Acyclovir (อะไซโคลเวียร์) เป็นยาต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม (Herpes Simplex Virus: HSV) รักษาและบรรเทาอาการจากโรคงูสวัด (Herpes zoster) และอีสุกอีใส (Chicken pox)
ยานี้ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1980 ตัวยามีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา หรือยาฉีด
สารบัญ
- Acyclovir ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง
- กลไกการออกฤทธิ์ของยา Acyclovir
- รูปแบบของยา Acyclovir
- ปริมาณการใช้ยา Acyclovir
- ข้อควรระวังในการใช้ยา Acyclovir
- การใช้ Acyclovir ในผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
- ผลข้างเคียงทั่วไปจากยา Acyclovir
- ผลข้างเคียงร้ายแรงจากยา Acyclovir ที่ควรไปพบแพทย์ทันที
- ปฏิกิริยาต่อยาอื่น ๆ ของ Acyclovir
- ถ้าลืมกินยา Acyclovir ต้องทำอย่างไร
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Acyclovir เกินขนาด
- การเก็บรักษายา Acyclovir
Acyclovir ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง
- บรรเทาอาการ และลดระยะเวลาการเป็นแผลหรือตุ่มน้ำพองในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสและผู้ป่วยโรคงูสวัด
- ใช้รักษาเริมในบริเวณต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ตา จมูก ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรก หรือผู้ที่เป็นซ้ำ
- ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นผื่นแดง (Eczema herpeticum)
- ใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือโรคแฮรีลิวโคพลาเกีย (Hairy leukoplakia) เป็นรอยโรคสีขาว ๆ อาจพบได้ที่ลิ้น
ปัจจุบัน มีงานวิจัยชี้ว่า ประสิทธิภาพการรักษาของยา Acyclovir ลดลง เนื่องจากไวรัสพัฒนาสายพันธุ์ที่ดื้อยาขึ้น
ซึ่งภาวะดื้อยาเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันดี และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Acyclovir
ยาอะไซโคลเวียร์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัส ด้วยการรบกวนการสร้างและสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อไวรัส ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง และไม่สามารถก่อโรคได้
รูปแบบของยา Acyclovir
- ยาเม็ด สำหรับกิน มี 3 ขนาด คือ 200 400 และ 800 มิลลิกรัม
- ยาแคปซูลสำหรับกิน
- ยาครีม สำหรับทาภายนอก ประกอบด้วย Acyclovir ความเข้มข้น 5%
- ยาน้ำ
- ยาขี้ผึ้งป้ายตา ประกอบด้วย Acyclovir ความเข้มข้น 3%
- ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ประกอบด้วย Acyclovir ความเข้มข้น 25 mg/ml
ปริมาณการใช้ยา Acyclovir
ยา Acyclovir ชนิดกิน
- รักษาโรคงูสวัด 800 มิลลิกรัม 5 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7–10 วัน
- รักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ 200–400 มิลลิกรัม 5 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7–10 วัน
- ป้องกันการกำเริบของโรคเริมที่อวัยวะเพศ 400 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน
- โรคอีสุกอีใส สำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือ 4 ครั้ง/วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
- โรคอีสุกอีใส สำหรับเด็ก 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 6 ชม. เป็นเวลา 5 วัน ขนาดสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/ครั้ง
ยา Acyclovir ชนิดครีม สำหรับทาภายนอก
ใช้รักษาผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสเริม สำหรับผู้ใหญ่
ขนาดความเข้มข้น 5% ทาบริเวณที่ติดเชื้อวันละ 5–6 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5–10 วัน
ยา Acyclovir ชนิดขี้ผึ้งป้ายตา
รักษาผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสเริม สำหรับผู้ใหญ่
ขนาดความเข้มข้น 3% ป้ายบริเวณเปลือกตาล่าง ด้านใน วันละ 5 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมง ใช้ยาต่อเนื่องกัน 3 วัน
ถ้าหายดีแล้วไม่ควรใช้ต่อ เนื่องจากยาขี้ผึ้งสำหรับป้ายตาอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็นได้ และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะใด ๆ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักรหลังใช้ยา
ข้อควรระวังในการใช้ยา Acyclovir
ยา Acyclovir ไม่ได้รักษาโรคติดเชื้อไวรัส แต่ทำให้ภาวะติดเชื้อหายเร็วขึ้น และรุนแรงน้อยลงในบางคน
ถ้าใช้ยา Acyclovir รักษาเริมที่อวัยวะเพศ ยาจะลดความรุนแรงหรือป้องกันไม่ให้โรคเกิดซ้ำได้ ถ้าใช้ยา Acyclovir รักษาโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัด ยาจะช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้
การรักษาด้วยยา Acyclovir จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อเริ่มใช้ทันทีที่ผื่นขึ้น หรือภายใน 3 วันแรก ถ้าเป็นผื่นงูสวัด ต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงแล้วเป็นผื่นอีสุกอีใสอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา Acyclovir แต่เด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอีสุกอีใส ควรใช้ยานี้ควบคู่กับการดื่มน้ำตามมาก ๆ
ถ้ามีโรคไตหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรใช้ยา Acyclovir อย่างระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรใช้ยา Acyclovir
กรณีติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เพราะเชื้อแพร่กระจายผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ และการใช้ยา Acyclovir เพียงอย่างเดียวอาจป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ค่อยดีนัก
การใช้ Acyclovir ในผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยา Acyclovir ในผู้ที่ตั้งครรภ์ จึงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่าปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
นอกจากนี้ ยา Acyclovir ยังส่งผ่านทางน้ำนมได้ด้วย ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกัน
ผลข้างเคียงทั่วไปจากยา Acyclovir
- ท้องร่วง
- อาเจียน
- ปวดหัว
- เวียนหัว
- เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า
- ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อ
- การมองเห็นมีปัญหา
- น้ำคั่งในร่างกาย
- ผมร่วง
- สับสน
- พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลง
ผลข้างเคียงร้ายแรงจากยา Acyclovir ที่ควรไปพบแพทย์ทันที
- มีผื่นรุนแรง ลมพิษ หรือผื่นที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำและแผลถลอก
- ผิวหนัง หรือดวงตามีสีเหลือง
- มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีอาการฟกช้ำ
- ภาวะชัก
- หมดสติ
- ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม
- หายใจลำบาก
- ปัสสาวะน้อยลง หรือมีเลือดในปัสสาวะ
- ง่วงนอนอย่างรุนแรง หรือมีภาวะสับสน
- เห็นภาพหลอน
- เหน็บชาและเดินเซ
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาจได้รับผลข้างเคียงจาก Acyclovir มากกว่าคนอื่น
เนื่องจากมักมีปัญหาเรื่องไตกำจัดยาได้ไม่เท่ากับคนอายุน้อย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
ปฏิกิริยาต่อยาอื่น ๆ ของ Acyclovir
ไม่ว่าจะกินยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับ Acyclovir ได้
ตัวอย่างยาที่มีผลต่อยา Acyclovir เช่น
- ยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา เช่น Amphotericin B (Fungizone), Amikacin (Amikin) และ Gentamicin
- Garamycin (Kantrex) และ Tobramycin (Tobi, Nebcin)
- ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ หรือเรียกว่า ยา OTC (Over The Counter drugs) เช่น Advil, Motrin หรือ Aleve
- ยาที่ใช้รักษา HIV เช่น Zidovudine (Retrovir, AZT)
- ยาที่ใช้ขยายหลอดลม เช่น Aminophylline, Theophylline
ถ้าลืมกินยา Acyclovir ต้องทำอย่างไร
เมื่อลืมกินยา ให้กินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ตามปกติ
ถ้าใกล้เวลากินยาอีกรอบ ให้ข้ามมื้อที่ลืม และกินยาของมื้อถัดไปแทนได้เลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เพื่อทดแทนยาในมื้อที่ลืมไป
อย่างไรก็ตาม การลืมกินยาอาจทำให้การรักษาภาวะติดเชื้อไม่สมบูรณ์ หรือทำให้เกิดอาการเชื้อดื้อยาได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Acyclovir เกินขนาด
- ตัวสั่น
- ง่วงนอนมาก
- หมดสติ
- มีอาการชัก
- ไตวาย (เพราะไตไม่สามารถกรองน้ำในร่างกายให้เป็นปัสสาวะได้)
ถ้าได้รับยาเกินขนาด แล้วมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
การเก็บรักษายา Acyclovir
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม ปิดภาชนะให้สนิท และเก็บให้พ้นมือเด็ก
- ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียส ไม่ควรอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
- ห้ามถูกแสงแดดโดยตรง
- ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
- ควรทิ้งยาทันทีเมื่อหมดอายุ
ยา Acyclovir ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
ถ้าเกิดอาการแพ้ยารุนแรง ควรหยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ทันที