การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง (MTF sex reassignment surgery) แปลงน้องชายให้เป็นน้องสาว มักเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการแปลงเพศชายเป็นหญิง
หลังจากที่ผ่านการรับฮอร์โมนเพศหญิงและใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือผ่าตัดอวัยวะแสดงเพศอื่นๆ เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนเสียง กรอลูกกระเดือก หรือผ่าตัดเสริมหน้าอกเรียบร้อยแล้ว และยังคงมีความต้องการผ่าตัดแปลงเพศเพื่อการเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับใครที่สนใจผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง แล้วอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงมาตรฐาน HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้แล้ว อ่านได้ที่บทความนี้เลย
สารบัญ
- การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ คืออะไร?
- ความแตกต่างระหว่างเทคนิคต่อกราฟ และเทคนิคใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับ เป็นอย่างไร?
- เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ
- ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด มีอะไรบ้าง?
- ขั้นตอนผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นอย่างไร?
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นอย่างไร?
- การดูแลหลังผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นอย่างไร?
- ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ ราคาเท่าไหร่?
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ คืออะไร?
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ คือการผ่าตัดแปลงเพศโดยใช้ผิวหนังอวัยวะเพศเดิม ได้แก่ ผิวหนังขององคชาต และถุงอัณฑะ มาสร้างเป็นช่องคลอดใหม่
จัดเป็นวิธีการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงมาตรฐานที่ศัลยแพทย์นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะทำง่าย ไม่ซับซ้อนมาก และมีความเสี่ยงต่ำ
โดยการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ จะเหมาะสำหรับผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงครั้งแรก ที่มีผิวหนังองคชาตเดิมเพียงพอ มีความยาวขององคชาตมากกว่า 4 นิ้ว และไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
ความแตกต่างระหว่างเทคนิคต่อกราฟ และเทคนิคใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับ เป็นอย่างไร?
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับ เป็นวิธีผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงแบบดั้งเดิม โดยศัลยแพทย์จะนำเอาผิวหนังขององคชาตสอดกลับเข้าไปตกแต่งทำเป็นช่องคลอด
แต่วิธีนี้ มักพบปัญหาผิวหนังองคชาตเดิมไม่เพียงพอ ทำให้ได้ช่องคลอดที่ไม่ลึกมาก จึงจำเป็นต้องนำผิวหนังส่วนอื่นมาต่อ จึงพัฒนาไปเป็นเทคนิคต่อกราฟนั่นเอง
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟนั้น ศัลยแพทย์จะเอาผิวหนังถุงอัณฑะมาต่อกับผิวหนังองคชาตเดิม เพื่อเพิ่มความลึกของช่องคลอดให้ได้ตามที่ต้องการ และเพียงพอต่อการใช้งาน
หากผิวหนังองชาตรวมกับผิวหนังถุงอัณฑะยังไม่เพียงพอต่อการบุผนังช่องคลอดให้ได้ความลึกตามที่ต้องการ ก็สามารถนำผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ขาหนีบ ต้นขา หรือหน้าท้อง มาเพิ่มได้
อย่างไรก็ตาม ผิวหนังที่เอามาใช้ในการบุผนังช่องคลอดนั้น ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มเนื้อเยื่อชนิดที่ไม่มีเยื่อเมือกธรรมชาติเหมือนกัน จึงทำให้ในบางครั้งก็ถูกเรียกรวมกันว่าเทคนิคต่อกราฟนั่นเอง
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ
ข้อดีของการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ
- เป็นวิธีที่ทำง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก
- ไม่ต้องผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง จึงไม่รบกวนอวัยวะภายในช่องท้อง และไม่เสี่ยงเป็นแผลเป็นนูนบริเวณหน้าท้อง
- สามารถนำอวัยวะเดิมของผู้เข้ารับการผ่าตัดมาตกแต่ง และใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
- ใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดด้วยเทคนิคอื่นๆ
ข้อเสียของการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ
- เนื้อเยื่อที่ใช้ในการบุผนังช่องคลอด เป็นเนื้อเยื่อชนิดที่ไม่มีเยื่อเมือกธรรมชาติ จึงทำให้ช่องคลอดแห้ง และเสี่ยงต่อการตีบตันสูง จึงจำเป็นต้องใส่วัสดุขยายช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ
- เนื่องจากช่องคลอดไม่มีสารหล่อลื่น จึงต้องใช้เจลหล่อลื่นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลถลอกจากการเสียดสี
- ในกรณีที่ผิวหนังองคชาตเดิมไม่สามารถสร้างความลึกได้เพียงพอ แพทย์จะต้องใช้ผิวหนังส่วนอื่นๆ มาเสริม เช่น ผิวหนังบริเวณต้นขาด้านใน ขาหนีบ หน้าท้อง ซึ่งจะทำให้เพิ่มแผลผ่าตัด 1 จุด และทำให้การผ่าตัดซับซ้อนขึ้น
- เนื่องจากเนื้อเยื่อที่ใช้บุผนังช่องคลอดได้มาจากผิวหนังที่มีขน จึงอาจทำให้มีขนขึ้นภายในช่องคลอด และส่งผลให้ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการทำเลเซอร์กำจัดขนบริเวณผิวหนังรอบอวัยวะเพศ อย่างน้อย 3-5 ครั้งก่อนผ่าตัด
ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด มีอะไรบ้าง?
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ มีเลือดคั่ง เลือดออก ติดเชื้อ แผลบวม รอยช้ำ เลือดออก หรือปวดแผล
- ปากช่องคลอดตีบตัน เกิดจากการไม่ขยายช่องคลอดด้วยแท่งขยายช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อลำไส้ หรือเยื่อบุช่องท้อง
- ท่อปัสสาวะตีบตัน ในเบื้องต้นแพทย์จะระบายน้ำปัสสาวะออก โดยการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้น้ำปัสสาวะออก แล้วคาสายสวนไว้ หรือใส่เครื่องมือขยายท่อปัสสาวะ หลังจากนั้นถึงจะหาสาเหตุของการอุดกั้น และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
- เนื้อตาย สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดตกแตกบริเวณที่เนื้อตายใหม่อีกครั้ง
- แคมใหญ่ หรือแคมเล็ก มีขนาดไม่เท่ากัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดตกแตกแคมหลังผ่าตัดแปลงเพศ
- ไม่พอใจในขนาดและรูปทรงของช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และคลิตอริส สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดแปลงเพศใหม่
- มีแผลเป็น หรือคีลอยด์ ที่บริเวณหน้าท้อง หรือต้นขา ในกรณีที่ต้องนำผิวหนังส่วนอื่นมาใช้ในการบุผนังช่องคลอดเพิ่ม
- ความรู้สึกทางเพศลดลง
ขั้นตอนผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นอย่างไร?
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 4-6 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนทั่วไปดังนี้
- สร้างช่องคลอดเทียม โดยการกรีดผิวหนังระหว่างถุงอัณฑะและรูทวารหนัก แล้วเลาะโพรงเข้าไปจนใกล้กับเยื่อบุช่องท้อง ความลึกและความกว้างของช่องคลอดเทียมจะแตกต่างกันไปตามสรีระของแต่ละคน โดยทั่วไปในคนเอเชียสามารถสร้างช่องคลอดได้ลึกประมาณ 5-6 นิ้ว
- ตัดแกนองคชาตออก และเก็บเส้นประสาทรับความรู้สึกทางเพศ เพื่อเตรียมทำปุ่มรับความรู้สึกทางเพศ หรือที่เรียกว่า “คลิตอริส (Clitoris)”
- ตัดท่อปัสสาวะเพศชายให้สั้นลง แล้วตกแต่งให้สามารถปัสสาวะพุ่งลงเหมือนผู้หญิง
- เลาะเอาอัณฑะออก เก็บผิวหนังที่หุ้มไว้ โดยผิวหนังของอัณฑะและองคชาตจะถูกดันเข้าไปในช่องคลอดที่เลาะไว้เพื่อสร้างเป็นผนังช่องคลอด ถ้าผิวหนังไม่พอ สามารถเอาผิวหนังจากบริเวณขา หรือลำไส้ใหญ่ มาเสริมได้
- ตกแต่งบริเวณภายนอก ได้แก่ แคมนอก (Major Labia) แคมใน (Minor Labia) ท่อปัสสาวะ และปุ่มรับความรู้สึกทางเพศ ให้สวยงามเหมือนอวัยวะเพศหญิง
- ใส่ผ้าก๊อซเข้าไปในช่องคลอดเพื่อป้องกันไม่ให้โพรงตีบแคบ โดยแผลผ่าตัดจะหายภายใน 7-14 วัน และอาจจะต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 7 วัน
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นอย่างไร?
การเตรียมก่อนเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือการเตรียมตัวเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศได้ และการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงเป็นไปอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีรายละเอียดดังนี้
1. หลักเกณฑ์ของผู้ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง
- มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในกรณีที่มีอายุ 18-20 ปี จะต้องให้ผู้ปกครองเซ็นเอกสารยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
- ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นคนข้ามเพศ (Gender Dysphoria) และมีใบรับรองจากจิตแพทย์จำนวน 2 ใบ โดยใบรับรองจะต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน ก่อนวันผ่าตัด
- ในกรณีที่การผ่าตัดแปลงเพศครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาช่องคลอดตีบตัน ไม่ต้องใช้ใบรับรองจากจิตแพทย์
- ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอันตรายต่อการผ่าตัด หรือเป็นข้อห้ามในการดมยาสลบ
- ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง หรือที่เรียกว่า “เทคฮอร์โมน” ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี
- ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง 24 ชั่วโมง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี
2. การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง
- ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด และเอ็กซเรย์ อย่างละเอียด หากพบว่า มีความผิดปกติ หรือมีโรคประจำตัว แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินความเสี่ยงร่วมด้วย
- หยุดยาฮอร์โมนข้ามเพศทุกชนิดก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำระหว่างการผ่าตัด (Deep venous thrombosis)
- หยุดรับประทานยา หรือสมุนไพร ที่ทำให้เลือดออกง่าย อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) วิตามินอี น้ำมันตับปลา คอลลาเจน โสม หรือกระเทียม
- งดสูบบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบนิโคติน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หมากฝรั่งนิโคติน หรือแผ่นแปะสำหรับเลิกบุหรี่ ก่อนการผ่าตัด อย่างน้อย 2 เดือน
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
- รักษาสุขอนามัยอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ
การดูแลหลังผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ เป็นอย่างไร?
ในช่วง 7 วันแรกหลังการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล โดยจะมีทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด มีรายละเอียดดังนี้
- ในช่วง 1-2 วันแรกหลังการผ่าตัด จะต้องนอนอยู่ในท่านอนหงาย ยกสะโพกให้สูง และแยกขาทั้ง 2 ออกจากกันเล็กน้อย เพื่อลดอาการบวม
- วันที่ 3 หลังการผ่าตัด สามารถนอนตะแคงได้
- วันที่ 4 หลังการผ่าตัด แพทย์จะถอดสายระบายเลือดเสียออก และเปิดแผลทำความสะอาดแผล
- วันที่ 6 หลังการผ่าตัด แพทย์จะเปิดแผลทำความสะอาดแผล และเอาผ้าก๊อซที่อยู่ในช่องคลอดออก
- วันที่ 7 หลังการผ่าตัด แพทย์จะถอดสายสวนปัสสาวะออก และอนุญาตให้กลับบ้านได้
- แพทย์จะนัดหมายให้กลับมาตัดไหม และตรวจติดตามอาการทุกๆ 1 สัปดาห์ จนกว่าจะครบ 1 เดือน (ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล)
ในช่วงที่กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ผู้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น
- ทำความสะอาดแผลพร้อมกับขยายช่องคลอด ทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที จนกว่าแผลภายนอกและภายในช่องคลอดจะหายสนิทดี
- หลังขับถ่าย และขยายช่องคลอด ควรทำความสะอาดบาดแผลร่วมกับทายาทุกครั้ง และสวมใส่ผ้าอนามัยเพื่อซึมซับคราบเลือด โดยทั่วไปแผลผ่าตัดจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- หลังขยายช่องคลอดเสร็จ ควรสวนล้างช่องคลอดทุกครั้ง โดยใช้ยาโพวิโดนไอโอดีนชนิดน้ำผสมกับน้ำเกลือ ในอัตราส่วน 1:10 (เช่น ผสมน้ำ 100 ซีซี เข้ากับยา 10 ซีซี) แนะนำปริมาณครั้งละ 100-200 ซีซี
- ห้ามนั่งยอง หรือแยกขาก่อนที่แผลผ่าตัดจะหายสนิท เนื่องจากจะทำให้แผลปริแยกได้
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำสบู่สวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- งดมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน
- ในช่วง 1 ปีแรกจะต้องขยายช่องคลอดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 30-60 นาที โดยค่อยๆ เพิ่มขนาดตามที่แพทย์สั่ง เมื่อครบ 1 ปีแล้ว สามารถขยายช่องคลอดสัปดาห์ละ 1 ครั้งได้ โดยใช้แท่งขยายช่องคลอดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
แนวทางการดูแลหลังผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาล
เพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด หรือเจ้าหน้าที่
ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ ราคาเท่าไหร่?
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ด้วยเทคนิคต่อกราฟ ราคาประมาณ 130,000-200,000 บาท ขึ้นอยู่กับโปรโมชันของแต่ละสถานพยาบาล โดยส่วนใหญ่ มักรวมค่าแพทย์ ค่าห้องพัก และการดูแลหลังการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว
การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง จะเลือกเทคนิคการสร้างช่องคลอดเทียมแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความต้องการของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ขนาดของอวัยวะเพศเดิม งบประมาณ และการประเมินของแพทย์ จึงไม่สามารถตอบได้ว่าวิธีไหนเหมาะกับใครที่สุด
ดังนั้นผู้ที่ต้องการแปลงเพศชายเป็นหญิงจึงควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด เพื่อวางแผนการรักษา และเลือกเทคนิคการสร้างช่องคลอดเทียมที่เหมาะสมกับตนเอง