กายภาพบำบัด คืออะไร? สำคัญอย่างไร ช่วยอะไรได้บ้าง?


กายภาพบำบัด คืออะไร

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “กายภาพบำบัด” อยู่บ่อยครั้ง แต่อาจยังไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด หรือยังไม่เข้าใจว่า การกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างไร จำเป็นมากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับการรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัด

วิธีทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด เป็นคำที่แปลมาจาก "Physical Therapy" ในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า "การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพ (Physical Modalities)"

กายภาพบำบัดจึงเป็นศาสตร์การรักษาที่ไม่อาศัยการรับประทานยา ไม่เน้นการผ่าตัด เพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยในกลุ่มอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ข้อ กระดูก ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ (หัวใจและปอด)

นอกจากนี้ กายภาพบำบัดจะรวมไปถึงโรคที่เกิดจากอุบัติเหตุ โรคออฟฟิศซินโดรม รวมทั้งผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเสื่อม ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้วย

การรักษาทางกายภาพบำบัดมีหลายวิธี เช่น

  • ใช้อัลตราซาวด์
  • การเลเซอร์
  • ประคบร้อน ประคบเย็น
  • การนวด
  • การออกกำลังกายเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว และเพิ่มความแข็งแรง

ผู้ให้บริการกายภาพบำบัดเรียกว่า "นักกายภาพบำบัด" ต้องจบการศึกษาด้านกายภาพบำบัดโดยตรง และต้องมีใบประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดที่ออกให้โดยสภากายภาพบำบัดเท่านั้น

นักกายภาพบำบัดจะทำงานร่วมกับวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่มีผลสำเร็จสูงสุด

ความสำคัญ และประโยชน์จากการทำกายภาพบำบัด

กายภาพบำบัดเป็นวิทยาศาตร์การแพทย์สาขาหนึ่งที่ให้ความสำคัญแก่การฟื้นฟูผู้ป่วยในภาวะต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ

นอกจากนี้ การทำกายภาพบำบัดยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมทั้งลดอัตราเสี่ยงของการกลับมามีอาการซ้ำด้วย ปัจจุบันเราสามารถแบ่งนักกายภาพบำบัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ (พร้อมตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย) ได้ดังนี้

1. ระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ

เช่น ผู้ป่วยที่ข้อเท้าพลิกทำให้เอ็นข้อเท้าฉีกขาด หลังจากได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อด้วยการใส่เฝือกแล้ว การรักษาที่ได้รับจากนักกายภาพบำบัดอาจเริ่มตั้งแต่...

  1. ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลเฝือก
  2. การเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินให้เหมาะสมกับอาการ
  3. กิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำเพื่อให้เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น เช่น การฝึกเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน การออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น อาการบวม หรือการติดแข็งของข้อต่อใกล้เคียง เนื่องจากถูกเฝือกจำกัดการเคลื่อนไหว

เมื่อผู้ป่วยตัดเฝือกออก ต้องฝึกลงน้ำหนักอย่างถูกต้อง การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้า และการออกกำลังกายเพื่อป้องกันการพลิกซ้ำของข้อเท้าเป็นสิ่งสำคัญมาก

และหลังจากถอดเฝือกแล้ว ผู้ป่วยยังอาจยังมีอาการปวดบริเวณข้อเท้าเหลืออยู่ นักกายภาพบำบัดอาจเลือกใช้อัลตราซาวด์ซึ่งเป็นคลื่นเหนือเสียงเพื่อลดปวดก็ได้

2. ระบบประสาท

เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หรือไม่สามารถขยับร่างกายซีกนั้นได้เลย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดทันทีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แม้อาจยังไม่รู้สึกตัวก็ตาม

นักกายภาพบำบัดอาจเริ่มจากเคลื่อนไหวข้อต่อของผู้ป่วยก่อนเพื่อป้องกันการติดแข็ง เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ก็จะเริ่มฝึกการเคลื่อนไหวตัวเองบนเตียงด้วยกำลังเท่าที่มี เช่น ฝึกนั่ง ฝึกยืน ฝึกเดินด้วยเครื่องช่วยเดินต่างๆ จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง

ระหว่างการออกกำลังกาย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อ (Spaticity) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง นักกายภาพบำบัดอาจเลือกใช้อุณภูมิทั้งความร้อน หรือความเย็นเพื่อยับยั้งการเกร็งแข็งที่ผิดปกติ และส่งเสริมการเคลื่อนไหวที่ปกติได้

3. ระบบทรวงอก และหัวใจ

เช่น ผู้ป่วยระยะวิกฤตที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน อาจมีเสมหะคั่งค้างในปอดมากทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

นักกายภาพบำบัดจะมีวิธีช่วยระบายเสมหะด้วยกันหลายวิธี แม้กระทั่งในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว รวมถึงการใส่ท่อเล็กๆ ที่เชื่อมกับถังสุญญากาศผ่านทางปาก และจมูกผ่านลงไปในหลอดลมเพื่อดูดเสมหะที่คั่งค้างออกมาด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจโดยศัลยแพทย์ทรวงอกก็มีข้อกำหนดชัดเจนว่า จะต้องเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อให้สามารถทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ ก่อนที่จะกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

4. กายภาพบำบัดในเด็ก

เช่น เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของสมองทำให้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ไม่สามารถคลาน ยืน เดิน พูด หรือกลืนอาหารได้อย่างปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนแก้ไข หรือบรรเทาความรุนแรงของความบกพร่องทางร่างกายในอนาคตได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด

5. กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ

เป็นอีกสาขาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเข้าค่อยๆ ขยับเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย นักกายภาพบำบัดที่ทำงานในด้านนี้จึงมีบทบาทอย่างมาก เช่น

  • การออกกำลังเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย
  • การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการมีสุขภาพจิตที่ดี
  • การป้องกันภาวะโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับอายุที่มาขึ้น เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคกระดูกพรุน และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ

6. กายภาพบำบัดทางการกีฬา

มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาแต่ละประเภทที่อาศัยทักษะ และการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายที่แตกต่างกัน ป้องกันการบาดเจ็บ และรักษาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นกีฬา

นอกจากนี้ การฟื้นฟูนักกีฬาที่บาดเจ็บให้กลับมาลงแข่งขันได้อย่างรวดเร็วที่สุด ก็เป็นงานสำคัญของนักกายภาพบำบัดที่ทำงานด้านนี้

ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้เล็กน้อยข้างต้นจะเห็นว่า วัตถุประสงค์หลักของการทำกายภาพบำบัดก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเต็มความสามารถที่ตนเองมีในทุกช่วงอายุ หรือแม้กระทั่งระหว่างบาดเจ็บนั่นเองนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีงานด้านอื่นๆ ของนักกายบำบัดที่น่าสนใจอีก เช่น

  • ธาราบำบัด ซึ่งเน้นการออกกำลังกายในน้ำสำหรับทั้งผู้ที่มีสุขสภาพดี และผู้ที่มีปัญหาในการออกกำลังกายบนบก
  • การออกแบบ และผลิตกายอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย
  • การควบคุม หรือฝึกสอนออกกำลังกายทางเลือกที่ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานด้านสรีระวิทยา เช่น พิลาทีส การออกแบบรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้าของผู้รับบริการแต่ละคน กายภาพบำบัดในสตรีตั้งครรภ์

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการรักษาทางกายภาพบำบัด

1. ผู้ให้การรักษาต้องมีใบประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด

กายภาพบำบัดเป็นการรักษาที่อาศัยหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน

ดังนั้นนักกายภาพบำบัดต้องมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ สรีระวิทยา และเทคนิคทางกายภาพบำบัดอย่างดี ก่อนเข้ารับการรักษาควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ให้การรักษามีใบประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด

2. อาจต้องรักษาควบคู่กันไปกับการใช้ยา

ถึงแม้กายภาพบำบัดจะอาศัยหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน และไม่มุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยยา แต่หากอาการของผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรับการรักษาทางยาควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด

ดังนั้นคุณควรทำตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดควบคู่กับการปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ไม่ควรรับประทานยาด้วยตัวเอง

3. ผลของการรักษาทางกายภาพบำบัดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง

เช่น อาการ และความรุนแรงของอาการ อายุของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังอาการปวดอาจลดลงครึ่งหนึ่ง หรือไม่มีอาการปวดหลงเหลืออยู่เลยหลังจากการทำกายภาพบำบัดเพียงครั้งเดียว

แต่ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาทำงานได้ปกติ

4. ระยะเวลาในการรักษาไม่เท่ากัน

กายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่อาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลักสัปดาห์ไปจนถึงเป็นปี ทั้งนี้การรักษาในแต่ละครั้งอาจไม่เหมือนกันเลยสักครั้งก็ได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามาพบนักกายภาพบำบัดสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งอาจได้รับการรักษาที่ไม่ซ้ำกันเลยสักครั้งเดียว

นอกจากนี้ ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาแต่ละครั้งก็อาจจะไม่เท่ากันด้วย ขึ้นอยู้กับลักษณะอาการ และความร้ายแรงของโรค

เทคนิคที่นักกายภาพบำบัดเลือกใช้ในผู้ป่วยอาการเดียวกัน อาจแตกต่างกันได้ แล้วแต่ผลการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวัตถุประสงค์ของนักกายภาพบำบัด เช่น

ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อมือเหมือนกัน รายแรกอาจจะได้รับการรักษาด้วยการทำอุลตราซาวน์เพื่อลดปวด ในขณะที่อีกรายอาจจะได้รับการขยับข้อต่อบริเวณข้อมือ ร่วมกับการยืดเส้นประสาทที่ลอดผ่านข้อมือเพื่อลดอาการปวดก็เป็นไปได้

ดังนั้นการรักษาด้วยกายภาพบำบัดจึงเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าศาสตร์การรักษาประเภทอื่น นอกจากจะฟื้นฟู บำบัด อาการเจ็บป่วยแล้ว การรักษาด้วยกายภาพบำบัดอย่างถูกต้อง และเหมาะสมยังช่วยลดโอกาสเข้ารับการผ่าตัดในบางโรคได้อีกด้วย


บทความเกี่ยวกับกายภาพบำบัด


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat