tonsil adenoid treatment faq

หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ ดูแลตัวเองยังไง ห้ามกินอะไร ภูมิคุ้มกันลดลงไหม

ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมอะดีนอยด์โต เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ หากเป็นความผิดปกติที่ไม่รุนแรง ร่างกายอาจเยียวยาตัวเองได้ โดยไม่ต้องกินยาใดๆ แต่หากเป็นเรื้อรัง รุนแรง หรืออาการเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้ผลดี

แต่หลายคนอาจกังวลว่า การผ่าตัดต่อมทอนซิลออก จะต้องดูแลตัวเองยังไง พักฟื้นนานไหม มีแผลเป็นหรือเปล่า และที่สำคัญ จะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงหรือเปล่า ทุกข้อสงสัยของคุณ เรามีคำตอบให้ในบทความนี้แล้ว

1. หลังผ่าตัดต่อมทอลซินและต่อมอะดีนอยด์ จะมีแผลเป็นไหม?

ตอบ: การผ่าตัดต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ เป็นการผ่าตัดภายในช่องปาก โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปผ่าตัด ทำให้ไม่มีแผลเป็นให้เห็นภายนอก ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลเรื่องแผลเป็นแต่อย่างใด

2. หลังผ่าตัดต้องพักฟื้นนานไหม นอน รพ. กี่วัน พักที่บ้านกี่วัน?

ตอบ: การผ่าตัดต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน หลังผ่าตัดแพทย์มักให้นอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 1 คืน หากผู้ป่วยไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ สามารถรับประทานอาหารได้ ไม่มีไข้ ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มเติม ก็สามารถกลับบ้านไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

โดยทั่วไปจะให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมทั่วไปได้ตามปกติ 

3. หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ ห้ามกินอะไร?

ตอบ: การผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ เป็นการผ่าตัดในช่องปาก หลังการผ่าตัดจึงต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารมากกว่าปกติ เพื่อลดความเสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อ ปริ หรืออักเสบภายหลัง โดย 1-2 สัปดาห์แรก หลังการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารต่อไปนี้

  • อาหารแข็ง หรือเหนียว ที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยว เช่น ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ เนื้อแดง ปลาหมึก เป็นต้น
  • อาหารร้อน เช่น หากรับประทานโจ๊กหรือข้าวต้ม ควรรอให้เย็นสนิทก่อน  
  • อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็น เผ็ดจัด หวานจัด เค็มจัด หรือเปรี้ยวจัดจนเกินไป รวมไปถึงผลไม้ที่มีรสจัดด้วย เช่น มะขาม สับปะรด เลมอน ฯลฯ เพื่อไม่ให้ระคายคอ และเกิดการไอ จาม หรือสำลัก 
  • อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะของทอด ที่จะทำให้เกิดการระคายคอ   
  • อาหารที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการไอ จาม หรือสำลัก เพราะอาจทำให้แผลปริ เลือดออกได้

4. หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ ควรกินอะไร?

ตอบ: เพื่อให้แผลผ่าตัดสมานตัวได้รวดเร็ว และฟื้นตัวได้ดี ควรรับประทานอาหารต่อไปนี้

  • อาหารที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม กลืนได้สะดวก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป แกงจืด
  • อาหารที่มีรสชาติอ่อน ปรุงรสชาติให้น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายคอ
  • อาหารเย็น หรืออยู่ในอุณหภูมิห้อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระคายเคือง
  • หมั่นอมน้ำแข็งบ่อยๆ จะช่วยลดอาการบวมในช่องปาก และทางเดินหายใจได้

5. หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ ควรหรือไม่ควรทำอะไรบ้าง

ตอบ: สิ่งที่ควรทำหลังการผ่าตัด เพื่อให้การฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น ได้แก่

  • รักษาความสะอาดภายในช่องปาก โดยหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ต้องบ้วนปากและแปรงฟันทุกครั้ง ป้องกันการติดเชื้อ
  • ในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด พยายามนอนโดยยกศีรษะสูง เพราะหลังผ่าตัด ระบบทางเดินหายใจอาจจะบวมกว่าปกติ
  • หมั่นประคบเย็นบ่อยๆ จะช่วยลดอาการบวม 
  • รับประทานยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ และยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

สิ่งที่ควรงด หรือหลีกเลี่ยงหลังการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงที่แผลจะปริ ติดเชื้อ หรืออักเสบภายหลัง ได้แก่

  • ช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด งดใช้เสียง เลี่ยงการตะโกน 
  • หลีกเลี่ยงการไอ จามแรงๆ ขากเสมหะ 
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ออกกำลังกาย หรือการออกแรงมาก
  • งดว่ายน้ำ หรือแช่น้ำไปก่อน จนกว่าแผลจะสมานดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือสำลักน้ำ
  • งดสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันแผลระคายเคืองหรือติดเชื้อ

6. หลังจากตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออกแล้ว ภูมิคุ้มกันจะลดลงไหม ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?

ตอบ: เนื่องจากหน้าที่หลักของต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์คือ ดักจับเชื้อโรค ดังนั้นหลายคนอาจกังวลใจว่า หากผ่าตัดออกแล้ว ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะลดลงหรือไม่ 

จริงๆ แล้ว เมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป ทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์เอง จะไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ฉะนั้นการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก จึงไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง 

นอกจากนี้ในร่างกายยังมีต่อมน้ำเหลืองอีกมาก ที่ทำหน้าที่ดักจับและทำลายเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลในส่วนนี้

แต่ในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี อาจจะต้องให้แพทย์พิจารณาข้อดี-ข้อเสียอีกครั้ง เพราะหากต่อมอะดีนอยด์โต จนอุดกั้นทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น ความสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ มีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น หัวใจทำงานหนักเกินไป กรณีนี้แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดออก

ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ต่อมอะดีนอยด์โต นอนกรน ทำยังไงดี ต้องผ่าตัดเลยไหม? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดต่อมทอนซิลอละต่อมอะดีนอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top