คัดจมูกเรื้อรัง ข้อมูล สาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน scaled

คัดจมูกเรื้อรัง ข้อมูล สาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน

อาการคัดจมูก (Nasal congestion) พบได้บ่อยในบุคคลทั่วๆ ไป อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น เป็นไข้หวัดธรรมดา (Common cold) ซึ่งมักทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม และขัดขวางทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบากขึ้น

อาการคัดจมูกที่เกิดจากไข้หวัดนี้ อาการมักจะดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากมีอาการคัดจมูกนานกว่านั้นจนเกิดเป็นแบบเรื้อรัง สาเหตุอาจเกิดจากลักษณะทางกายวิภาคภายในจมูกของแต่ละคน หรืออาจเกิดจากโรคต่างๆ ได้

หากกำลังสงสัยเกี่ยวกับอาการคัดจมูกเรื้อรัง สาเหตุ แนวทางการรักษารวมถึงการป้องกัน สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความดังต่อไปนี้

อาการคัดจมูกเรื้อรัง เป็นอย่างไร?

อาการคัดจมูก คือ แน่นในจมูก หายใจลำบากขึ้น มักพบอาการคัดจมูกร่วมกับการมีน้ำมูกไหล จาม และคันในจมูก อาการเหล่านี้บ่งบอกถึงการแพ้สิ่งกระตุ้นต่างๆ

อาการคัดจมูกอาจจะเป็นเพียงในรูจมูกข้างเดียว หรืออาจเกิดพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้

หากอาการคัดจมูกเป็นๆหายๆ ติดต่อกันนานๆ อาจเกิดเป็นปัญหาคัดจมูกเรื้อรังตามมาได้ ซึ่งรบกวนชีวิตประจำวัน จึงควรหาสาเหตุเพื่อป้องกันปัญหานี้ต่อไป

7 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการคัดจมูกเรื้อรัง

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัดจมูกเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการคัดจมูกติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ ได้แก่

1. การแพ้ (Allergy)

อาการแพ้เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศ สิ่งแวดล้อม สารเคมี อาหาร ยา

ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่มีชื่อว่า ฮิสตามีน (Histamine) สารเคมีนี้มีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว เป็นสาเหตุให้เยื่อบุโพรงจมูกที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากมายเกิดอาการบวมแล้วทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการคัดจมูกขึ้นได้

2. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)

เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดที่ 1 (IgE mediated type I hypersensitivity reaction) ที่เกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวมและเกิดอาการคัดจมูก

3. โรคริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)

โรคริดสีดวงจมูก คือ การเจริญผิดปกติของเนื้อเยื่อโพรงจมูกหรือไซนัส ทำให้เกิดติ่งเนื้อขึ้น

ริดสีดวงจมูกเป็นเนื้อเยื่อปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง อาจพบเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

หากมีขนาดใหญ่อาจขัดขวางทางเดินหายใจได้ ทำให้เกิดอาการคัดจมูกและหายใจไม่สะดวก

4. การอยู่หรือทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นเป็นประจำ (Occupational rhinitis)

สิ่งกระตุ้นดังกล่าว เช่น ฝุ่นละออง ควันจากการเผาไหม้ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

ฝุ่นและควันต่างๆ จะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและบวม เกิดอาการคัดจมูกติดต่อกันนานๆ ได้

5. โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis)

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังภายในไซนัส มักจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

เป็นภาวะแทรกซ้อนของการเป็นไซนัสอักเสบแบบฉับพลัน (Acute sinusitis) ที่ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกต้อง

อาการที่พบมักเกิดติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน ได้แก่ อาการคัดจมูก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว หายใจมีกลิ่นเหม็น ได้รับกลิ่นลดลง เป็นต้น

6. ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum)

อาจเป็นแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ได้รับการกระแทกบริเวณจมูก

การที่มีผนังกั้นจมูกคดทำให้รูจมูกข้างที่ผนังกั้นโพรงจมูกคดมาเบียดมีทางเดินหายใจที่แคบ แล้วมีอาการหายใจไม่สะดวก คัดแน่นในรูจมูกข้างนั้นได้

7. โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy rhinitis)

ในขณะที่ตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) จะเพิ่มระดับสูงขึ้น

ฮอร์โมนทั้งสองนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น ซึ่งทำให้เยื่อบุโพรงจมูกมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นเกิดอาการบวมและคัดจมูกขึ้นมาได้

ทำอย่างไรอาการคัดจมูกเรื้อรัง ถึงดีขึ้น?

มีหลากหลายวิธีที่สามารถบรรเทาอาการคัดจมูกเองที่บ้านได้ เช่น

  • ล้างจมูก ทำโดยใช้ไซริงค์ (Syringe) ดูดน้ำเกลือ แล้วสอดปลายไซริงค์เข้าไปในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ก้มศีรษะลงเล็กน้อย กลั้นหายใจแล้วฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกจนน้ำเกลือออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรือออกทางปาก จากนั้นสั่งน้ำมูกและน้ำเกลือออกทางจมูกทั้งสองข้าง บ้วนน้ำเกลือที่ไหลลงคอทิ้งทำตามขั้นตอนดังกล่าวซ้ำสลับกันทั้งสองข้าง 2-3 ครั้ง จะช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูกและทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
  • การเพิ่มความชื้นในอากาศ ความชื้นในอากาศจะทำให้ร่างกายสลายเสมหะและเซลล์ที่อักเสบภายในโพรงจมูกได้ดีขึ้น
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกายในการสลายเสมหะ
  • ใช้สเปรย์น้ำเกลือ ในการช่วยไม่ให้โพรงจมูกแห้ง และลดอาการบวม
  • นอนยกหัวสูง

การรักษาอาการคัดจมูกเรื้อรังที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่?

การรักษาอาการคัดจมูกเรื้อรังจะทำได้ โดยการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น หากมาจากการแพ้ การรักษาจะทำการหาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หลีกเลี่ยงการได้รับสิ่งกระตุ้นนั้น ตลอดจนพิจารณาให้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) และยาลดอาการบวม (Decongestants) ในช่วงที่มีอาการ เป็นต้น

นอกจากนี้ การรักษาอาการคัดจมูกเรื้อรังที่เกิดจากบางโรคอาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาผ่าตัดรักษา เช่น โรคริดสีดวงจมูก โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผนังกั้นช่องจมูกคด

หากอาการคัดจมูกเป็นแบบเรื้อรัง มีอาการเป็นๆ หายๆ อาการนี้มักจะสัมพันธ์กับโรคต่างๆ ตามที่กล่าวไปแล้วในบทความนี้ ซึ่งต่างจากอาการคัดจมูกทั่วไปที่มักจะมีอาการดีขึ้นเองภายใน 1 สัปดาห์

ดังนั้นหากมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลรักษาอาการนี้โดยเฉพาะคือแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) เพื่อที่จะได้ทราบสาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกันอย่างถูกวิธีตามภาวะหรือโรคที่เป็นในอนาคต


เขียนบทความโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล

Scroll to Top