bariatric surgery treatment faq

8 เรื่องที่คนอยากรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะ

การผ่าตัดกระเพาะ เป็นหนึ่งในตัวช่วยทางการแพทย์ที่จะช่วยลดน้ำหนักอย่างได้ผล หลักการคือผ่าตัดปรับแต่งกระเพาะให้มีขนาดเล็กลง ร่างกายจึงรับอาหารได้น้อยลง กินไม่มากแต่อิ่มเร็วขึ้น โดยอาจทำร่วมกับการตัดต่อลำไส้เล็ก เพื่อให้ทางเดินอาหารสั้นลง ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง

ปัจจุบันเทคนิคผ่าตัดกระเพาะที่นิยมกัน ได้แก่ ผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ ผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส และผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟพลัสบายพาส

หลายคนอาจสนใจการลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับเราหรือไม่ HDcare จึงรวบรวบเรื่องสำคัญๆ ที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจผ่าตัด พร้อมคำตอบแบบละเอียดมาให้ในบทความนี้แล้ว

1. น้ำหนักเยอะ ลดยาก อยากผอม สามารถเลือกผ่าตัดกระเพาะได้เลยไหม?

ตอบ: การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค จุดประสงค์หลักไม่ใช่การผ่าตัดเพื่อให้รูปร่างดูดีขึ้น โดยทั่วไปผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาโดยแพทย์ เช่น

  • เป็นโรคอ้วนระยะรุนแรง ทราบได้คร่าวๆ จากการมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป
  • เป็นโรคอ้วน และมีภาวะสุขภาพรุนแรง เรื้อรัง ที่มีสาเหตุจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง เป็นโรคลมหลับ

ถ้ามีภาวะสุขภาพดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับพยายามลดน้ำหนักตัวด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว แต่ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีปรับพฤติกรรมด้วยตนเอง หรือลดน้ำหนักด้วยตัวช่วยทางการแพทย์ นอกจากนี้กลับมีแนวโน้มที่ภาวะสุขภาพดังกล่าวจะแย่ลง แพทย์จึงค่อยพิจารณาให้ผ่าตัดกระเพาะ

2. ผ่ากระเพาะแล้ว ลดน้ำหนักได้เท่าไหร่?

ตอบ: การผ่าตัดกระเพาะเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ให้ผลในระยะยาว โดยทั่วไปให้ผู้รับการผ่าตัดมักลดน้ำหนักส่วนเกินได้มากกว่า 50% ภายใน 2 ปีแรก

ถ้าเปรียบเทียบ 3 เทคนิคที่นิยมในประเทศไทย ได้แก่ ผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ ผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส และผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟพลัสบายพาส 

เทคนิคที่ลดน้ำหนักได้มากที่สุด คือ 

  1. การผ่าตัดแบบสลีฟพลัสบายพาส (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) สามารถลดได้ประมาณ 80-90% ของน้ำหนักส่วนเกิน
  2. การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส (Roux-en-Y หรือ Gastric Bypass) สามารถลดได้ 70% ของน้ำหนักส่วนเกิน
  3. การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy) สามารถลดได้ประมาณ 50-60% ของน้ำหนักส่วนเกิน

3. ผ่ากระเพาะ เจ็บไหม?

ตอบ: การผ่าตัดกระเพาะแพทย์จะระงับความรู้สึกด้วยวิธีวางยาสลบ ผู้รับการผ่าตัดจึงไม่รู้สึกอะไรระหว่างผ่าตัด แต่เมื่อยาสลบหมดฤทธิ์แล้ว อาจรู้สึกเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด หรืออาจรู้สึกปวดเมื่อย เป็นผลมาจากการจัดท่าทางขณะผ่าตัด บางคนอาจรู้สึกปวดคอหรือไหล่ได้ เนื่องจากร่างกายดูดซับแก๊ส คาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ระหว่างผ่าตัด โดยความรู้สึกเจ็บปวดนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด 

ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องถ้ารู้สึกเจ็บหรือปวดแผล คือ ควรแจ้งให้พยาบาลทราบทันที ไม่จำเป็นต้องอดทนจนเจ็บปวดรุนแรงก่อน แพทย์จะพิจารณาปริมาณยาและความถี่ของการรับประทานยาที่เหมาะสม เพื่อให้บรรเทาอาการปวดได้อย่างปลอดภัย 

นอกจากนี้ควรสังเกตตัวเองเป็นระยะ ถ้าหลังผ่าตัดรู้สึกเจ็บแผลมากจนขยับร่างกายไม่ได้ หรือกังวลว่าอาจมีความผิดปกติ ควรแจ้งพยาบาลหรือแพทย์ทันทีเช่นกัน

4. กระเพาะเล็กแล้ว เมื่อไหร่ที่รู้สึกหิวก็กินได้เลยใช่ไหม?

ตอบ: การผ่าตัดกระเพาะมักส่งผลให้อิ่มเร็วขึ้น รู้สึกหิวน้อยลง และสารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง แต่ผู้รับการผ่าตัดกระเพาะจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วย

ถ้าหลังผ่าตัดยังกินเยอะหรือไม่เลือกชนิดอาหารรับประทานตามที่แพทย์แนะนำ อาจเกิดผลต่อไปนี้

  • ร่างกายฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ไม่ดี
  • ปวดท้อง แน่นท้อง เป็นตะคริว
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • น้ำหนักไม่ลดตามที่ควรจะเป็น
  • กระเพาะที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดอาจยืดขยายออกมาได้

5. หลังผ่ากระเพาะแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

ตอบ: หลังผ่าตัดกระเพาะแล้ว ไม่ว่าจะใช้เทคนิคแบบสลีฟ บายพาส หรือสลีฟพลัสบายพาส ผู้รับการผ่าตัดมักต้องงดเว้นการรับประทานอาหารไปก่อนประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้แผลภายในระบบทางเดินอาหารสมานตัว หลังจากจึงเริ่มรับประทานอาหารตามที่แพทย์กำหนดให้ โดยมักเริ่มด้วยของเหลว แล้วค่อยๆ ปรับเป็นอาหารอ่อนนุ่ม แล้วจึงให้รับประทานอาหารปกติ โดยจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการรับประทานและเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่แพทย์แนะนำ เช่น

  • รับประทานอาหาร 3 มื้อต่อวันและหลีกเลี่ยงการกินระหว่างมื้อ
  • รับประทานอาหารอย่างช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดที่สุด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ
  • จำกัดอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด โดนัท คุ้กกี้ ขนมอบ ฯลฯ ไม่ให้เกิน 3 กรัมต่อการรับประทาน 1 ครั้ง
  • เมื่อรู้สึกหายหิวแล้วให้หยุดรับประทานทันที
  • รับประทานโปรตีนให้ได้อย่างน้อย 60-80 กรัมต่อวัน
  • ดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวัน โดยดื่มระหว่างมื้อ แทนที่จะดื่มพร้อมๆ กับมื้ออาหาร
  • ออกกำลังกายได้ให้อย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยอาจเริ่มจากออกกำลังกายเบาๆ ระยะเวลานั้นๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้น

ช่วงเดือนแรกๆ หลังผ่าตัด ผู้รับการผ่าตัดต้องเข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะ ในการตรวจนี้นอกจากพบแพทย์แล้วยังมักมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

6. หลังผ่าตัดกระเพาะ อาจเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ตอบ: หลังผ่าตัดกระเพาะ ผู้รับการผ่าตัดอาจสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายที่ไม่พึงประสงค์ แต่ข้อดีคือ ความเปลี่ยนแปลงหรือผลข้างเคียงเหล่านี้บางอย่างจะเป็นแค่ชั่วคราว บางอย่างแก้ไขได้ด้วยวิธีทางการแพทย์

  • ปากมีรสขม เป็นปกติหลังผ่าตัด อาการนี้จะค่อยๆ หายไปเองในไม่กี่สัปดาห์
  • มีลมในท้องเพิ่มขึ้น เป็นปกติเช่นกันโดยเฉพาะหลังผ่าตัดใหม่ๆ สามารถรับประทานยาบรรเทาได้ (จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา)
  • ผมร่วง เกิดจากน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว แต่มักดีขึ้นเองภายใน 3-6 เดือน สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมไบโอติน โปรตีน ธาตุเหล็ก หรือซิงก์ รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • มีอาการปวดท้อง ท้องอืด มีแก๊สในท้อง หรือท้องเสียเมื่อดื่มนม บ่งชี้ถึงภาวะแพ้แลคโตส อาจต้องเปลี่ยนมาดื่มนมแลคโตสฟรีหรือนมถั่วเหลือง
  • หลังหรือระหว่างรับประทานอาหารมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน เป็นอาการบ่งบอกว่าร่างกายได้รับอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป ควรปรับพฤติกรรมโดยรับประทานให้น้อยหรือให้ช้าลง
  • ผิวหนังหย่อนคล้อย เกิดจากน้ำหนักลดลงมากภายในเวลารวดเร็ว สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีออกกำลังกาย ถ้าต้องการให้ผิวที่หย่อนนั้นหายไป กลายเป็นผิวเรียบตึงเลย อาจต้องปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมพลาสติกเพื่อผ่าตัดผิวหนัง

7. ถ้าเป็นหรือเคยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร สามารถผ่าตัดกระเพาะได้ไหม?

ตอบ: ขึ้นอยู่กับว่าโรคที่เป็นคืออะไร จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่แพทย์ให้ครบถ้วน ก่อนพิจารณาผ่าตัด

สำหรับผู้ที่มีโรคที่ต้องตรวจส่องกล้องหาความผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ ถ้ารับการผ่าตัดกระเพาะด้วยเทคนิคบายพาส จะไม่สามารถตรวจส่องกล้องได้ เนื่องจากทางเดินอาหารถูกปรับแต่งไป การผ่าตัดกระเพาะด้วยเทคนิคสลีฟหรือสลีฟพลัสบายพาสอาจเหมาะสมกว่า

8. ใช้เวลานานเท่าไหร่ แผลภายในกระเพาะหรือลำไส้ที่ผ่าตัดไปถึงจะหายสนิท?

ตอบ ประมาณ 6-9 เดือน ในระยะนี้จึงต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระเพาะยืด ทางเดินอาหารอุดตัน หรือผลข้างเคียงอื่นๆ

การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักเป็นการผ่าตัดใหญ่ มีข้อดีที่จะช่วยลดน้ำหนักได้จริง แต่ก็มีผลข้างเคียงไม่น้อย ที่สำคัญคือผู้รับการผ่าตัดจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวร่วมด้วย การผ่าตัดจึงจะได้ผลดีเต็มที่

ถ้าไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดกระเพาะนี้เหมาะกับเราจริงๆ หรือไม่ ยิ่งหาข้อมูลเยอะยิ่งลังเลเพราะดูเป็นเรื่องใหญ่ ลองปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางให้สบายใจ แค่ทักมาหา HDcare คลิกเลย

Scroll to Top