colon cancer screening process scaled

เช็กก่อนสาย! ไม่อยากเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจคัดกรองได้ก่อน

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ อีกโรค หนึ่งในเหตุผลที่มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคร้ายที่ต้องระวัง นั่นก็เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่มักไม่มีอาการในช่วงแรก ผู้ป่วยจึงไม่รู้ว่าตนเองกำลังป่วยอยู่ กว่าจะรู้ตัวก็อยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว ปัจจุบันเลยมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หลากหลายวิธี ช่วยให้ตรวจหาร่องรอยของโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และรับการรักษาได้ทันท่วงที วันนี้ HDmall รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มาฝาก ตามมาดูกันเลย! 

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจสุขภาพบริเวณลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เพื่อดูความผิดปกติและหาร่องรอยของโรค สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจอุจจาระ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตรวจด้วยการสวนแป้งแบเรียม ซึ่งการเลือกวิธีไหนนั้น แพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ความเสี่ยงของผู้ป่วยว่ามีความเสี่ยงของโรคอยู่ในระดับใด ความพร้อมของตัวผู้ป่วยเอง ก่อนจะแนะนำวิธีที่เหมาะสมมากที่สุด

ประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่รักษาได้ยาก หรือทำได้แค่ประคับประคอง นั้นเป็นเพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ตอนอาการรุนแรงหรือเป็นโรคในระยะสุดท้ายแล้ว  การตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญอย่างมากและมีประโยชน์ ดังนี้

  1. ลดความเสี่ยงมะเร็งในอนาคต การตรวจคัดกรองในคนที่ไม่มีอาการ พบว่าร้อยละ 20 มักเจอติ่งเนื้อบริเวณลำไส้ ที่เรียกว่า โพลิป (Polyp) เมื่อปล่อยไว้ 5-10 ปี อาจพัฒนากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ เมื่อตรวจคัดกรองแล้วพบติ่งเนื้อ แพทย์จะแนะนำให้ตัดออกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งในอนาคต
  2. ตรวจเจอมะเร็งระยะแรกก่อนลุกลาม การตรวจเจอมะเร็งในระยะแรกแล้วรีบรักษา ยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ เพราะอย่างที่บอกไปการตรวจเจอมะเร็งในระยะท้าย โอกาสในการรักษาให้หายมีน้อยมาก และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง

ใครควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเมื่อไหร่ควรตรวจ

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดได้ในทุกเพศทุกวัย กลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจคัดกรอง คือ 

  • คนทั่วไปอายุ 50 ปีขึ้นไป และไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำใส้ใหญ่ 
  • คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งชนิดอื่น  แนะนำให้ตรวจคัดกรองก่อนช่วงอายุที่พบคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น แม่เป็นมะเร็งลำไส้ตอนอายุ 50 ปี ลูกควรตรวจตอนอายุ 40 ปี ถ้าผลตรวจปกติ แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 10 ปี 
  • คนที่เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง มีประวัติตรวจเจอติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือมีปัญหาการขับถ่ายอยู่บ่อยครั้ง เช่น ท้องผูกสลับกับท้องเสีย ขับถ่ายแล้วมีเลือดปน 

ปกติแล้วการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มักแนะนำให้ตรวจในผู้ชายและผู้หญิงอายุ 50 ปี ขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนอายุน้อยมากขึ้น หน่วยงานหลายแห่งเลยมักแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป

มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง ตรวจก่อน เจอก่อน มีโอกาสรักษาหายได้! จองแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ราคาพิเศษเฉพาะที่ HDmall.co.th คลิก!

4 วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และการเตรียมตัวก่อนตรวจ

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีวิธีการตรวจ 4  วิธี ดังนี้

1.การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test)

เป็นการหาความผิดปกติในอุจจาระเบื้องต้น ทำได้ง่าย แต่มีความแม่นยำน้อยกว่าวิธีอื่น จึงเหมาะกับคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปที่ไม่มีความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ การตรวจอุจจาระแนะนำว่าควรตรวจทุกปี สามารถตรวจได้ทั้งที่สถานพยาบาล หรือซื้ออุปกรณ์มาตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน หากผลการตรวจขึ้นขีดเดียวแสดงว่า ผลออกมาเป็นลบ (Negative) ซึ่งเป็นค่าปกติ แต่หากตรวจแล้วผลขึ้น 2 ขีด แสดงผลออกมาเป็นบวก (Positive) ซึ่งบ่งบอกได้ว่ามีเลือดปะปนออกมากับอุจจาระ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

การเตรียมตัวก่อนตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ

  • งดรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง สัตว์เนื้อแดง และลดปริมาณการรับประทานวิตามินซีก่อนตรวจประมาณ 3 วัน 
  • คนที่เป็นริดสีดวงทวาร ควรเก็บตัวอย่างอุจจาระในช่วงที่ไม่มีเลือดออก 
  • คนที่มีประจำเดือน ควรตรวจหลังจากหมดประจำเดือน
  • หากมีอาการท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้ใหญ่บวมอักเสบ เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคติ่งเนื้ออักเสบในลำไส้ใหญ่ จำเป็นต้องรักษาให้หายก่อนตรวจ

2.การตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

เป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำที่สุด โดยจะใช้กล้องขนาดเล็กสอดผ่านเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อดูลำไส้โดยตรง หากพบติ่งเนื้อ แพทย์สามารถตัดติ่งเนื้อออกได้ทันทีโดยอาจไม่ต้องผ่าตัด และเก็บตัวอย่างติ่งเนื้อนำไปวินิจฉัยได้พร้อมกัน แนะนำให้ตรวจในคนอายุ 50 ปี หรือมีความเสี่ยงของโรคสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากไม่พบความผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำในช่วง 5-10 ปี

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้อง

  • แจ้งประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยาให้แพทย์ทราบก่อนตรวจ เพราะจำเป็นต้องงดยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กประกอบ และยาต้านการเกาะตัวของเลือด อย่างแอสไพลิน ก่อนการตรวจ 7 วัน  
  • งดรับประทานผักผลไม้ทุกชนิดและอาหารที่มีกากใย 2 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
  • รับประทานอาหารย่อยง่าย รสอ่อน และไม่มีสี เช่น โจ๊ก ซุปใส 
  • รับประทานยาระบายตามแพทย์สั่ง และงดอาหารหลังจากนั้น 

3. การตรวจด้วยการสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema)

เป็นการใช้แป้งแบเรียมหรือสารทึบรังสีสวนเข้าไปทางทวารหนักให้เคลือบผนังลำไส้ แล้วเอกซเรย์หาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจลำไส้ที่มีประสิทธิภาพ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจด้วยการสวนแป้งแบเรียม

  • แจ้งประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยาให้แพทย์ทราบก่อนตรวจ
  • ก่อนเข้ารับการตรวจ 2-3 วัน ให้รับประทานอาหารย่อยง่าย รสอ่อน และไม่มีสี เช่น โจ๊ก ซุปใส 
  • งดอาหารและน้ำ 6-8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ  
  • รับประทานยาระบายก่อนเข้ารับการตรวจตามแพทย์สั่ง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการเปลี่ยน เพราะก่อนการตรวจจะต้องเปลี่ยนชุดตามที่ถูกจัดไว้ให้

4. การถ่ายภาพลำไส้ใหญ่เสมือนจริงด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Virtual Colonoscopy: VC)

เป็นการใช้คลื่นสนามแม่เหล็กในการถ่ายภาพ โดยภาพจะแสดงลำไส้ตั้งแต่ส่วนล่างสุดของลำไส้ใหญ่ไปจนถึงส่วนล่างสุดของลำไส้เล็ก ในรูปแบบสองมิติและสามมิติ การตรวจด้วยวิธีนี้ ไม่เพียงแต่หาความผิดปกติในลำไส้เท่านั้น แต่ยังดูผนังลำไส้ด้านนอกและอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องได้ด้วย  

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการถ่ายภาพเสมือนจริงด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

  • แจ้งประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยาให้แพทย์ทราบก่อนตรวจ
  • ก่อนเข้ารับการตรวจ 1 วัน ให้รับประทานอาหารที่มีลักษณะเหลวและใส อย่างซุปใส  
  • งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มหลังเที่ยงคืนก่อนเข้ารับการตรวจ

ผลข้างเคียงของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองทุกวิธีแทบจะไม่มีการเจ็บปวดใด ๆ จากการตรวจ การตรวจด้วยการสวนแป้งแบเรียม และการถ่ายภาพเสมือนจริงด้วยการเอกซเรย์ อาจทำให้แน่นท้อง อยากผายลม หรืออยากอุจจาระ ส่วนการตรวจด้วยการส่องกล้อง อาจทำให้แน่นท้อง ท้องอืด ง่วงนอน หรืออาจมีเลือดออกในช่องท้องหลังทำช่วงแรก 

อย่างไรก็ตาม หลังการตรวจคัดกรองแล้วพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ วิงเวียนศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลียหรืออ่อนแรง มีอาการปวดรุนแรง มีเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก หรือเป็นลิ่มเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้หลากหลายวิธี แต่ละวิธีมีความปลอดภัย ไม่ยุ่งยาก และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด HDmall อยากชวนทุกคนให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะยิ่งรู้เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดมากเท่านั้น 

มองหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ จองผ่าน HDmall ได้ราคาพิเศษ พร้อมรับส่วนลดเพิ่มเติม คลิกเลย! หรือไม่แน่ใจควรเลือกตรวจวิธีไหน ทักแอดมิน ขอคำแนะนำและข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย ที่นี่

Scroll to Top