การทำกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งในเทคนิคฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันการทำกายภาพบำบัดมีด้วยกันหลายรูปแบบ สำหรับใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน
ในบทความนี้จะมาพูดถึงการกายภาพบำบัดประเภทที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ นั่นก็คือ กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
สารบัญ
กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedic physical) หรือบางคนอาจเรียกชื่อตรงตัวว่ากายภาพบำบัดแบบออร์โธปิดิกส์ เป็นการกายภาพเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal) ประกอบไปด้วย
- กล้ามเนื้อ
- กระดูก
- เอ็น และเส้นเอ็น
- พังผืด (Fascias)
- เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue)
โดยนักกายภาพบำบัดจะสามารถประเมินอาการของคุณ หรือทำงานร่วมกับแพทย์ที่รักษา เพื่อกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคุณ
กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเหมาะกับใคร?
นักกายภาพบำบัดด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedic physical therapists) สามารถให้การรักษาฟื้นฟูอาการที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้เกือบทุกประเภท
ผู้ที่ีเหมาะกับการทำกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ อาจมีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่กระดูกหัก (Fractures)
- ผู้ที่มีภาวะข้ออักเสบ (Arthritis) และโรคไลม์ (Lyme disease)
- ผู้ที่เป็นโรคข้อไหล่ติด (Frozen shoulder)
- ผู้ที่ข้อเข่ามีปัญหา
- ผู้ที่มีอาการเคล็ดขัดยอก
- ผู้ที่มีอาการเอ็นอักเสบ
- ผู้ที่ถุงน้ำข้อต่ออักเสบ (Bursitis)
- ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายได้จำกัด
- ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังจากการผ่าตัดกระดูก
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้ที่มีอาการปวดหลัง
- ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)
- ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy)
- ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ผู้ที่เป็นโรครองช้ำ (Plantar fasciitis) หรือเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้า
- ผู้ที่กระดูกสันหลังคด (Scoliosis)
- นักกีฬาที่ต้องการคำแนะนำการ และบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง
โดยนักกายภาพบำบัดที่ทำการรักษาตามจุดประสงค์ดังกล่าว ก็อาจมีความเชี่ยวชาญต่างกันออกไป เช่น นักกายภาพบำบัดที่ให้บริการผู้สูงอายุ นักกีฬา หรือผู้ป่วยโดยเฉพาะ
กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อมีกี่วิธี?
นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ จะทำการประเมินอาการของคุณจากการซักประวัติ การสังเกตการเคลื่อนไหวของคุณ จากนั้นจะกำหนดแผนการรักษาให้เหมาะสมกับคุณให้
โดยนักกายภาพบำบัดจะคอยดูการเคลื่อนไหวคุณอย่างต่อเนื่อง และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับคุณที่สุดเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม โดยวิธีการกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ อาจมีดังนี้
- การประคบร้อน และเย็น (Hot and cold therapy) นักกายภาพบำบัดอาจใช้ทั้งการบำบัดด้วยความร้อน และความเย็นร่วมกันเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม นอกจากนี้ความร้อนและความเย็น สามารถช่วยป้องกันความเสียหายของกล้ามเนื้อ แต่ความเย็นสามารถใช้กับกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายทันทีเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ด้วย
- การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย (Exercise therapy) นักกายภาพบำบัดอาจออกแบบแผนการออกกำลังกายให้เฉพาะบุคคล ซึ่งมักเน้นเรื่องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว และสร้างสมดุล
- การบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical stimulation) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาทผ่านผิวหนัง (TENS) ช่วยบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน และการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (NMES) เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และฟื้นฟูอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
- การใช้เครื่องดึงคอ (Traction) เป็นการใช้เครื่องมือสร้างแรงดึงแยกผิวข้อต่อกระดูก เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว มักใช้กับผู้ที่มีอาการปวดคอ ปวดหลังส่วนล่าง นักกายภาพบำบัดอาจใช้เครื่องมือ หรือใช้มือก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
- การใช้วารีบำบัด (Hydrotherapy) หรือธาราบำบัด ซึ่งเป็นการออกกำลังกายในสระน้ำ หรืออ่างน้ำวน เพราะในสระน้ำมีแรงต้านที่อ่อนโยน อาจช่วยให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- กายภาพบำบัดด้วยการขยับข้อ (Joint mobilization) เป็นเทคนิคการขยับข้อต่อไปในทิศทางต่างๆ ที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กล้ามเนื้อคลาย ลดอาการเกร็ง และลดอาการปวด
โดยสรุปแล้ว การทำกายภาพบำบัดมีด้วยกันหลากหลายเทคนิคที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับอาการของแต่ละคน สำหรับคนที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง แพทย์อาจเป็นผู้ประเมินว่าช่วงไหนควรรับการกายภาพบำบัดเสริม
แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บร้ายแรง หากมีอาการปวดหลัง ข้อขัดตามจุดต่างๆ ก็สามารถใช้กายภาพบำบัดได้เช่นกัน
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจกายภาพบำบัด
ที่มาของข้อมูล
- Lori Smith, BSN, MSN, CRNP, How can physical therapy help?, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/160645), 8 March 2011.
- Rebecca Joy Stanborough, How Can Orthopedic Physical Therapy Help You?, (https://www.healthline.com/health/orthopedic-physical-therapy), 29 June 2020.
- อ. พญ. ปรัชญพร คำเมืองลือ, เครื่องมือทางกายภาพบําบัด.