมอง
- ผู้ที่มีอุปกรณ์โลหะหรือวัสดุโลหะในร่างกาย โดยเฉพาะที่ใกล้บริเวณศีรษะ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ประสาทหูส่วนในเทียม คลิปหนีบหรือขดลวดในหลอดเลือด หรือเศษกระสุน
- ผู้ที่เสี่ยงต่อการชัก เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยที่มีภาวะถอนพิษสุรา หรือผู้ที่เพิ่งหยุดยานอนหลับ
การเตรียมตัวและขั้นตอนการรักษาด้วยเครื่อง TMS
คืนก่อนเข้ารับการรักษาควรพักผ่อนให้เพียงพอ ในวันที่ต้องเข้ารับการรักษาไม่ควรใส่เครื่องประดับทุกชนิดไป เพราะโลหะอาจเหนี่ยวนำไฟฟ้าและเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยได้
ก่อนการทำ TMS ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพจิต ตรวจร่างกายและประวัติสุขภาพอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยมากที่สุด
โดยจิตแพทย์หรือนักเทคนิคการแพทย์จะเป็นผู้กำหนดตำแหน่งสมองจุดที่ต้องการกระตุ้น และปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เหมาะสม การทำ TMS จะกินเวลาประมาณ 20–40 นาทีต่อครั้ง ตามขั้นตอนดังนี้
- ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้สบาย ๆ แล้วสวมที่อุดหูและอุปกรณ์ที่ศีรษะ
- ผู้เชี่ยวชาญกำหนดตำแหน่งขดลวดบริเวณด้านหน้าของศีรษะและเปิดเครื่อง
- เครื่องจะกระตุ้นสมองสลับพัก วนไปเรื่อย ๆ จนครบเวลา ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนศีรษะถูกเคาะ และได้ยินเสียงคลิก
- หลังเสร็จสิ้นการทำ TMS สามารถกลับบ้านได้เลย เพราะเป็นการรักษาที่ไม่รุกล้ำร่างกาย ไม่เจ็บปวด
ในระยะแรก แพทย์ผู้ดูแลอาจแนะนำให้ผู้ป่วยมาทำ TMS ราว 5 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 4–6 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ความถี่ในการรักษาต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับผลการตอบสนองและความรุนแรงของโรค
การกระตุ้นสมองด้วยเครื่อง TMS มีความเสี่ยงไหม
TMS มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง เพราะไม่ต้องผ่าตัดและฉีดยาชา บางคนอาจผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ใช้เวลาไม่นาน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และอาจลดลงเมื่อรักษาด้วย TMS ในครั้งถัด ๆ ไป
อาการที่อาจพบได้หลังการทำ TMS เช่น รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายหนังศีรษะ เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกหรือเกร็ง หรือมีเสียงดังในหูชั่วคราว
ผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ชัก อารมณ์ดีผิดปกติในผู้ป่วยไบโพลาร์ หรือสูญเสียการได้ยิน อาจเกิดขึ้นได้ แต่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก ๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า TMS เป็นทางเลือกในการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพนอกเหนือจากวิธี หลักอย่างการบำบัดและยา และเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องก็มักมีอาการดีขึ้นใน 2–3 สัปดาห์ หรืออาจหายขาดได้ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข
รู้สึกซึมเศร้า สิ้นหวัง อาการเดิม ๆ ของโรคไม่ดีขึ้น สนใจการรักษาทางเลือกด้วย TMS หรืออยากปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ลองดูโปรจากสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ ที่นี่ จองผ่าน HDmall.co.th ได้รับส่วนลดเพิ่มเติมด้วยนะ