scabies

โรคหิด (Scabies)

หลาย ๆ คนอาจกลัวโรคหิด แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคอันตราย และรักษาให้หายได้ มารู้จักกับโรคหิด สาเหตุ อาการ และวิธีรักษากันในบทความนี้ได้เลย 

ทำความรู้จักกับ “ตัวหิด”

โรคหิด มีสาเหตุมาจากตัวหิด (Sarcoptes scabiei) ตัวไรที่ติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มักอยู่บนร่างกายผู้ที่เป็นโรคหิดประมาณ 10–15 ตัวในเวลาเดียวกัน  

ตัวหิดจะก่อให้เกิดอาการคันและระคายเคือง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง วงจรชีวิตของหิดก็จะเวียนว่ายต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด และจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผิวหนังไม่หายดีสักที 

ตัวหิดชอบพื้นที่อบอุ่น เช่น บริเวณข้อพับ ระหว่างนิ้ว ใต้เล็บ รอบร่องนม หรือบั้นท้าย และยังซ่อนตัวอยู่ใต้สายนาฬิกาข้อมือ กำไล หรือแม้แต่แหวนที่นิ้วได้อีกด้วย 

ส่วนอาการคันรุนแรงที่มาจากโรคหิดนั้น อาจเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีต่อน้ำลาย ไข่ และของเสียจากตัวหิด 

โรคหิด แพร่กระจายได้อย่างไร

โรคหิด ใช้เวลานานราว ๆ 8 สัปดาห์ จึงจะก่อให้เกิดอาการของการติดเชื้อแรกเริ่ม เรียกว่าระยะฟักไข่ โดยจะแพร่กระจายและติดต่อได้จากปัจจัยเหล่านี้  

  • การสัมผัสกันระหว่างผิวหนังเป็นเวลานาน
  • การมีเพศสัมพันธ์ 
  • การใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเตียงนอนร่วมกับผู้มีหิดเป็นเวลานาน

โรคหิดมักแพร่กระจายมากในพื้นที่ที่การบริการทางสาธารณสุขไม่ทั่วถึง และมักพบได้บ่อย ๆ ในพื้นที่เขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน เช่น ประเทศแอฟริกา ภูมิภาคแถบอเมริกากลางและใต้ เกาะแถบทะเลแคริบเบียน ประเทศอินเดีย หรือประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ การระบาดของโรคหิดยังเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นได้ด้วย เช่น โรงเรียน ศูนย์ดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ สถานพยาบาล และเรือนจำ 

โดยปกติ โรคหิดจะติดต่อกันไม่ได้หากสัมผัสเพียงชั่วครู่ เช่น จับมือ หรือกอดช่วงสั้น ๆ และไม่ติดต่อผ่านการใช้ห้องน้ำร่วมกัน แปลว่า จะติดโรคหิดได้ก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด และเป็นเวลานานมากพอ 

โรคหิด อาการเป็นอย่างไรบ้าง 

อาการที่พบได้บ่อยของโรคหิด ได้แก่ 

  • คันอย่างรุนแรง และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางคืน หรือเมื่อผิวหนังอุ่นขึ้น
  • มีผื่นขึ้น บริเวณที่มีหิดฝังตัวอยู่ 
    • มักเป็นจุดสีแดงเล็ก ๆ ถ้าเกาผื่นอาจเกิดสะเก็ด และรู้สึกปวดขึ้นมา 
    • สามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย ยกเว้นที่ศีรษะ โดยตำแหน่งพบบ่อยคือ ใต้วงแขน รอบเอว ข้างในข้อศอก บั้นท้ายส่วนล่าง ขาส่วนล่าง ฝ่าเท้า เข่า สะบักไหล่ อวัยวะเพศหญิง ขาหนีบ รอบข้อเท้า
    • สำหรับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจมีผื่นขึ้นที่ศีรษะและคอได้
  • รอยโพรง 
    • เกิดขึ้นที่จุดใดของร่างกายก็ได้  ยาวเพียง 1 เซนติเมตรหรือน้อยกว่านั้น ลักษณะเป็นเส้นสีเงิน หรือเป็นรอยขดไปขดมาบนผิวหนัง มีจุดดำที่ปลายข้างหนึ่ง มองเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย 
    • รอยโพรงมักเจอตามรอยพับระหว่างนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้าและด้านข้างของเท้า รอบหัวนมในผู้หญิง หรือพบได้รอบ ๆ อวัยวะเพศชายเช่นกัน 

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 4–6 สัปดาห์ เพราะเป็นระยะเวลาที่ร่างกายเริ่มตอบสนองต่อของเสียจากหิด

แต่ถ้าเคยเป็นโรคหิดมาก่อน อาการจะเริ่มภายใน 1–2 วันเมื่อได้รับเชื้ออีกครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายได้จดจำการตอบสนองที่ควรมีต่อการติดเชื้อโรคหิดแล้วนั่นเอง

โรคหิด ตรวจได้ที่ไหน

ทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโรคหิดและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่โรงพยาบาล รวมถึงคลินิกชุมชนที่รับตรวจ  

โรคหิด วินิจฉัยอย่างไร 

แพทย์จะวินิจฉัยโรคหิดได้จากการสังเกตลักษณะผิวหนังที่มีอาการและหารอยโพรงของหิด รวมทั้งอาจต้องตรวจดูสมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วยด้วยว่ามีอาการหรือไม่ เพราะตัวหิดแพร่กระจายได้ง่ายมาก 

รอยฝังของตัวหิดยังตรวจเจอได้จากการทดสอบด้วยหมึก ซึ่งจะมีการขยี้หมึกรอบ ๆ ผิวหนังที่คันก่อนจะเช็ดออกด้วยแอลกอฮอล์ ถ้ามีรอยฝังของตัวหิดอยู่ หมึกบางส่วนจะหลงเหลืออยู่บนผิวหนัง ทำให้แพทย์มองเห็นโพรงได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์จะต้องจำแนกภาวะผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการที่คล้าย ๆ กันด้วย เช่น โรคผิวหนังอักเสบ หรือโรคพุพอง ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง

และเพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัย แพทย์อาจเก็บตัวอย่างผิวหนังด้วยการขูดผิวหนังบริเวณที่มีอาการเบา ๆ และนำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาร่องรอยของตัวหิด เช่น ของเสีย หรือไข่ 

การรักษาโรคหิด

แม้โรคหิดจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่โรคนี้หายเองไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ส่วนการกำจัดหิดด้วยสบู่ น้ำร้อน หรือการขัดผิวหนังนั้นไม่ได้ช่วยกำจัดหิดออกแม้แต่น้อย ถ้ามีอาการเข้าข่าย ควรรีบพบแพทย์ทันที 

การรักษาโรคหิดนั้นมีหลายวิธี ได้แก่ 

การใช้ยาครีมเพอร์เมทริน (Permethrin) หรือโลชันมาลาทิออน (Malathion)

ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ มีส่วนประกอบเป็นยาฆ่าแมลง ใช้กำจัดหิดได้ดี แพทย์มักใช้ครีมเพอร์เมทริน ขนาดความเข้มข้น 5% สำหรับการรักษาครั้งแรกก่อน หากครีมเพอร์เมทรินรักษาไม่ได้ผล จะเปลี่ยนไปใช้โลชันมาลาทิออน ขนาดความเข้มข้น 0.5% แทน 

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อใหม่ สมาชิกในครัวเรือนทุกคน รวมถึงคนที่สัมผัสตัวผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพร้อมกันด้วย แม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม

และให้พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย เช่น การกอด การจับมือ จนกว่าทุกคนจะหายจากโรคหิดโดยสมบูรณ์

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องทายาซ้ำอีกครั้งหลังการรักษาครั้งแรก เพื่อทำลายตัวอ่อนที่ยังหลงเหลืออยู่

การใช้ยาอื่น ๆ

นอกจากยาแบบครีมและโลชัน ยังมีตัวยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาโรคหิดได้

เช่น Ivermectin (ไอเวอร์เม็กติน) Benzyl benzoate (ยาทาเบนซิลเบนโซเอท) Crotamiton (ยาทาโครทามิตัน) หรือยาทาที่มีซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นส่วนประกอบ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาเพิ่มเติม ดังนี้ 

  • ทาครีมหรือโลชันบนผิวหนังทั่วร่างกาย ยกเว้นศีรษะ โดยต้องให้ผิวหนังเย็นและแห้งก่อนทา และห้ามทาหลังอาบน้ำร้อน เพราะถ้าทาครีมขณะในขณะที่ร่างกายร้อนเกินไป จะทำให้ยาดูดซับเข้าผิวหนังเร็ว และครีมจะไม่เกาะอยู่บนผิวหนังบริเวณที่หิดฝังตัวอยู่ 
  • อ่านคำแนะนำการใช้ครีมหรือโลชันที่ฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด เพราะแต่ละชนิดนั้นใช้ไม่เหมือนกัน เช่น บางชนิดต้องทาทั่วร่างกาย หรือบางชนิดใช้เฉพาะคอลงไปเท่านั้น 
  • อย่าลืมใช้ครีมหรือโลชันกับบริเวณที่เอื้อมถึงยาก เช่น แผ่นหลัง ง่ามนิ้วมือและเท้า ใต้เล็บ และบนอวัยวะเพศ
  • ใช้ก้านสำลี หรือแปรงสีฟันเก่าทาครีมหรือโลชั่นใต้เล็บมือและเล็บเท้า และนำอุปกรณ์ที่ใช้ทาลงถุง ปิดให้มิดชิด และทิ้งให้เรียบร้อยด้วย
  • เมื่อทาโลชันแล้ว ควรปล่อยผิวหนังส่วนที่ทาไว้ 8–24 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาในครีมหรือโลชันสัมผัสกับผิวหนังได้นานที่สุด แต่หากผู้ป่วยอาบน้ำ ให้ทาใหม่อีกครั้ง
  • ทาครีมหรือโลชันกับผิวหนังซ้ำทันทีที่ถูกล้างออกก่อนเวลาที่ฉลากระบุไว้
  • ติดต่อแพทย์โดยด่วน หากอาการคันไม่ดีขึ้นหลังการรักษา 2 สัปดาห์ หรือเมื่อสังเกตเห็นรอยฝังหรือโพรงใหม่บนผิวหนัง

การรักษาโรคหิดมักใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่าอาการคันทั่วไปจะหายโดยสมบูรณ์ และต้องใช้เวลานานกว่านั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบวมที่อวัยวะเพศ และแพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำให้ทำการรักษาซ้ำหลังจากนั้น หรืออาจเปลี่ยนไปใช้โลชั่นตัวใหม่แทน

การควบคุมการติดเชื้อ

ในวันแรกที่ใช้ครีมหรือโลชัน ควรซักผ้าปูเตียง เสื้อผ้าที่ใส่นอน และผ้าเช็ดตัวในอุณหภูมิที่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส หรือถ้าทำความสะอาดไม่ได้ ให้นำผ้าเหล่านั้นในถุง และเก็บเอาไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวหิดตายทั้งหมดเสียก่อน 

หากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหิด ให้พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น จนกว่าจะทาครีมหรือโลชันแล้ว และพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสมาชิกในครัวเรือนเดียวกันไปก่อน จนกว่าจะรักษาครบและหายดี

ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ๆ ต้องหยุดงานหรือหยุดเรียนไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่ผู้อื่น จนกว่าการรักษาครั้งแรกจะเสร็จสมบูรณ์

การรักษาอาการคัน

แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ (Steroids) ชนิดอ่อน เพื่อบรรเทาอาการคัน ซึ่งผู้ป่วยอาจใช้ครีมหรือเจลลดคันจากร้านขายยาทั่วไปได้ โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์

รวมถึงยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ที่จะช่วยควบคุมอาการคัน และช่วยให้นอนหลับได้สนิทในตอนกลางคืน ซึ่งยาต้านฮิสตามีนประเภทนี้จะส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอน จึงไม่ควรขับรถหรือใช้งานเครื่องจักรใด ๆ  ระหว่างที่ใช้ยานี้

ผู้ป่วยอาจยังมีอาการคันได้อยู่ 2–3 วันแม้จะรักษาครบกำหนดแล้ว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังคงตอบสนองต่อซากหิดที่ตายกับของเสียที่ตกค้างอยู่

อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดการรักษาหากคันนานต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหิด

1. การติดเชื้อทุติยภูมิ

การติดเชื้อทุติยภูมิ (Secondary infection) หมายถึง การติดเชื้อเพิ่มอีกสายพันธุ์ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อบางอย่างอยู่แล้ว 

เพราะอาการคันที่ผิวหนังซ้ำ ๆ จากโรคหิดสามารถทำลายผิวหนังชั้นนอก และอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ผิวหนังสูงขึ้น เช่น โรคพุพอง หรือทำให้ภาวะผิวหนังผิดปกติแย่ลงได้อีก เช่น โรคผิวหนังอักเสบ 

หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนนี้ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะในการควบคุมการติดเชื้อ โดยภาวะผิดปกติของผิวหนังอื่น ๆ ก็จะทุเลาลงไปด้วยหลังการรักษาการติดเชื้อโรคหิดเสร็จสมบูรณ์ 

2. โรคหิดนอร์เวย์

โรคหิดนอร์เวย์ (Norwegian scabies) เป็นการติดเชื้อหิดที่รุนแรงมาก เกิดจากการมีหิดหลายพันตัวอยู่บนผิวหนัง โรคหิดทั่ว ๆ ไปจะพัฒนากลายเป็นโรคหิดนอร์เวย์ได้หลังเกิดปฏิกิริยาบนผิวหนัง

ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลทั่วทั้งร่างกาย รวมไปถึงศีรษะ หนังศีรษะ คอ และเล็บ แต่จะแตกต่างจากโรคหิดทั่วไปตรงที่ ผื่นที่เกิดขึ้นจะไม่มีอาการคันร่วมด้วย 

ลักษณะของผู้ป่วยโรคหิดนอร์เวย์

จำนวนตัวหิดที่มหาศาลจะทำให้ผู้ป่วยเกิดสะเก็ดนูนหนาขึ้นบนผิวหนัง คล้ายคลึงกับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นภาวะผิวหนังที่มีสะเก็ดปื้นสีแดงแตกปกคลุมร่างกาย จนกลายเป็นสะเก็ดสีเงิน

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหิดนอร์เวย์

ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ได้แก่

  • ผู้ที่อายุน้อยมาก
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีความผิดปกติที่สมองหรือระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
  • ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง (HIV) หรือโรคเอดส์ (AIDs)
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ เพื่อรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่
  • ผู้ที่กำลังรักษาอาการป่วยด้วยการทำเคมีบำบัด 

ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันสุขภาพดีอยู่แล้ว เมื่อป่วยเป็นโรคหิด ก็จะมีมีหิดอยู่บนร่างกายเพียง 5–15 ตัวเท่านั้น เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เข้าไปขัดขวางวงจรการเพิ่มจำนวนของตัวหิดแล้ว แต่หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ จำนวนของตัวหิดจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ภาวะโรคหิดนอร์เวย์ยังติดต่อได้ง่ายมาก แค่การสัมผัสเพียงระยะสั้น ๆ หรือการใช้ผ้าปูเตียงและเสื้อผ้าร่วมกันก็อาจทำให้ติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันดีอยู่แล้ว การสัมผัสผู้ป่วยโรคหิดนอร์เวย์จะทำให้คุณติดเชื้อโรคหิดทั่วไปเท่านั้น

โรคหิดนอร์เวย์รักษาด้วยการใช้ครีมฆ่าแมลงได้ โดยมีชื่อว่า “Ivermectin (ไอเวอร์เมคทิน)” อยู่ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน มีฤทธิ์กำจัดตัวหิดด้วยการหยุดระบบประสาทของปรสิต

วิธีกำจัดและป้องกันโรคหิด

ระหว่างรักษาโรคหิด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ 

  • ทำความสะอาดที่นอน ผ้าเช็ดตัว รวมถึงเสื้อผ้าทุกตัวที่ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดสวมใส่ โดยให้แช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียสนานอย่างน้อย 20 นาที เพื่อกำจัดตัวหิด และนำไปตากแดดทุกวันเพื่อฆ่าเชื้ออีกครั้ง
  • นำสิ่งของที่ซักล้างไม่ได้ใส่ถุงปิดสนิทอย่างน้อย 3–5 วัน เพื่อให้ตัวหิดและไข่ตายหมด เพราะหิดจะอยู่ภายนอกตัวคนได้ไม่เกิน 3 วัน 
  • ดูดฝุ่น ทำความสะอาดพรมและเฟอร์นิเจอร์ และให้ทิ้งถุงเก็บฝุ่นทันทีหลังดูดทำความสะอาดเสร็จแล้ว 
  • บอกคู่รัก คนในครอบครัว หรือคนที่ใกล้ชิดว่าเป็นโรคหิด เพราะทุกคนต้องรักษาโรคหิดไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหาทางไม่ให้ติดเชื้อโรคหิดไปอีกคน หรือป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำไปซ้ำมา 
  • งดการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสร่างกายอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะรักษาโรคหายสมบูรณ์แล้ว ที่สำคัญ การใส่ถุงยางอนามัย แม้จะป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายโรค แต่ป้องกันโรคหิดไม่ได้

ผู้ป่วยโรคหิดอาจจะยังมีอาการคันหลังรักษาโรคแล้วประมาณ 2–3 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ายังคันนานกว่านั้น หรือมีผื่นและรอยคดเคี้ยวบนผิวหนังขึ้นมาใหม่ ผู้ป่วยจะต้องรักษาซ้ำอีกครั้ง

โรคหิด ไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง และรักษาให้หายขาดได้ เพียงแค่ติดต่อกันได้ง่ายเท่านั้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย การเว้นระยะห่าง ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคหิด จึงเป็นวิธีป้องกันที่ปลอดภัยที่สุด

นอกจากนี้ หากมีอาการคัน ระคายเคือง หรือกำลังสงสัยว่าอาจเป็นโรคหิด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันที จะได้รักษาให้ทันเวลา รู้เร็ว หายไว ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น 


โรคหิดติดต่อง่าย และหนึ่งในสาเหตุคือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลองเข้ามาดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ที่ HDmall มัดรวมไว้ให้ หรือถ้าอยากทักมาสอบถามให้แอดมินของเราช่วยจองคิวประเมินอาการกับคุณหมอก่อน ก็คลิกที่นี่ได้เลย!

Scroll to Top