lower back and leg pain scaled

ปวดหลัง ขาอ่อนแรง ชาบริเวณปลายเท้า รักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด

อาการปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยกของหนัก นั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง การเล่นกีฬา หรือเป็นอาการปวดหลังในผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหลังร่วมกับขาอ่อนแรง ชาบริเวณปลายเท้า หรือปวดร้าวลงขา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจัย และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้

ทำไมปวดหลังร่วมกับขาอ่อนแรง หรือชาบริเวณปลายเท้า ถึงเป็นอันตราย?

ในโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการปวดร้าวลงมาที่ขาร่วมกับมีอาการชาบริเวณปลายเท้า ถือเป็นอาการในระดับปานกลางค่อนไปทางรุนแรง ซึ่งเกิดจากหมอนรองกระดูกชิ้นใหญ่เคลื่อนและปลิ้นออกมาเบียดรากเส้นประสาท แต่ยังสามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด

อย่างไรก็ตาม หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา หมองรองกระดูกอาจเคลื่อนออกมากดทับรากประสาททุกเส้น ทำให้มีอาการปวดร่วมกับไม่สามารถอุจจาระและปัสสาวะได้ ถือเป็นอาการรุนแรงมากที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดโดยด่วน เพราะอาจทำให้ระบบขับถ่ายฟื้นคืนช้า หรืออาจจะไม่ฟื้นคืนเลย

ดังนั้นอาการปวดหลังร่วมกับขาอ่อนแรง หรือชาบริเวณปลายเท้าจึงจัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดหลังที่เป็นอันตรายนั่นเอง

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สาเหตุเกิดจากอะไร ป้องกันได้ไหม?

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • การใช้งานที่มากเกินไป โดยเฉพาะการยกหรือแบกของหนักเป็นประจำ
  • การใช้งานผิดท่า เช่น ก้มยกของโดยไม่ระวัง ก้มๆ เงยๆ มากไป หรือนั่งท่าเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะจะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมองรองกระดูก หรือกระดูกสันหลังได้ไม่ดีพอ ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นจนหมอนรองกระดูกเสื่อมได้ในที่สุด
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ กระดูกสันหลังลีบ หรือฝ่อจนเสียความสมดุล
  • เป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มอ้วนลงพุง เพราะจะทำให้หลังแอ่นมาก ส่งผลให้หมอนรองกระดูกมีโอกาสเสื่อม แตก หรือปลิ้นได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

วิธีป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ง่ายที่สุด สามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องยกของหนักก็ควรยกด้วยท่าที่เหมาะสม เช่น งอเข่าหลังตรง เพื่อใช้แรงจากกล้ามเนื้อขาแทนการก้มตัว

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แม้ว่าจะทำการรักษาแล้ว แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้จากความเสื่อมหรือการใช้งานผิดท่า

อย่างไรก็ตาม นักกายภาพบำบัดจะช่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น ท่าทางการนั่ง การเดิน การยืน รวมไปถึงแนะนำท่ากายบริหารที่ควรทำในแต่ละวัน ช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้

นอกจากนี้การออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันโรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจกายภาพบำบัด


ที่มาของข้อมูล

  • europepmc.org, Effects of Repetitive Peripheral Magnetic Stimulation on Patients With Acute Low Back Pain: A Pilot Study (https://europepmc.org/article/PMC/5940599).
  • ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์, โอย! ปวดหลังจัง (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=817).
  • med.cmu.ac.th, เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
  • รศ.นพ. วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ, โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคที่ป้องกันได้.
Scroll to Top