mental health myths disease misunderstanding scaled

รวมเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพจิตและอารมณ์ใน 8 ข้อ

สุขภาพจิตและอารมณ์เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้และถูกเข้าใจผิดได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง หลายคนเลือกที่จะเมินเฉย ละเลย ด้วยความคิดว่าอารมณ์หรือความรู้สึกแง่ลบเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวก็หายไป 

แต่ความเป็นจริงอาจไม่ได้ง่ายอย่างนั้น และอาจยิ่งทำให้สุขภาพจิตและอารมณ์แย่ลง ยิ่งพังและแตกสลายจากข้างในมากขึ้น มาดูกันว่าคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพจิตและอารมณ์ในเรื่องอะไรกันบ้าง

1. มีปัญหาทางใจ ให้ดูแลที่สุขภาพจิต 

ข้อเท็จจริง: จริงอยู่ปัญหาที่เกิดกับจิตใจก็ต้องเริ่มแก้ไขที่จิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับความรู้สึกตัวเอง การฝึกควบคุมอารมณ์ การมองเห็นคุณค่าหรือขอบคุณตัวเอง 

แต่การใส่ใจสุขภาพทางร่างกายก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจเรานั้นเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกันได้ 

ลองสังเกตได้ง่าย ๆ ในคนสุขภาพแข็งแรงมักจะมีสุขภาพจิตที่ดีไปด้วย ในทางกลับกัน คนที่มีสุขภาพจิตใจไม่ปกติ อารมณ์ห่อเหี่ยว สุขภาพร่างกายมักจะไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร ฉะนั้น นอกจากการดูแลจิตใจแล้ว อย่าลืมดูแลคุณภาพชีวิตพื้นฐาน เพื่อให้สุขภาพกายและใจดีไปพร้อมกัน เช่น 

  • กินอาหารมีประโยชน์ อาจเริ่มจากอาหารที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ สารอาหารที่ครบถ้วนจะช่วยเป็นพลังงานให้กับร่างกาย และยังทำให้เราอารมณ์ดี ลดความวิตกกังวลและความเครียดได้ แค่ได้กลิ่นของโปรดก็ยิ้มได้แล้วคือไม่เกินจริง   
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกกีฬาที่เหมาะกับตัวเองและอินกับมันที่สุด จะได้ไม่รู้สึกเบื่อ วิธีนี้จะช่วยลดความรู้สึกเครียด ซึมเศร้า ทำให้เราอารมณ์ดีมากขึ้นได้ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและนอนให้เป็นเวลา เพราะการนอนนั้นส่งผลต่ออารมณ์ เห็นได้ชัดว่าเวลาเรานอนไม่พอก็จะรู้สึกหงุดหงิดหรือฉุนเฉียวง่ายกว่าปกติ ในระยะยาวอาจเสี่ยงซึมเศร้าอีกด้วย      

2. เครียด เศร้า แค่นี้ไม่ต้องหาหมอก็ได้

ข้อเท็จจริง: บางคนอาจมีความคิดว่ารู้สึกเศร้าได้ก็หายได้ เข้าวัด ฟังธรรมสิ จะวิตกกังวลอะไรขนาดนั้น ทำไมจะต้องไปหาหมอด้วย อันที่จริงหากสามารถควบคุมอารมณ์ได้ถือเป็นเรื่องน่ายินดี 

แต่ก็มีหลายคนที่ยากจะจัดการและควบคุมอารมณ์ในแง่ลบเหล่านั้น โดยเฉพาะสภาวะทางจิตใจไม่ปกติที่เกิดจากการทำงานของสมองหรือพันธุกรรมในครอบครัว

นานวันเข้าก็อาจแย่ลง ความรู้สึกที่ฝังลึกโดยไม่ได้รับการระบาย รักษา หรือบำบัดจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตที่รุนแรงและเกิดการสูญเสียได้ในที่สุด

3. เด็กไม่มีปัญหาสุขภาพจิตหรอก

ข้อเท็จจริง: ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เด็กก็มีปัญหาได้ เพียงแค่เราอาจไม่เคยสังเกตหรือคิดว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้เท่านั้นเอง 

เด็กเล็กที่ยังสื่อสารกับพ่อแม่ไม่ได้ หรือสื่อสารได้ไม่ได้ดี อาจแสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเครียด ความเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตให้เห็นได้ เช่น พูดช้า ดื้อซน ก้าวร้าวผิดปกติ มีปัญหาการกินหรือนอน

ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่า เด็กในช่วงวัยเรียนเป็นช่วงอารมณ์แปรปรวนหรือต้องการเรียกร้องความสนใจเป็นปกติอยู่แล้วจากพฤติกรรม เช่น ดื้อมาก ต่อต้าน ไม่อยากไปโรงเรียน มีปัญหากับเพื่อนหรือครู ติดเพื่อน ติดเกม 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไม่มีความเศร้าหรือความเครียดเกิดขึ้น เด็กแค่ต้องการคนที่เข้าใจในตัวพวกเขา เช่น เด็กเรียนเก่งก็อาจมีความกดดันสูงจนเครียดและวิตกกังวล เด็กที่โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนอาจรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือเด็กที่มีฐานะยากจนอาจสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป

ตามสถิติแล้วมีเด็กวัยรุ่นทั่วโลกกว่า 40% ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยเฉพาะในช่วงอายุ 14 หรือช่วงม.ต้น และปัญหานี้ยังเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในเด็กช่วงอายุ 10-19 ปี ด้วย   

4. คนมีปัญหาสุขภาพจิตทุกคนเป็นคนรุนแรง 

ข้อเท็จจริง: ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคนที่มีอาการป่วยทางจิตบางประเภทมักจะแสดงพฤติกรรมรุนแรง และคาดเดาไม่ได้ออกมา แต่ก็มีจำนวนไม่มาก

คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่มีพฤติกรรมรุนแรง แม้แต่ผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) เองที่เป็นโรคทางจิตรุนแรงก็มักไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง กลับกันแล้วคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่มักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเสียมากกว่า 

5. คนมีปัญหาสุขภาพจิตทำงานไม่ได้ ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ข้อเท็จจริง: แม้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตขั้นรุนแรงจะไม่สามารถทำงานหรือดูแลตัวเองได้ก็จริง แต่หากได้รับคำปรึกษา บำบัด รักษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างถูกวิธีแล้ว ปัญหาสุขภาพที่ควบคุมได้มักไม่กระทบต่อการทำงาน คนที่มีปัญหาสุขภาพทางจิตและอารมณ์ส่วนใหญ่ก็จะทำงานได้ไม่ต่างจากคนสุขภาพจิตปกติ 

6. ปัญหาสุขภาพจิตรักษาไม่ได้

ข้อเท็จจริง: ปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์สามารถรักษาและฟื้นฟูได้เช่นเดียวกับโรคทางกาย หลังได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธีแล้ว ผู้ป่วยก็มักหายดีและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ  

ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของตัวเองได้ก็ควรไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อให้คุณหมอช่วยประเมินอาการ และวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

สัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิตที่ควรสังเกต เช่น

  • เป็นทุกข์ วิตกังวล เครียด ซึมเศร้าอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมหายไป
  • หวาดระแวง อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรงผิดปกติ 
  • โฟกัสกับการทำงานไม่ได้ หลง ๆ ลืม ๆ
  • ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยไม่ยั้งคิด 
  • มีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนมากผิดปกติ
  • ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ในปริมาณมาก
  • ปลีกตัวออกจากสังคม มีความคิดทำร้ายตัวเอง

7. คนอ่อนแอจะมีปัญหาสุขภาพจิตได้ง่าย

ข้อเท็จจริง: ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ที่ดูแข็งแรงหรืออ่อนแอ ทุกคนสามารถมีปัญหาสุขภาพจิตได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ประสบการณ์ส่วนตัว กรรมพันธุ์ การทำงานของสมอง ฐานะทางสังคม หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว    

8. ปัญหาสุขภาพจิตป้องกันไม่ได้

ข้อเท็จจริง: ที่จริงแล้ว เราสามารถลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ได้หลายวิธี โดยอาจเริ่มที่ตัวเองก่อนเลย ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ฝึกมองโลกแง่บวก พยายามเลือกมองในด้านที่ดี และมีความหวังในการแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว
  • รู้สึกขอบคุณต่อสิ่งรอบตัว แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้การมองโลกเปลี่ยนไป
  • ใช้เวลาหรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิด โดยอาจจะหาเวลาโทรคุยหรือนัดเจอกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนที่รู้สึกไว้วางใจเป็นระยะ
  • ยามต้องเผชิญปัญหากระทบกับจิตใจ ลองฝึกควบคุมอารมณ์ หยุดคิดเรื่องเครียดต่าง ๆ ตลอดเวลา และหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด 
  • ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกายดี กินอาหารที่ดี มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ 
  • อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเมื่อจำเป็น หากมีปัญหาสุขภาพจิต ความรู้สึกแง่ลบ ไม่ควรแบกไว้คนเดียว ควรบอกเล่าให้เพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดฟัง เพื่อระบายความรู้สึก และรับฟังความคิดเห็นจากมุมอื่น หรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

แม้ปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์จะเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมากขึ้นในทุกวันนี้ แต่ก็ยังมีเรื่องเข้าใจผิดที่ยังฝังลึกในสังคมเรามากมาย

หากเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ ก็อย่าละเลยจนปัญหานั้นคุกคามชีวิตเรา สามารถติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 หรือไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาและรักษาอย่างถูกวิธี

เครียด เศร้า หันไปกินเหล้า สูบบุหรี่ แค่นี้ก็เป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพแล้ว อย่าปล่อยให้ใจพังจนกายพังตาม อยากปรึกษาคุณหมอ หรือหาแพ็กเกจดูแลจิตใจและอารมณ์ HDmall.co.th คัดมาให้แล้ว ได้โปรดีพร้อมส่วนลดทุกการจอง คลิกที่นี่ 

อยากให้แอดมิน HDmall.co.th ช่วยแนะนำแพ็กเกจปรึกษาจิตแพทย์ หรือแพ็กเกจดูแลสภาพจิตใจอื่น ๆ จากสถานพยาบาลใกล้บ้านได้เลย ทักแชทเลย! 

Scroll to Top