uterine fibroid cervical cancer screening faq

10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจเนื้องอกมดลูกและมะเร็งปากมดลูก

1. ตรวจเนื้องอกมดลูก มะเร็งปากมดลูก ด้วยตัวเองได้ไหม?

ตอบ: การตรวจเนื้องอกมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก จำเป็นต้องตรวจโดยแพทย์ เพื่อความแม่นยำ แต่เราสามารถสังเกตอาการผิดปกติเพื่อคัดกรองโรคในเบื้องต้นได้ โดยอาการบ่งชี้มีดังนี้

  • ปวดท้องรุนแรงผิดปกติ ระหว่างมีประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อยแม้ในช่วงไม่มีประจำเดือน และมักปวดอยู่บ่อยครั้ง 
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ 
  • ประจำเดือนมีลิ่มเลือดปน
  • มีตกขาวเป็นมูก ปนหนอง หรือตกขาวมีสีออกน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย มักพบในกรณีที่เนื้องอกไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องผูก มักพบในกรณีที่เนื้องอกไปกดทับลำไส้
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย หรือผู้ป่วยบางรายอาจท้องโตขึ้นคล้ายกับตั้งครรภ์ประมาณ 4-5 เดือน
  • เกิดภาวะมีบุตรยากหรือแท้งบุตร

ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติเหล่านี้ทั้งหมด หากพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

2. การตรวจเนื้องอกมดลูก ตรวจวิธีไหนบ้าง ?

ตอบ: หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการคล้ายกับมีภาวะเนื้องอกในมดลูก แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรตรวจด้วยวิธีใด ซึ่งวิธีการตรวจนั้นก็ขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค โดยวิธีตรวจที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  • การตรวจภายใน 
  • ตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้องหรือช่องคลอด 
  • ตรวจเลือด เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง
  • การขูดมดลูก 
  • การส่องกล้องโพรงมดลูก
  • การดูดชิ้นเนื้อโพรงมดลูก 
  • การตรวจ MRI 
  • การฉีดสีดูท่อนำไข่

การตรวจเนื้องอกมดลูก มีกี่วิธี แต่ละวิธีมีขั้นตอนอย่างไร เจ็บไหม อาการแบบนี้ เหมาะกับวิธีอะไร อ่านต่อได้ในบทความนี้เลย คลิกอ่านต่อ

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก มีกี่แบบ?

ตอบ: วิธีตรวจโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  • การตรวจภายใน วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติเบื้องต้นของระบบสืบพันธุ์ได้อย่างชัดเจน และหากพบความผิดปกติ ก็สามารถเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ด้วย
  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์ลักษณะคล้ายไม้พายขนาดเล็ก และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก นิยมตรวจพร้อมกับการตรวจภายใน
  • การตรวจตินแพร็พ (ThinPrep) เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกเช่นกัน แต่จะใช้อุปกรณ์ที่เป็นแปรงขนาดเล็กแทนไม้พายขนาดเล็กซึ่งใช้เพื่อตรวจแปปสเมียร์
  • การตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก และมักพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
  • การส่องกล้องปากมดลูก เป็นการใช้กล้องส่องตรวจบริเวณปากมดลูก เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เยื่อบุผิวที่ปากมดลูก นิยมตรวจในกรณีผลตรวจแปปสเมียร์ ตินแพร็พ หรือผลตรวจ HPV DNA มีความผิดปกติ
  • การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก นิยมตรวจในกรณีที่ผลตรวจคัดกรองเบื้องต้นวินิจฉัยโรคไม่ชัดเจนมากพอ หรือผลตรวจแปปสเมียร์ ตินแพร็พ หรือผลตรวจ HPV DNA มีความผิดปกติ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีกี่วิธี แต่ละวิธีมีขั้นตอนอย่างไร เจ็บไหม อาการแบบนี้ เหมาะกับวิธีอะไร อ่านต่อได้ในบทความนี้เลย คลิกอ่านต่อ

4. ตรวจมะเร็งปากมดลูก เจ็บไหม?

ตอบ: การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งในแต่ละวิธีก็จะให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยส่วนมากจะให้เพียงความรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวบริเวณช่องคลอดมากกว่าอาการเจ็บ โดยแต่ละวิธีผู้รับบริการอาจรู้สึกดังนี้

  • การตรวจภายใน ส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกเจ็บ หรืออาจเจ็บ หรือหน่วงๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาการเจ็บมักเกิดจากผู้เข้ารับการตรวจ เกร็งบริเวณช่องคลอด ฉะนั้นขณะตรวจควรผ่อนคลาย จะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บใดๆ
  • การตรวจแปปสเมียร์ / การตรวจตินแพร็พ เป็นการตรวจที่มักทำพร้อมการตรวจภายใน ไม่ให้ความรู้สึกเจ็บเช่นกัน แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายช่องคลอดได้เล็กน้อย ในผู้ที่ไม่เคยตรวจมาก่อน เพราะร่างกายไม่ชินกับอุปกรณ์ที่มาสัมผัส
  • การตรวจ HPV DNA มีขั้นตอนการตรวจคล้ายกับการตรวจตินแพร็พ และไม่ก่ออาการเจ็บใดๆ เช่นกัน
  • การส่องกล้องปากมดลูก ในกรณีส่องกล้องเพียงอย่างเดียว หลังส่องกล้องอาจมีอาการปวดระบมช่องคลอดได้บ้าง แต่อาการมักจะไม่รุนแรงและสามารถกินยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้ แต่ในกรณีส่องกล้องและมีการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเติมด้วย ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บได้บ้าง และมีเลือดออกหลังตรวจได้เล็กน้อย แต่อาการจะไม่รุนแรง ไม่ต้องพักฟื้น และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหลังตรวจ
  • การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ผู้เข้ารับการตรวจสามารถเลือกระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือการวางยาสลบก่อนตัดชิ้นเนื้อได้ เพื่อป้องกันอาการเจ็บระหว่างทำหัตถการ 

5. ตรวจมะเร็งปากมดลูก เริ่มตรวจตั้งแต่อายุเท่าไร?

ตอบ: การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 2 กรณี

  1. ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเริ่มตรวจคัดกรองด้วยวิธีตรวจแปปสเมียร์ หรือตินแพร็พ 3 ปีหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และตรวจอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 1 ปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี โดยไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม สามารถทิ้งระยะห่างเป็นตรวจทุก 2-3 ปีได้ แต่ในส่วนของการตรวจสุขภาพและการตรวจภายใน ยังควรตรวจทุกปี
  2. ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ สามารถเริ่มตรวจคัดกรองด้วยวิธีตรวจแปปสเมียร์ หรือตินแพร็พ ได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี และไม่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม สามารถทิ้งระยะห่างเป็นการตรวจทุก 2-3 ปีได้ และยังต้องตรวจสุขภาพและการตรวจภายในทุกปี 

6. ตรวจมะเร็งปากมดลูก แต่ละปีตรวจกี่ครั้ง?

ตอบ: ความถี่ในการตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสุขภาพในผู้หญิงแต่ละคน โดยทั่วไปจะตรวจปีละ 1 ครั้ง แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ติดเชื้อ HPV กำลังได้รับยาเคมีบำบัด ยาสเตียรอยด์ หรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ในปีแรกๆ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจปีละ 2 ครั้ง หลังจากนั้นจะปรับเป็นปีละ 1 ครั้ง

7. ตรวจมะเร็งปากมดลูก รอผลกี่วัน?

ตอบ: ระยะเวลารอผลตรวจมะเร็งปากมดลูกจะแตกต่างกันไปตามวิธีการตรวจ

  • การตรวจภายใน สามารถฟังผลตรวจได้ภายในวันเดียวกัน
  • การตรวจแปปสเมียร์ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล ในบางแห่งอาจรอผลตรวจประมาณ 2-3 วันเท่านั้น บางแห่งอาจต้องรอประมาณ 1-3 สัปดาห์
  • การตรวจตินแพร็พ ระยะเวลารอผลตรวจประมาณ 1-3 สัปดาห์
  • การตรวจ HPV DNA ระยะเวลารอผลตรวจประมาณ 1-3 สัปดาห์
  • การส่องกล้องปากมดลูก สามารถฟังผลตรวจได้ภายในเวลาเดียวกัน
  • การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ระยะเวลารอผลตรวจประมาณ 1-2 สัปดาห์

8. ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี ThinPrep ต้องตรวจทุกกี่ปี?

ตอบ: ในผู้ที่อายุ 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจ ThinPrep ทุก 1 ปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถเว้นระยะห่างเป็นตรวจทุก 2-3 ปีได้

9. ควรตรวจ HPV DNA ทุกกี่ปี?

ตอบ: การตรวจ HPV DNA สามารถตรวจได้ทุก 5 ปี

10. ตรวจ ThinPrep กับ HPV DNA ต่างกันยังไง?

ตอบ: การตรวจ ThinPrep กับการตรวจ HPV DNA มีขั้นตอนการตรวจที่เหมือนกัน แต่ต่างกันด้วยวัตถุประสงค์ในการตรวจ

การตรวจ ThinPrep มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเชื้อไวรัส HPV ส่วนการตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจเพื่อหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV ที่เสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็งปากมดลูก

อย่างไรก็ตาม แพทย์มักแนะนำให้ตรวจทั้ง 2 วิธีร่วมกันเพื่อการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกที่ครอบคลุมที่สุด 

การตรวจเนื้องอกมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะส่วนใหญ่โรคทางนรีเวชมักไม่แสดงอาการใดๆ กระทั่งโรคเข้าสู่ระยะลุกลามรุนแรง จึงเริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจทำให้การรักษาซับซ้อนหรือเป็นไปได้ยากขึ้น

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช การตรวจภายใน จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top