เมื่อกล่าวถึง ไส้เลื่อน คนทั่วไปมักนึกถึงไส้เลื่อนขาหนีบ ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้เคลื่อนออกมาจากตำแหน่งปกติ ผ่านทางรูกล้ามเนื้อที่ผนังช่องท้อง ออกมาเป็นก้อนปูดนูนบริเวณขาหนีบ หัวหน่าว หรืออาจไหลเลื่อนต่อไปยังอัณฑะ
ความจริงแล้วไส้เลื่อนพบได้ที่บริเวณอื่นๆ ด้วย แล้วแต่ว่าผนังช่องท้องมีรูอยู่ที่จุดไหน เช่น ไส้เลื่อนกระบังลม ไส้เลื่อนสะดือ ไส้เลื่อนหน้าท้องใกล้สะดือ ไส้เลื่อนที่ส่วนบนของต้นขาด้านใน ฯลฯ ภาวะไส้เลื่อนเกิดได้ตั้งแต่ในเด็กทารกไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไป ตามวัย เพศ และตำแหน่งของไส้เลื่อน
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นไส้เลื่อนหรือเปล่า เรารวบรวมวิธีการสังเกตตัวเองง่ายๆ ไว้ในบทความนี้แล้ว
สารบัญ
สัญญาณไส้เลื่อนในเด็ก ผู้ปกครองต้องช่วยสังเกต
รู้ไหม? ภาวะไส้เลื่อนเกิดได้ตั้งแต่วัยแรกเกิด เนื่องจากเด็กบางคน การเจริญเติบโตของอวัยวะภายในขณะอยู่ในครรภ์มารดาอาจมีความผิดปกติ เช่น ผนังช่องท้องปิดไม่สนิท จนทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนบริเวณต่างๆ ได้ เช่น ไส้เลื่อนสะดือ ไส้เลื่อนขาหนีบ หรือไส้เลื่อนกระบังลม
โดยส่วนใหญ่ภาวะไส้เลื่อนนี้มักเกิดกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีน้ำหนักน้อย และเด็กเป็นเพศชาย โดยสัญญาณบอกภาวะไส้เลื่อนในเด็ก เช่น
- สะดือจุ่น
- มีก้อนปูดนูนบริเวณขาหนีบ จะเห็นชัดขึ้นเมื่อเด็กร้องหรือเบ่งถ่าย
- เด็กร้องบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ
หากผู้ปกครองสังเกตเห็นความผิดปกติเหล่านี้ แนะนำให้พาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
สัญญาณไส้เลื่อนในผู้ชาย อาการชัด คลำพบก้อน ต้องรีบพบแพทย์
หากพูดถึงภาวะไส้เลื่อนในผู้ชาย คนส่วนใหญ่มักนึกถึงไส้เลื่อนขาหนีบ เนื่องจากเป็นชนิดของไส้เลื่อนที่พบได้มากที่สุด โดยจากสถิติพบว่า ผู้ชายมีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้มากกว่าผู้หญิงถึง 7 เท่าและผู้ชายอายุ 75 ปีขึ้นไป กว่า 50% มักเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ โดยอาการที่สังเกตได้ชัด มีดังนี้
- พบก้อนบริเวณขาหนีบ อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และจะยิ่งสังเกตเห็นชัดเมื่อยืนตรงหรือเกร็งกล้ามเนื้อ อาจรู้สึกเจ็บหรือปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย
- รู้สึกไม่สบายตัวบริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะเวลางอตัว ไอ หรือยกของหนัก
- รู้สึกหนักๆ หรือเหมือนมีอะไรถูกลากไปมาบริเวณขาหนีบ
- รู้สึกถึงแรงดัน หรืออ่อนแรง บริเวณขาหนีบ
หากคุณกำลังมีอาการข้างต้น มักมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันผล
สัญญาณไส้เลื่อนในผู้หญิง อาการไม่ชัด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ
ผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้ โดยบริเวณที่พบ เช่น ไส้เลื่อนสะดือ ไส้เลื่อนขาหนีบ และไส้เลื่อนกระบังลม ซึ่งสัญญาณไส้เลื่อนผู้หญิงจะไม่ค่อยเด่นชัด และแตกต่างจากผู้ชาย จึงทำให้บางครั้งได้รับการรักษาล่าช้า อาการดังกล่าวได้แก่
- รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณท้องน้อย
- ปวดแสบปวดร้อน
- มีก้อน แต่คลำพบยาก หรืออาจไม่พบเลย
- รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อทำกิจกรรมที่ออกแรง เช่น ออกกำลังกายเกร็งหน้าท้อง ยกของ เบ่งถ่าย
จะเห็นว่า หลายสัญญาณไส้เลื่อนของผู้หญิงนั้นใกล้เคียงกับอาการทางนรีเวช ดังนั้นหากพบอาการที่เข้าข่ายความผิดปกตินี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยแล้วจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ยิ่งอาการของโรคยังไม่รุนแรง ทางเลือกในการรักษายิ่งมีมาก
สัญญาณไส้เลื่อนกระบังลม อาการคล้ายกรดไหลย้อน?
กระบังลม เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่สามารถเกิดไส้เลื่อนได้ ซึ่งเป็นผลให้กระเพาะอาหารส่วนบนถูกเบียดขึ้นไปที่ทรวงอก โดยสัญญาณบอกว่าอาจเป็นไส้เลื่อนกระบังลม ได้แก่
- รู้สึกแสบร้อนกลางอกโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร
- รู้สึกมีน้ำรสขม หรืออาหารปริมาณน้อยๆ ย้อนกลับขึ้นมาจากทางเดินอาหาร
- มีกลิ่นปาก
- เรอ รู้สึกอึดอัดเหมือนมีลมอยู่ในร่างกาย
- รู้สึกกลืนลำปากหรือเจ็บปวดเวลากลืน
จะสังเกตว่า อาการที่กล่าวมามีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคกรดไหลย้อนอย่างมาก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรสันนิษฐานทันทีว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือซื้อยามารับประทานเอง แต่ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
นอกจากอาการ 4 กลุ่มหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากคุณมีอาการเหล่านี้เพิ่มเติมได้แก่
- ท้องอืด
- มีไข้
- ก้อนที่เคยพบมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อดันแล้วไม่สามารถกลับไปราบเรียบได้อีก
- ผิวหนังรอบก้อนเปลี่ยนเป็นสีแดงช้ำ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องหรือรู้สึกเจ็บบริเวณขาหนีบอย่างรุนแรง และเป็นขึ้นอย่างฉับพลัน
ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจหมายถึงไส้เลื่อนเข้าไปติดคาอยู่ที่รูผนังช่องท้อง และมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเลือดไม่ไปเลี้ยง อาจเกิดเนื้อเยื่อตาย ลุกลามไปสู่ภาวะติดเชื้อ กลายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ไส้เลื่อน โดยทั่วไปแล้วไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เป็นแล้วสามารถรักษาได้ แนวทางหลักคือการผ่าตัดเย็บซ่อมแซมรูในผนังช่องท้อง ซึ่งมีหลากหลายเทคนิคผ่าซึ่งได้ผลลัพธ์การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ และฟื้นตัวไว
เปรียบเทียบการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน ข้อดี ข้อจำกัด ผลข้างเคียง คลิกอ่านต่อ
อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกของการรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็คือการสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีสัญญาณบอกว่าอาจเป็นไส้เลื่อน ควรปรึกษาแพทย์และรับการตรวจอย่างทันท่วงที
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรค ไส้เลื่อน รึเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่