ปวดท้องบิดเกร็งๆ หายๆ บ่งบอกโรคอะไรบ้าง

ปวดท้องบิดเกร็ง ปวดจี๊ด ๆ ตรงกลางท้อง เป็นเพราะเหตุใด

อาการปวดท้องเป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้คนต้องไปหาหมอกันอยู่บ่อยครั้ง แต่แค่อาการปวดอย่างเดียวนั้นบอกไม่ได้ทันทีว่าป่วยเป็นโรคอะไร จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดมาช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มด้วย  

บทความนี้จะมาพูดถึงอาการปวดบีบเป็นพัก ๆ หรือหลายคนมักจะบอกว่าปวดท้องบิดเกร็ง เป็น ๆ หาย ๆ บางคนก็อาจบอกว่าปวดจี๊ด ๆ ตรงกลางท้อง แล้วอาการปวดลักษณะนี้เกิดจากสาเหตุอะไร และบ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง 

ทำไมถึงปวดท้องบิดเกร็ง ปวดบีบเป็นพัก    

อาการปวดท้องเกิดจากความผิดปกติในช่องท้อง 3 แบบ ดังนี้  

  1. การอักเสบ
  2. การขาดเลือด
  3. การยืดขยายของอวัยวะภายใน

อาการปวดท้องแบบฉีกขาดเสียดแทงหรือปวดแบบตื้อ ๆ มักมีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือการขาดเลือด 

ส่วนอาการปวดท้องแบบบีบ ๆ เป็นพัก ๆ หนักบ้างเบาบ้างตรงกลางท้องในบทความนี้พูดถึง มักเกิดจากการยืดขยายหรือบีบตัวของอวัยวะที่เป็นท่อกลวง เช่น ท่อไต ท่อน้ำดี ลำไส้ ซึ่งจะบีบตัวเป็นลูกคลื่น (Peristalsis) คอยไล่สิ่งที่อยู่ในท่อ อย่างอาหารหรือน้ำดี เมื่ออวัยวะเหล่านี้บีบตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้ปวดตามจังหวะการบีบตัวนั่นเอง (Colicky pain) เช่น การบีบตัวรุนแรงของลำไส้เพื่อไล่อาหารเป็นพิษ 

บางครั้ง อาการปวดท้องบิด เกร็ง เป็น ๆ หาย ๆ ก็เกิดได้จากการอุดตันของอวัยวะที่เป็นท่อกลวง เมื่อมีการบีบตัวผ่านจุดที่อุดตัน จึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้น เช่น มีพังผืดบีบรัดลำไส้จนอุดตัน ทำให้ปวดลำไส้เป็นพัก ๆ ซึ่งกรณีนี้จะปวดบีบรุนแรงมาก ยิ่งกับคนผอม ๆ ที่มีผนังหน้าท้องบาง อาจถึงขั้นมองเห็นการเคลื่อนที่ของลำไส้เป็นลูกคลื่นได้ 

ปวดท้องบิดเกร็ง ปวดบีบเป็นพัก บอกโรคได้แม่นยำแค่ไหน

การวินิจฉัยโรคจากอาการปวดท้องเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องยาก เพราะการเรียงตัวของเส้นประสาทในช่องท้องมีความซับซ้อน และยังเป็นเส้นใยที่ส่งกระแสประสาทได้ช้า พอมีอาการปวดท้องขึ้นมาจะไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้ 

เวลาปวดเลยมักจะรู้สึกเป็นวงกว้าง เช่น กลางท้อง ใต้ลิ้นปี่ ด้านซ้าย หรือด้านขวา ซึ่งบริเวณเหล่านี้ต่างก็คาบเกี่ยวกัน ยากที่จะบอกได้ว่าเกิดจากอวัยวะใด ทำให้ต้องใช้ประวัติและการตรวจร่างกายอื่น ๆ ประกอบด้วย 

ยกเว้นอวัยวะที่มีสองข้างจะสามารถแยกข้างการปวดได้ชัดขึ้น หรือโรคที่เป็นมีการอักเสบลุกลามไปถึงเยื่อบุช่องท้องที่บุผนังหน้าท้อง ซึ่งมีเส้นใยประสาทส่งสัญญาณเฉพาะบริเวณที่ทำงานได้รวดเร็ว ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่อักเสบจนเกิดอาการปวดได้ชัดเจน 

อย่างเช่น ถ้าเป็นลำไส้อุดตัน ระยะแรกก็จะปวดบีบเป็นพัก ๆ ปวดท้องบิดเกร็งตรงกลางท้อง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และบอกจุดที่ปวดไม่ได้ชัดเจน แต่พอทิ้งไว้นานจนลำไส้บวมมาก มีอาการอักเสบมาก จนลุกลามมายังผนังเยื่อบุช่องท้อง (Parietal peritoneum) ทำให้มีอาการปวด กดแล้วเจ็บบริเวณนั้น 

ปวดท้องบิดเกร็ง ปวดบีบเป็นพัก เสี่ยงโรคอะไรบ้าง 

แม้ว่าเวลาปวดท้องอาจจะเจาะจงยากว่ามาจากอวัยวะไหน แต่บางตำแหน่งในช่องท้องก็อาจบอกได้เหมือนกันว่าเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง  

ปวดกลางช่องท้อง

ปวดท้องบิดตรงกลางเป็น ๆ หาย ๆ อาจเกิดได้จากหลายอวัยวะ ที่พบมากที่สุดคือลำไส้เล็ก อาจจะเป็นลำไส้อักเสบจากการถ่ายเหลว ลำไส้อุดตันจากพังผืด หรือลำไส้อุดตันจากเนื้องอก ลักษณะปวดบีบหรือปวดท้องบิดจากลำไส้ จะปวดเป็นพัก ๆ นาน 20–30 นาทีขึ้นไป พอการบีบลดลง อาการปวดก็จะหายจนเกือบเป็นปกติ 

ส่วนที่ลำไส้ใหญ่จะเกิดโอกาสอุดตันจากเนื้องอกหรือจากอุจจาระตันได้มากกว่า แต่ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าและแรงบีบน้อยกว่า ทำให้ไม่ค่อยมีอาการปวดบีบท้อง  

ปวดท้องด้านขวา

อาการปวดท้องบิดด้านขวามักเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้มีอาการปวดรุนแรงอยู่ราว ๆ 15-20 นาที จากนั้นจะปวดน้อยลง แต่ไม่ถึงกับหายสนิทดี และบางคนอาจมีอาการปวดร้าวที่สะบักขวาร่วมด้วย เพราะใช้เส้นประสาทรับความรู้สึกร่วมกัน (Referred pain) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีหลุดมาอุดตัน 

อีกระบบอวัยวะที่พบบ่อยคือ การอุดตันของท่อไต (Ureter) เนื่องจากท่อไตมีสองข้าง ถ้ามีปัญหาข้างใดก็จะปวดข้างนั้น จะมีอาการปวดบีบรุนแรงเป็นพัก ๆ เหมือนกัน โดยปวดใกล้ส่วนเอวค่อนไปทางด้านหลัง และอาจปวดร้าวต้นขาด้านในไปจนถึงอวัยวะเพศได้

ปวดท้องด้านซ้าย

ถ้ารู้สึกปวดบิดที่บริเวณท้องด้านซ้าย อาจมาจากการอุดตันท่อไตด้านซ้าย หรืออาจจะปวดบีบจากลำไส้ก็ได้ ซึ่งอาการปวดบีบจากลำไส้นั้นพบได้ทั้งบริเวณซ้าย ขวา หรือกลางท้อง

ปวดท้องด้านล่าง

อาการปวดท้องบิดบริเวณท้องด้านล่างอาจเกิดจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือลำไส้ตรง โดยมักจะมีอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติร่วมด้วย เช่น ถ่ายอุจจาระไม่ออก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน 

อีกระบบอวัยวะที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคได้คืออวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรี โดยเฉพาะบริเวณท่อนำไข่ ที่จะมีอาการปวดบีบหรือปวดท้องบิดได้บ้าง 

ส่วนอีกจุดคือระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ซึ่งก็คือกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ พื้นที่กว้าง แรงบีบไม่มาก ทำให้ไม่ค่อยปวดท้อง อาจเกิดได้จากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะอุดตันจากต่อมลูกหมากโต 

อาการร่วมกับปวดท้องบิดเกร็ง ปวดบีบเป็นพัก บอกโรคได้ 

นอกจากตำแหน่งปวดท้องที่พอจะช่วยระบุอวัยวะที่เกิดโรคได้บ้าง อาการร่วมที่เกิดพร้อมกับอาการปวด จะช่วยแยกโรคและบอกตำแหน่งการเกิดโรคได้ชัดเจนขึ้น ดังนี้ 

ปวดท้องบิดร่วมกับถ่ายอุจจาระไม่ออก

ถ้าปวดท้องบิด ๆ แปล๊บ ๆ แถมยังถ่ายอุจจาระไม่ออก แสดงว่าลำไส้อุดตัน คือมีการบีบไล่อุจจาระ แต่อุจจาระออกมาไม่ได้ 

ตำแหน่งที่เกิดมักเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เพราะอุจจาระจะก่อตัวเป็นก้อนที่ตำแหน่งนี้ หรือถ้าเป็นตำแหน่งก่อนหน้า เช่น ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น หรือลำไส้เล็ก ก็ต้องเป็นการอุดตันเกือบสมบูรณ์ที่กินเวลานานพอ เพราะอุจจาระจะยังเหลวอยู่มากตรงตำแหน่งนี้

โรคที่พบได้บ่อยจากอาการเหล่านี้คือ เนื้องอกในลำไส้ อาจเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ อีกสาเหตุที่พบบ่อยคือ การเกิดพังผืดรัดลำไส้ ทำให้ลำไส้อุดตัน ควรรับการรักษาด้วยการผ่าตัด 

ปวดท้องบิดร่วมกับถ่ายเหลว

ถ้ามีอาการนี้ แสดงว่าลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรง เพื่อขับสิ่งที่ร่างกายไม่พึงประสงค์ออกมา เช่น พิษจากอาหาร เชื้อโรคทึ่มากับอาหาร หรืออาจจะเกิดการอักเสบรุนแรงในลำไส้ 

โรคที่พบได้บ่อย ๆ คือโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสโรต้า ไวรัสโนโร แบคทีเรียซัลโมเนลล่า แบคทีเรียอีโคไล หรือพิษจากอาหาร อาจเป็นอาหารที่ตั้งไว้นานเกินไปจนเชื้อโรคในอาหารเริ่มสร้างสารพิษต่อร่างกายขึ้นมา เช่น พิษจากเชื้อบาซิลัส พิษจากเชื้อคลอสตริเดียม 

อีกสาเหตุที่พบได้คือ การติดเชื้อปรสิต โดยเฉพาะจากหนอนพยาธิตัวกลม แคปพิลาเรียฟิลิปปินเนนซิส (Capillaria philippinensis) ในลำไส้ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงได้ 

การรักษาโรคติดเชื้อจะเป็นการให้ยาฆ่าเชื้อที่ตรงกับชนิดของเชื้อ ซึ่งต้องดูจากประวัติของผู้ป่วยหรือผลการเพาะเชื้อ ขณะเดียวกัน ถ้าเกิดจากพิษก็จะเป็นการดูแลตามอาการ ให้น้ำเกลือแร่เพียงพอ หลังจากนั้นร่างกายก็จะกำจัดพิษออกเอง 

จะเห็นได้ว่า อาการปวดท้องนั้นมีหลายแบบ ทั้งปวดตื้อ ๆ ปวดท้องบิดเกร็ง ปวดท้องแปล๊บ ๆ เป็นบ้างหายบ้าง ล้วนต้องอาศัยการซักประวัติและการตรวจอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้แม่นยำ ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดท้อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที 


เปรียบเทียบราคาแพ็คเกจตรวจระบบทางเดินอาหารและลำไส้


เขียนบทความโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช

Scroll to Top