ขั้นตอนการผ่าคลอดเป็นอย่างไร?


ผ่าคลอด-ผ่าตัดคลอด-ตรวจสุขภาพครรภ์

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • การผ่าตัดคลอดสามารถทำได้ทั้งการวางแผนผ่าคลอดล่วงหน้าซึ่งได้ตกลงร่วมกันระหว่างแพทย์และคุณแม่แล้ว และการผ่าคลอดฉุกเฉินซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุเฉพาะหน้า เช่น อุบัติเหตุ อยู่ในภาวะคลอดเนิ่นนาน
  • การผ่าคลอดมีวิธีให้ยาระงับความรู้สึก 2 วิธี ได้แก่ การดมยาสลบ และการฉีดยาชาเข้าบริเวณไขสันหลัง หรือบล็อคหลัง ซึ่งวิธีหลังนี้เป็นที่นิยมมากกว่า เพราะคุณแม่จะหมดความรู้สึกตั้งแต่ส่วนล่างของร่างกาย แต่ยังมีสติรับรู้และสามารถชื่นชมเจ้าตัวน้อยได้ 
  • การผ่าคลอดจะมีการผ่าผ่านผิวหนังหน้าท้อง ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง การเลาะพังผืดในช่องท้อง จากนั้นก็กรีดเปิดผนังมดลูก รวมประมาณ 6 ชั้นด้วยกัน
  • หลังผ่าคลอดภายใน 24 ชั่วโมง หากคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จะสามารถจิบน้ำ รับประทานอาหารเหลว อาหารอ่อนได้ตามลำดับ ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารปกติในช่วงแรก เพื่อป้องกันท้องอืด การปวดบีบลำไส้ จากนั้นต้องเริ่มขยับร่างกายเท่าที่ทำได้และลุกเดินให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดพังผืด
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร หรือแอดไลน์ @hdcoth

การผ่าคลอด (cesarean section)” ก็คือ การผ่าตัดรูปแบบหนึ่ง บางครั้งเราจึงได้ยินการเรียกว่า “ผ่าตัดคลอด” ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีขั้นตอนซับซ้อนมากกว่าการคลอดธรรมชาติ การคลอดที่คุณแม่เพียงมีสภาพร่างกายพร้อมคลอด กำหนดจังหวะการเบ่งตามที่แพทย์บอกได้ คุณแม่ก็สามารถคลอดทารกผ่านช่องคลอดออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

แต่ถึงอย่างนั้น การผ่าคลอดในประเทศไทยก็ยังเป็นวิธีคลอดที่มาแรงในหมู่คุณแม่ที่ไม่อยากออกแรงเบ่งคลอด ไม่อยากเจ็บท้องนาน กลัวช่องคลอดมีการฉีกขาด และบางส่วนก็มีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามการคลอด เข้ามาเกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการผ่าคลอดจะมีอะไรบ้างนั้น การดมยา บล็อคหลังคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไร HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบเพื่อให้คุณแม่นำไปประกอบการตัดสินใจก่อนถึงกำหนดคลอด

วิธีเตรียมร่างกายก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าคลอด

การผ่าตัดคลอดสามารถทำได้ทั้งการวางแผนผ่าคลอดล่วงหน้าซึ่งได้ตกลงร่วมกันระหว่างแพทย์และคุณแม่แล้ว และการผ่าคลอดฉุกเฉินซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุเฉพาะหน้า เช่น อุบัติเหตุ อยู่ในภาวะคลอดเนิ่นนาน

โดยทั่วไปขั้นตอนการผ่าคลอดหากมีการวางแผนล่วงหน้า แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ชำระล้างร่างกาย อาบน้ำและสระผมด้วยสบู่ฆ่าเชื้อให้สะอาดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ไม่ควรโกน หรือตัดขนที่อวัยวะเพศออกเพราะครรภ์ที่ใหญ่อาจทำให้มองไม่ชัด เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือหากกำจัดขนออกได้สำเร็จก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากขึ้น

เมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาล พยาบาลจะให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าคลอด เจาะเลือดเพื่อใช้ในการเตรียมเลือดกรณีฉุกเฉิน และให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

จากนั้นพยาบาลและเจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดหน้าท้องอีกครั้ง โกนขนบริเวณสะดือออก พร้อมใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะที่ค้างออกให้หมด และสายนี้จะค้างเอาไว้อีก 12-24 ชั่วโมงหลังการผ่าคลอด

นอกจากนี้ยังมีการนสวนอุจจาระเพื่อให้ลำไส้ใหญ่ส่วนล่างและทวารหนักปราศจากอุจจาระ

เมื่อเตรียมร่างกายคุณแม่พร้อมแล้ว ต่อไปจะเตรียมเข้าสู่การผ่าคลอด

ผ่าคลอด ดมยา บล็อคหลังคืออะไร ?

หากมีการวางแผนล่วงหน้า แพทย์จะแนะนำให้พบวิสัญญีแพทย์เพื่อซักประวัติเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ประเภทของการใช้ยาระงับความรู้สึกในการผ่าคลอด ตลอดจนปริมาณยาที่เหมาะสม

โดยทั่วไปการผ่าคลอดจะมีวิธีให้ยาระงับความรู้สึก 2 วิธี ได้แก่

การดมยาสลบ

เป็นการฉีดยาให้หลับแล้วใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลม การดมยาสลบเหมาะกับกรณีผ่าคลอดฉุกเฉินเพราะใช้เวลาเตรียมการไม่นาน หรือเลือกใช้ในกรณีที่คุณแม่กลัวมาก ไม่สามารถควบคุมสติและอารมณ์ได้ หรือใช้ตามความต้องการของคุณแม่เอง

แต่วิธีนี้คุณแม่จะหมดสติทันทีที่ยาออกฤทธิ์จึงไม่สามารถชื่นชมลูกได้ทันทีหลังลูกเกิด อีกทั้งการดมยาสลบยังอาจทำให้ทารกได้รับฤทธิ์ยาสลบไปด้วย ทำให้ไม่ค่อยหายใจด้วยตนเอง

การฉีดยาชาเข้าบริเวณไขสันหลัง หรือบล็อคหลัง

เป็นการแทงเข็มขนาดเล็กเข้าช่องน้ำไขสันหลังระดับเดียวกับบั้นเอวเพื่อฉีดยาชาเข้าไป เมื่อยาออกฤทธิ์ที่โพรงไขมันหลัง คุณแม่จะหมดความรู้สึกตั้งแต่ส่วนล่างของร่างกาย ตั้งแต่ระดับเหนือเอวเล็กน้อยลงมาจนถึงปลายเท้า นานประมาณ 1-3 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดยาที่ใช้

วิธีนี้แม่ยังมีสติ รู้สึกตัวขณะผ่าคลอดจึงสามารถมองเห็นลูกน้อยได้ตั้งแต่แรก ด้วยการบล็อคหลังยาจะออกฤทธิ์ที่โพรงไขสันหลังเท่านั้น ตัวยาไม่ซึมเข้ากระแสเลือด จึงจัดว่า เป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ส่วนทารกก็จะไม่ถูกกดการหายใจจากยา

นอกจากนี้ฤทธิ์ของยาชาอาจช่วยลดอาการเจ็บแผลในระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ได้ การเลือกวิธีการจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิสัญญีแพทย์

ขั้นตอนผ่าคลอดเป็นอย่างไร?

หลังยาสลบ หรือยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มขั้นตอนผ่าคลอดทันทีด้วยการกรีดเปิดผิวหนังหน้าท้อง โดยทั่วไปนิยมลงมีด 2 วิธี คือ แนวกลางลำตัว (vertical incision) และแนวขวาง (transverse incision) แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

โดยทั่วไปหากเป็นการผ่าคลอดฉุกเฉินต้องการนำทารกออกมาให้เร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย แพทย์จะใช้วิธีลงมีดแนวกลางลำตัว

หลังกรีดผ่านชั้นผิวหนังแล้ว แพทย์จะกรีดผ่านชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง การเลาะพังผืดในช่องท้อง จากนั้นก็กรีดเปิดผนังมดลูกออกเพื่อให้เห็นทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ

แพทย์จะอุ้มทารกออกมา นำโดยศีรษะ ไหล่ หลัง และลำตัว จากนั้นแพทย์จะใช้ลูกยางดูเมือกและน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกทารกออกให้หมด เพื่อไม่ให้มีสิ่งปิดกั้นทางเดินหายใจ ทารกจะได้หายใจสะดวก และตัดแต่งสายสะดือ

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำคลอดรกออก แพทย์จะตรวจดูว่า ยังมีส่วนของรก หรือสิ่งอื่นใดตกค้างอยู่ในมดลูกอีกหรือไม่ จากนั้นจึงเย็บปิดผนังมดลูกเข้าด้วยกัน และเย็บชั้นผิวหนังที่กรีดผ่านทุกชั้นจนครบ

โดยทั่วไปการผ่าตัดคลอดจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที- 1 ชั่วโมง

จากนั้นพยาบาลจะนำคุณแม่ไปห้องดูอาการหลังผ่าตัดราว 1 ชั่วโมง หากไม่มีภาวะผิดปกติจึงย้ายไปห้องพักฟื้นต่อไป ส่วนทารกแพทย์จะตรวจร่างกายอีกครั้งและให้ทารกได้พักฟื้น คลายจากความอ่อนเพลียก่อนส่งมอบให้คุณแม่ต่อไปภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด

ผ่าคลอด ผ่ากี่ชั้น เย็บกี่ชั้น?

อาจกล่าวได้ว่า การผ่าคลอดจะุมีการผ่าผ่านผิวหนังหน้าท้อง ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง การเลาะพังผืดในช่องท้อง จากนั้นก็กรีดเปิดผนังมดลูก รวมประมาณ 6 ชั้นด้วยกัน

เมื่อการผ่าคลอดนำทารกออกมาและคลอดทารกเสร็จสิ้น แพทย์จะเย็บปิดผนังมดลูก เย็บปิดเยื่อบุช่องท้อง (อาจเย็บหรือไม่ก็ได้) เย็บปิดกล้ามเนื้อหน้าท้อง เย็บปิดชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเพื่อความแข็งแรงของแผล เย็บปิดชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และเย็บปิดผนังหน้าท้อง 

ปัจจุบันนิยมใช้ไหมละลายในการเย็บแผลแต่ละชั้น

หลังผ่าคลอดภายใน 24 ชั่วโมง หากคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จะสามารถจิบน้ำ รับประทานอาหารเหลว อาหารอ่อนได้ตามลำดับ ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารปกติในช่วงแรก เพื่อป้องกันท้องอืด การปวดบีบลำไส้

เมื่อลำไส้ทำงานได้ดีจึงหยุดให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและนำสายสวนปัสสาวะออก หลังจากนี้เป็นต้นไปคุณแม่ต้องเริ่มขยับร่างกายเท่าที่ทำได้และลุกเดินให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดพังผืด

หลังผ่าคลอดราว 3-5 วัน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แผลไม่อักเสบติดเชื้อ แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ และมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

ปัจจุบันการผ่าคลอดนับว่ามีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การผ่าคลอดก็คือการดูแลแผลผ่าคลอดให้หายเป็นปกติโดยไว ไม่อักเสบ ติดเชื้อ เพื่อคุณแม่จะกลับมาแข็งแรงอีกครั้งและได้มีเวลาดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่ไร้กังวลเรื่องแผลผ่าตัดนั่นเอง

ว่าที่คุณแม่สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่ตรงใจ คุ้มค่ากับงบประมาณได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, จะคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอดดีนะ (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=430), 18 พฤษภาคม 2564.

Brian Krans, C-Section (Cesarean Section) (https://www.healthline.com/health/c-section), 18 May 2021.

Hedwige Saint Louis, MD, MPH, FACOG, Cesarean Delivery (https://emedicine.medscape.com/article/263424-overview), 18 May 2021.

MedlinePlus, Cesarean Section (https://medlineplus.gov/cesareansection.html), 18 May 2021.

NHS, Caesarean section (https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/), 18 May 2021.

@‌hdcoth line chat