ทำไมเสียงพูดก็หายไป เสียงแหบเสียงหาย แก้ยังไง ที่นี่มีคำตอบ


ทำไมอยู่ดีๆ เสียงพูดก็หายไป


ในบางครั้ง สัญญาณที่บอกว่ามีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายของคุณก็คือ อาการเสียงแหบ หรือเสียงหาย จนต้องกระแอมเพื่อให้เสียงออกมา 

แน่นอนว่า อาการเสียงหายย่อมจะส่งผลต่อการพูด และการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ โดยเฉพาะเมื่อคุณทำงาน แต่คุณเคยสงสัยไหมว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เสียงขาดหายไป

สาเหตุที่ทำให้เสียงหาย

สาเหตุที่ทำให้เสียงหายสามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง และปัจจัยด้านสุขภาพ

ปัจจัยจากพฤติกรรมของผู้ป่วย

1. ใช้เสียงมากเกินไป

ในแต่ละครั้งที่คุณพูด ตะโกน หรือร้องเพลง คุณต้องใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนในการออกเสียง ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อในปาก และลำคอด้วย 

อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้อเหล่านี้มีความเหมือนกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายตรงที่หากเราใช้งานมากเกินไป มันก็สามารถทำให้คุณอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อตึง และบาดเจ็บ หากใช้ผิดวิธี มันก็สามารถทำให้คุณเสียงแหบเช่นกัน เช่น

  • พูด ร้องเพลง ตะโกน หรือไอมากเกินไป
  • ใช้ระดับเสียงสูง หรือต่ำกว่าเสียงที่คุณพูดตามปกติ
  • วางโทรศัพท์ระหว่างศีรษะ และหัวไหล่

2. สูบบุหรี่

ควันบุหรี่สามารถไปรบกวนเส้นเสียง และทำให้คุณมีปัญหากับเสียงในระยะยาวได้ ผู้ที่สูบบุหรี่ ทั้งเลิกแล้ว และยังคงสูบอยู้จนถึงปัจจุบันฃมีแนวโน้มที่จะมีเสียงผิดปกติมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่มากถึง 3 เท่า 

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดติ่งเนื้อเล็กๆ ที่ไม่ใช่ก้อนมะเร็งบนเส้นเสียงด้วย และสามารถทำให้โทนเสียงต่ำลง พูดแบบมีเสียงลมหายใจ และเสียงแหบ

ปัจจัยด้านสุขภาพ

1. โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัดสามารถทำให้คอของคุณอักเสบ และทำให้รู้สึกเจ็บคอ นอกจากนี้ เส้นเสียงของคุณก็อาจบวมอักเสบได้ด้วย และส่งผลต่อการสั่นของเส้นเสียง จนทำให้คุณมีเสียงแหบได้นั่นเอง 

ดังนั้นในระหว่างที่คุณป่วยเป็นไข้หวัด ให้คุณลดการใช้เสียง ดื่มน้ำให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งเสียงของคุณจะกลับมาเมื่อร่างกายเริ่มฟื้นตัว

2. โรคภูมิแพ้

เมื่อคุณคิดถึงโรคภูมิแพ้ คุณอาจคิดถึงอาการน้ำมูกไหล คันดวงตา และจาม แต่ความจริงแล้วมันสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเสียงของคุณได้หลายทาง เช่น 

  • ทำให้เส้นเสียงบวม 
  • น้ำมูกที่ไหลลงคอทำให้เส้นเสียงเกิดการระคายเคือง 
  • การไอ และการกระแอมคอสามารถทำให้เส้นเสียงตึง 
  • การรับประทานยาต้านฮีสตามีนสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ซึ่งสามารถทำให้เมือกในคอแห้ง ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อเส้นเสียง

3. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้อต่อบวม และแข็ง อีกทั้งมีผู้ป่วยกว่า 1 ใน 3 ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และมีปัญหาเกี่ยวกับเสียง ซึ่งหมายความรวมถึงอาการเจ็บคอ และไม่มีเสียงด้วย 

สาเหตุที่เป็นชั้นนั้นก็เพราะว่า อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์สามารถส่งผลต่อข้อต่อเล็กๆ ในใบหน้า และคอ ซึ่งนำไปสู่การเกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ และระบบการทำงานของเส้นเสียงนั่นเอง

4. มีปัญหากับต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์มีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อซึ่งอยู่ภายในคอส่วนล่าง มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการทำงานหลายอย่างในร่างกาย 

หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อย หนึ่งในอาการที่คุณจะประสบ ก็คือ มีเสียงแหบ หรือหากต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้น คุณก็อาจมีอาการเสียงแหบได้เช่นกัน ร่วมกับมีอาการไอเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก หายใจไม่สะดวก

5. โรคเกี่ยวกับระบบประสาท

การเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) สามารถส่งผลต่อกล้ามเนื้อใบหน้า และกล้ามเนื้อคอ ผู้ป่วยโรคนี้เกือบ 90% จึงมีความผิดปกติเกี่ยวกับการพูด หรือออกเสียง 

นอกจากนี้ โรคพาร์กินสันยังทำให้สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และการประสานงานทำงานได้แย่ลง ส่งผลให้คุณไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการพูดได้

6. โรคมะเร็งกล่องเสียง

การมีเสียงแหบ เสียงหาย ร่วมกับมีอาการหายใจลำบาก คลำพบก้อนในคอ ปวดหู มีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งกล่องเสียงได้ 

โรคมะเร็งกล่องเสียงสามารถลุกลามไปถึงหลอดอาหารจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ รวมถึงอาจแพร่ไปถึงปอด หัวใจ สมอง ทางที่ดีหากคุณพบว่า ตนเองเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันที

นอกจากนี้ การรับประทานยาบางชนิด ก็อาจทำให้เกิดอาการเสียงหายได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ การรับประทานวิตามินเกินปริมาณ ยาพ่นจมูกสำหรับโรคภูมิแพ้

อาการเสียงหายมีวิธีรักษาได้ไม่ยาก เพียงพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในอุณหภูมิห้องอย่างสม่ำเสมอ อย่าฝืนใช้เสียงมากเกินไป แค่นี้อาการเสียงหายก็จะกลับค่อยๆ บรรเทาลง 

แต่หากอาการเสียงหายยังไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการอีกครั้ง

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat