ตรวจไต ต้องต้องอะไรบ้าง? ชอบกินเค็ม กินอาหารรสจัด ดื่มน้ำน้อย อยากรู้ว่าไตเรายังทำงานได้ดีอยู่ไหม? ไม่อยากหาหมอ ตรวจไตด้วยตัวเองได้ไหม? ใครที่กังวล อยากตรวจว่าตัวเองมีความเสี่ยงโรคไตหรือเปล่า ก่อนตรวจไตควรอ่านบทความนี้ เพราะเรารวบรวมข้อมูลที่คุณควรรู้ อธิบายค่าไต ผลเลือด การเตรียมตัวก่อนตรวจไต เอาไว้ให้ครบแล้ว
สารบัญ
โรคไต ไตเสื่อม ไตวาย ไตวายเรื้อรัง คืออะไร
โรคไต (Kidney Disease) คือ โรคที่เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ หรือเสื่อมถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ เช่น ทำให้สารพิษบางส่วนตกค้างในร่างกาย เกิดภาวะการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ ฮอร์โมน และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไตที่พบได้บ่อยคือ ภาวะไตวาย ซึ่งภาวะไตวายนี้ ยังแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
- ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 1-2 วันเท่านั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ร่างกายสูญเสียสารน้ำหรือเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง ร่างกายสูญเสียเลือดปริมาณมาก หรือร่างกายได้รับสารพิษ ภาวะไตวายเฉียบพลันนี้ ต้องได้รับการรักษาในทันที ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ แต่มักใช้เวลารักษาสั้นๆ ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ไตก็จะเริ่มกลับมาทำงานได้ตามปกติ
- โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมการทำงานลงอย่างช้าๆ มักใช้เวลานานเป็นปีๆ ซึ่งการเสื่อมในรูปแบบนี้ ไตจะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ เหมือนภาวะไตวายเฉียบพลัน ต้องใช้วิธีรักษาโดยการประคับประคองอาการ ให้ไตเสื่อมลงช้าที่สุด
แม้ว่าโรคไตจะไม่ใช่สาเหตุอันดับต้นๆ ในการเสียชีวิตของผู้ป่วย แต่ก็นับเป็นโรคเรื้อรัง ที่หากเป็นแล้ว ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงการประคับประคองอาการ หรือชะลอไม่ให้โรครุนแรงขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมก่อนวัย
ทั้งนี้หนึ่งในวิธีการป้องกันไม่ให้ไตเสื่อม ไตวาย เป็นโรคไต คือ การตรวจไต หรือตรวจคัดกรองโรคไตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูการทำงานของไตว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
อยากตรวจไต แต่ไม่รู้ว่า ต้องตรวจอะไรบ้าง? อาการแบบนี้เข้าข่ายโรคไตหรือยัง หรืออยากเช็กราคาค่าตรวจไต ราคาเท่าไร ทักหาแอดมิน HDcare ได้เลย พร้อมช่วยคุณนัดคุณหมอเฉพาะทาง พูดคุยปรึกษาผ่านไลน์ (ฟรี) หรือช่วยหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคได้ ดีลดี จาก รพ. ใกล้บ้านคุณ คลิกที่นี่
ตรวจไต ต้องตรวจอะไรบ้าง ค่าไตต่างๆ หมายความว่าอะไร ต้องตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ?
วิธีการตรวจคัดกรองโรคไตในเบื้องต้นนั้น ทำได้โดยการ ตรวจการทำงานของไต (Kidney Function Tests) ซึ่งมีทั้งการตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพในการทำงาน และตรวจหาความผิดปกติ โดยค่าไตที่นิยมตรวจหลักๆ มีดังนี้
1. การตรวจเลือดหาค่า BUN (Blood Urea Nitrogen)
เป็นการวัดปริมาณไนโตรเจนจากสารยูเรียที่อยู่ในกระแสเลือด โดยยูเรีย ถือเป็นของเสียจากร่างกาย โดยทั่วไปถ้าไตทำงานปกติจะสามารถขับยูเรียออกจากกระแสเลือดได้ดี แต่หากทำงานผิดปกติจะมีปริมาณยูเรียในกระแสเลือดสูง ซึ่งบ่งบอกได้ว่า ไตเริ่มทำงานบกพร่อง
ทั้งนี้ค่า BUN ที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 7-20 mg/dl (ค่าปกติอาจแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล หรือขึ้นอยู่กับน้ำยาที่ใช้ตรวจ แนะนำให้สอบถามแพทย์ผู้อ่านผลเพิ่มเติม)
2. การตรวจเลือดหาค่า Creatinine
เป็นการวัดค่าครีอะตินีน ซึ่งเป็นของเสียจากกล้ามเนื้อ ตามปกติไตจะทำหน้าที่ขับครีอะตินีน ออกทางปัสสาวะ อาจมีเหลือคงค้างในกระแสเลือดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในภาวะที่ไตเสื่อมการทำงาน จะพบของเสียนี้ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ค่าปกติของ Creatinine จะอยู่ระหว่าง 0.6 – 1.2 mg/dL (ค่าปกติอาจแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล หรือขึ้นอยู่กับน้ำยาที่ใช้ตรวจ แนะนำให้สอบถามแพทย์ผู้อ่านผลเพิ่มเติม)
แต่หากค่าครีอะตินีนสูงเกิน 4 mg/dL จะบ่งชี้ว่าการทำงานของไตผิดปกติเข้าขั้นวิกฤตร้ายแรง
3. การตรวจเลือดหาค่า eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate)
เป็นการตรวจวัดค่าอัตราการกรองของเสียของไต โดยคำนวณจาก ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที (หน่วย มล./นาที/1.73 ตร.ม.) ซึ่งค่า eGFR นี้ จะใช้เป็นเกณฑ์การวินิจฉัยระยะของโรคไตวายเรื้อรัง แบ่งระยะของโรคเป็น 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ค่า eGFR > 90 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่อัตราการกรองยังปกติ
- ระยะที่ 2 ค่า eGFR 60-89 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย
- ระยะที่ 3a ค่า eGFR 45-59 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
- ระยะที่ 3b ค่า eGFR 30-44 อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก
- ระยะที่ 4 ค่า eGFR 15-29 อัตราการกรองลดลงมาก
- ระยะที่ 5 ค่า eGFR < 15 ไตวายระยะสุดท้าย
4. การตรวจปัสสาวะเบื้องต้น (Urine Examination)
โดยหลักแล้ว การตรวจปัสสาวะเบื้องต้น จะใช้เพื่อดูพฤติกรรมการดื่มน้ำ โดยในผู้ที่ร่างกายปกติจะมี ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจะอยู่ที่ 1.005-1.030 หากมีค่าเกินกว่าที่กำหนด แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ หรือหมายถึงดื่มน้ำน้อยเกินไป
5. การตรวจปัสสาวะหาค่า UMA (Urine Microalbumin)
เป็นการวัดปริมาณโปรตีนอัลบูมิน หรือ โปรตีนไข่ขาว ในปัสสาวะ โดยปกติโปรตีนจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านการกรองของไต ไม่ควรพบโปรตีนในปัสสาวะ อาจพบได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากออกกำลังกายอย่างหนัก มีภาวะขาดน้ำ มีไข้ ใกล้มีรอบเดือน หรือรับประทานเนื้อสัตว์เยอะ
แต่หากพบว่ามีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะเป็นจำนวนมาก แสดงว่าร่างกายมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง
ทั้ง 5 รายการที่กล่าวมานี้ เป็นการตรวจหลักๆ ที่มักใช้ตรวจคัดกรองโรคไต แต่บางสถานพยาบาลอาจมีการตรวจหาค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไตเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด เช่น
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
- ตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA1C)
- ตรวจระดับเกลือแร่ (Electrolyte) เพื่อดูค่า SODIUM (Na), POTASSIUM (K) และ Bicarbonate (CO2)
- ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด (Uric Acid)
นอกจากนี้อาจมีการตรวจอัลตราซาวด์ดูลักษณะของไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของสถานพยาบาลนั้นๆ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจไต
การตรวจไต จะต้องมีการเก็บตัวอย่างเลือดหรือปัสสาวะ จึงต้องอาศัยการเตรียมตัวเล็กน้อยเพื่อลดโอกาสที่ผลจะคลาดเคลื่อน ดังนี้
- แจ้งประวัติโรคประจำตัวทุกชนิด รวมถึงยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิด
- งดน้ำและงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง แต่สามารถดื่มน้ำเปล่า
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันตรวจหรือเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศให้เรียบร้อยก่อนเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อลดการปนเปื้อนจนผลตรวจคลาดเคลื่อน
- สำหรับผู้หญิง ควรเลือกช่วงเวลาตรวจหลังมีประจำเดือนวันสุดท้าย 7 วัน เพื่อไม่ให้เลือดประจำเดือนปะปนไปกับน้ำปัสสาวะ จนผลตรวจอาจคลาดเคลื่อนได้
ขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรคไต มีอะไรบ้าง?
ขั้นตอนการตรวจไตจะคล้ายกับการตรวจสุขภาพทั่วไป คือ มีการเจาะเก็บตัวอย่างเลือด และจะมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
การเจาะเลือดตรวจไต มีขั้นตอนดังนี้
- เจ้าหน้าที่หรือพยาบาล จะให้ผู้รับการตรวจนั่งลง พร้อมวางแขนลงบนหมอนรองแขนในลักษณะหงายมือ และเหยียดตรง
- จากนั้นใช้สายยางรัดแขนเหนือบริเวณที่เจาะ 3-4 นิ้ว
- เจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจกำมือแน่นๆ พร้อมหาตำแหน่งที่จะเจาะเลือดที่เหมาะสม
- ทำความสะอาดบริเวณที่เจาะ โดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์
- ใช้เข็มเจาะเก็บตัวอย่างเลือด
- เมื่อเก็บตัวอย่างเลือดเสร็จ จะปิดแผลด้วยสำลีและพลาสเตอร์จนแน่น พร้อมให้ผู้รับการตรวจยืดแขนต้อง ห้ามงอ หรือพับแขน แล้วกดแผลไว้ 5-10 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล
การเก็บปัสสาวะตรวจไต มีขั้นตอนดังนี้
- เจ้าหน้าที่จะให้กระปุกมีฝาปิด เพื่อเก็บตัวอย่างปัสสาวะในห้องน้ำ
- ผู้เข้ารับการตรวจ ต้องตรวจสอบว่าชื่อที่ติดอยู่ข้างกระปุกนั้นถูกต้อง
- ก่อนเก็บตัวอย่างปัสสาวะ ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องล้างมือให้สะอาด
- จากนั้นปัสสาวะออกสักเล็กน้อย แล้วเลือกเก็บเฉพาะน้ำปัสสาวะช่วงกลาง โดยให้ปัสสาวะในช่วงแรกและช่วงท้ายทิ้งไป
- ปิดฝากระปุก แล้วล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง
- ตรวจดูความสะอาดบริเวณรอบภาชนะและปิดฝาให้เรียบร้อย
- นำกลับไปส่งให้กับเจ้าหน้าที่หรือพยาบาล
เมื่อได้ตัวอย่างเลือดแล้วตัวอย่างปัสสาวะแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล
ตรวจไตด้วยตัวเอง ตรวจได้ไหม?
วิธีการตรวจไตที่กล่าวไปในข้างต้นนั้น ผู้รับบริการต้องตรวจในสถานพยาบาล และอ่านผลโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งบางคนอาจไม่สะดวกในการเดินทาง
แต่ปัจจุบันสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ ได้มีการพัฒนา ชุดทดสอบไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Microalbuminuria Rapid Test)
เป็นชุดตรวจหาโปรตีนไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Micro Albuminuria) ซึ่งเป็นสารที่บ่งชี้โรคไตเรื้อรังได้ชัดเจนที่สุด
ลักษณะของชุดตรวจจะคล้ายกับชุดตรวจโควิด-19 ATK หรือชุดตรวจครรภ์ ผู้รับบริการสามารถเก็บตัวอย่างจากปัสสาวะได้ง่ายๆ และตรวจคัดกรองโรคไต พร้อมทราบผลได้เลยภายใน 15 นาที โดยมีความแม่นยำประมาณ 87%
ชุดทดสอบนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตรวจคัดกรองโรคไตในระยะเริ่มต้นได้ โดยจะแสดงผลว่าปัสสาวะ มีโปรตีนรั่วหรือไม่ แต่ทั้งนี้ถ้าผู้รับบริการต้องการทราบค่าการทำงานที่ละเอียด หรือตรวจพบว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะจริง ก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลเพิ่มเติม
โรคไต ไตเสื่อม หรือโรคไตวายเรื้อรัง จัดเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงประคับประคองอาการ ชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมก่อนวัย และหมั่นตรวจคัดกรองโรคไตอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง เพราะหากเริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยง จะได้รีบปรับพฤติกรรม วางแผนรักษาได้ทันก่อนสายเกินไป
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไตไหม? อยากคุยกับคุณหมอ นัดตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย