การคลอดธรรมชาติ คืออะไร


คลอดลูก-คลอดธรรมชาติ-อุ้มทารกแรกเกิด

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • การคลอดธรรมชาติคือ การที่แม่เบ่งคลอดลูกผ่านทางช่องคลอดซึ่งเป็นช่องทางธรรมชาติด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด แพทย์มักแนะนำให้คลอดลูกด้วยวิธีนี้ เพราะมีความเหมาะสม ปลอดภัย ดีต่อแม่ และลูกมากที่สุด
  • สัญญาณเตือนแม่พร้อมคลอด ได้แก่ เจ็บท้องเตือนบ่อยครั้งขึ้นและเจ็บรุนแรงขึ้น มีมูกสีขาวเหนียวข้นออกมาจากช่องคลอด หรือมีเลือดปนออกมาจากมดลูก มีอาการน้ำเดิน หรือน้ำคร่ำเดิน และปากมดลูกเริ่มเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ 
  • ข้อดีของการคลอดธรรมชาติคือ เสียเลือดน้อย คุณแม่จึงอ่อนเพลียไม่มาก ไม่เหนื่อยจนเกินไป ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว สามารถให้น้ำนมลูกน้อยได้ทันทีที่พร้อม บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการคลอดมีขนาดเล็กจึงสมานตัวได้เร็ว และมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก
  • ในทางวิชาการ ถือว่า ระหว่างที่คลอดผ่านช่องคลอด ลูกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพ ที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ผ่านทางปากสู่ลำไส้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานโรคได้ รวมทั้งช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ได้
  • คุณแม่ที่สามารถคลอดธรรมชาติได้จะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทารกในครรภ์กลับศีรษะลงสู่เชิงกรานแล้ว แต่หากตรวจพบว่า ทารกยังไม่กลับศีรษะ ก็ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ กรณีเช่นนี้แพทย์มักแนะนำให้ผ่าคลอดแทนเพื่อรักษาชีวิตแม่และทารกเอาไว้
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร หรือแอดไลน์ @hdcoth

การคลอดธรรมชาติ หรือการคลอดธรรมชาติผ่านทางช่องคลอด เป็นสิ่งที่คนเป็นแม่ส่วนใหญ่รอคอย และคาดหวังที่จะสามารถให้กำเนิดลูกน้อยได้ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะดูเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อนอะไรมากมายแล้ว การคลอดธรรมชาติยังน่าจะมีข้อดีหลายอย่างเพราะเป็นการคลอดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

การคลอดธรรรมชาติคืออะไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และใครสามารถคลอดธรรมชาติได้บ้าง HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบแบบชัดๆ รวมถึงสามารถเช็กราคาคลอดธรรมชาติ เพื่อให้คุณแม่สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในการวางแผนคลอด


เลือกหัวข้อเกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติได้ที่นี่

  • การคลอดธรรมชาติคืออะไร?
  • ข้อดีของการคลอดธรรมชาติคืออะไร?
  • ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติคืออะไร?
  • ขั้นตอนของคลอดธรรมชาติ
  • ใครที่สามารถคลอดธรรมชาติได้บ้าง?

  • การคลอดธรรมชาติคืออะไร?

    การคลอดธรรมชาติคือ การที่แม่เบ่งคลอดลูกผ่านทางช่องคลอดซึ่งเป็นช่องทางธรรมชาติด้วยตนเองโดยไม่ใช้การผ่าตัด โดยปกติแล้วหากคุณแม่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพใดๆ แพทย์มักแนะนำให้คุณแม่คลอดลูกด้วยวิธีนี้ เพราะมีความปลอดภัย ดีต่อแม่และลูกมากที่สุด

    การคลอดธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทารกในครรภ์เริ่มกลับศีรษะลงด้านล่างในช่วงสัปดาห์ที่ 34 ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ท่าดังกล่าวนับเป็นท่าที่เหมาะสมและถูกต้องในการคลอดธรรมชาติ จากนั้นเมื่อครบกำหนดอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกซึ่งอยู่ในท่ากลับศีรษะแล้วก็จะค่อยๆ เลื่อนตัวลงมาที่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอด

    แต่ละสัปดาห์ที่ผ่านไป คุณแม่จะเริ่มมีการเจ็บท้องเตือนบ่อยครั้งขึ้นและเจ็บท้องรุนแรงขึ้น มีมูกสีขาวเหนียวข้นออกมาจากช่องคลอด หรือมีเลือดปนออกมาจากมดลูก เนื่องจากเส้นเลือดบริเวณปากมดลูกมีการฉีกขาด 

    อาการดังกล่าวหมายถึง ปากมดลูกเริ่มเปิด หรือขยายตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการคลอดธรรมชาตินั่นเอง

    คุณแม่บางรายอาจมีอาการน้ำเดิน หรือน้ำคร่ำเดิน เพราะเกิดจากศีรษะของทารกกดถุงน้ำคร่ำจนแตก กรณีเช่นนี้คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพราะหากปล่อยทิ้งไว้นาน คุณแม่อาจเกิดการติดเชื้อตามมาได้

    เมื่อมาถึงโรงพยาบาล คุณหมอจะทำการตรวจดูความกว้างของปากมดลูกเป็นช่วงๆ ซึ่งโดยทั่วไปปากมดลูกจะขยายต้วออกประมาณ 1 เซนติเมตร ทุกๆ 1 ชั่วโมง หากมีความกว้างที่มากพอประมาณ 7 เซนติเมตรขึ้นไป นั่นเป็นสัญญาณว่า คุณแม่พร้อมคลอดธรรมชาติได้แล้ว

    เช็กราคาคลอดบุตร

    ข้อดีของการคลอดธรรมชาติคืออะไร?

    • การคลอดธรรมชาติค่าใช้จ่ายถูกกว่าการผ่าตัดคลอดมาก
    • สามารถคลอดได้ทันที เมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บท้องคลอดและปากมดลูกเปิดแล้ว
    • คุณแม่มีสติ รู้ตัวดี และเคลื่อนไหวร่างกายได้ตลอดระยะเวลาที่คลอด
    • เสียเลือดน้อย คุณแม่จึงอ่อนเพลียไม่มาก ไม่เหนื่อยจนเกินไป ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว
    • คุณแม่สามารถให้น้ำนมลูกน้อยได้ทันทีที่พร้อม บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการคลอดมีขนาดเล็กจึงสมานตัวได้เร็ว และมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก
    • มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หลังคลอดน้อย
    • ในทางวิชาการ ถือว่า ระหว่างที่คลอดผ่านช่องคลอด ลูกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพ ที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ผ่านทางปากสู่ลำไส้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานโรคได้ รวมทั้งช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ได้
    • ระหว่างที่คลอดทารกผ่านช่องคลอด ช่องคลอดจะบีบส่วนช่องอกของทารกเหมือนเป็นการรีดของเหลวออกจากปอดของทารก เมื่อลูกน้อยสูดอากาศหายใจเข้าครั้งแรก จึงไม่มีการสำลัก หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น การหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ
    • ช่วยลดโอกาสการเกิดรกเกาะต่ำ รกติดแน่น ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆ ไปได้
    • ทำให้คุณแม่รู้สึกมั่นใจในการคลอดธรรมชาติ และภูมิใจที่สามารถคลอดวิธีนี้ได้สำเร็จ ซึ่งหากมีการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆ ไป คุณแม่ส่วนมากก็มีแนวโน้มเลือกการคลอดวิธีธรรมชาติอีก

    ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติคืออะไร?

    • คาดเดาช่วงเวลาคลอดที่แน่นอนได้ยาก เพราะต้องรอให้มีอาการเจ็บท้องคลอดและปากมดลูกเปิดก่อน
    • ทรมานการเจ็บท้องนาน เพราะต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเต็มที่ก่อนจึงจะคลอดได้
    • ระหว่างการคลอดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องรีบแก้ไขด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ทารกตัวใหญ่ แต่เชิงกรานคุณแม่แคบไปนิด คลอดลำบาก ทั้งนี้การผ่าตัดฉุกเฉินซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนมาก่อนอาจมีความเสี่ยงมากกว่าการผ่าคลอดที่วางแผนไว้ก่อนหน้าแล้ว
    • หากคุณแม่เบ่งไม่เป็น หมดแรงเบ่งคลอด หรือศีรษะทารกหมุนผิดทาง แพทย์อาจต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีมช่วยนำเด็กออกมา ซึ่งอาจมีผลต่อรูปทรงกระโหลกศีรษะของลูกน้อยในระยะแรกๆ เช่น ดูยาวขึ้น มีรอยคีมที่บริเวณขมับ
    • หลังคลอดอาจมีปัญหาช่องคลอดหย่อนลง ไม่กระชับได้ บางรายอาจเกิดปัญหาในการขับถ่ายตามมาในอนาคต เช่น ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ หรือจามแรงๆ 

    อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่หยิบยกมานี้เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อยมาก และเมื่อนำมาเทียบเคียงกับข้อดีก็พบว่า “มีข้อดีมากกว่า” ในการวางแผนการคลอด แพทย์จึงมักแนะนำให้คุณคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

    ขั้นตอนของคลอดธรรมชาติ

    ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติเป็นกระบวนการที่มีความเฉพาะตัวมาก แต่ละคนอาจมีประสบการณ์คลอดแตกต่างกัน ดังนั้นหากจะสรุปขั้นตอนการคลอดธรรมชาตินั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะหลักๆ ดังนี้

    1. ระยะก่อนคลอด

    ระยะก่อนคลอด คือช่วงที่คุณเริ่มรู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูก ทำให้ปากมดลูกขยายออกเพื่อให้ทารกเคลื่อนตัวไปยังช่องคลอดได้ง่ายขึ้น ระยะก่อนคลอดกินเวลานานที่สุดในขั้นตอนของการคลอด จึงสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีก 2 ระยะสั้นๆ ดังนี้

    1.1. ช่วงปากมดลูกเปิดขั้นแรก (Early Labor)

    ช่วงปากมดลูกเปิดขั้นแรก เป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดกว้างขึ้น ทำให้อาจมีสารคัดหลั่งหรือเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย ระยะนี้เป็นระยะที่คาดเดาช่วงเวลาที่เกิดขึ้นได้ยาก และอาจมีระยะไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน ระยะเวลามักจะสั้นลงในการคลอดธรรมชาติครั้งต่อๆ ไป

    ช่วงนี้อาจรู้สึกถึงแรงบีบตัวจากมดลูกทำให้ไม่สบายตัวนัก แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวไปมาและช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ อาจใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อให้ผ่อนคลายขึ้นได้

    • เดินไปมา
    • อาบน้ำ
    • ฟังเพลงที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
    • ฝึกใช้เทคนิคการหายใจ
    • เปลี่ยนท่าทาง

    หากการตั้งครรภ์ของคุณเป็นไปได้ด้วยดี ไม่มีอาการอย่างอื่นแทรกซ้อน ระยะนี้ยังคงอยู่ที่บ้านได้ตามปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

    1.2. ช่วงปากมดลูกเปิดกว้าง (Active Labor)

    ช่วงนี้ปากมดลูกเปิดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และอาจกินเวลารวม 4-8 ชั่วโมง (ปากมดลูกเปิดประมาณ 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง) คุณอาจรู้สึกถึงการบีบตัวมากขึ้นและถี่ขึ้น บางครั้งช่วงขาอาจเป็นตะคริว รู้สึกคลื่นไส้ ปวดหลังมากขึ้น และอาจมีน้ำคร่ำแตก ซึ่งควรไปยังโรงพยาบาลทันที

    ระหว่างรอถึงเวลาคลอด ผู้ให้บริการหรือเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลจะให้คำแนะนำวิธีการบรรเทาความไม่สบายตัวต่างๆ เช่น เทคนิคการหายใจ การจัดท่าทาง คนใกล้ตัวอาจอยู่ให้กำลังใจผู้ตั้งครรภ์ด้วย

    1.3. ช่วงเปลี่ยนผ่าน

    ช่วงเปลี่ยนผ่านจะเกิดการหดตัวถี่ขึ้นมากและการหดตัวแต่ละครั้งอาจนาน 60-90 นาที จนอาจรู้สึกถึงแรงกดบริเวณหลังส่วนล่างและลำไส้ตรง โดยปกติช่วงนี้จะกินเวลาอยู่ราวๆ 15-60 นาที

    หากรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องเบ่งคลอดลูกแล้วให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่จะดูความเหมาะสมว่าควรคลอดหรือยัง เพราะหากเบ่งคลอดลูกเร็วเกินอาจทำให้คุณแม่เหนื่อยเกินไป และปากมดลูกบวมจนคลอดได้ช้าลงได้

    2. ระยะคลอด

    แพทย์จะให้สัญญาณเป็นจังหวะตามการบีบตัวของมดลูกเพื่อให้คุณเบ่งคลอดลูก หรือหากจังหวะไหนที่อยากเบ่งด้วยตัวเองก็สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้เช่นกัน

    ในบางกรณีแพทย์อาจบอกให้ใช้แรงเบ่งเบาลงเล็กน้อย เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดยืดตัวมากขึ้นและลดการฉีดขาด

    เมื่อหัวของทารกโผล่ออกมาแล้ว ลำตัวของทารกจะค่อยๆ ออกตามมาในไม่ช้า แพทย์จะทำความสะอาดทางเดินหายใจให้ทารกและตัดสายสะดือ

    ระยะคลอดนี้อาจกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนถึงมากกว่าชั่วโมงในบางกรณี ส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้เวลาคลอดนานจะเป็นผู้ที่คลอดเป็นครั้งแรก

    3. ระยะคลอดรก

    หลังจากคลอดทารกเรียบร้อยแล้วคุณจะรู้สึกโล่งใจมากขึ้น และอาจได้กอดลูกเป็นครั้งแรก คุณแม่หลายคนจะให้ความสำคัญไปที่ลูกจนถึงขนาดลืมสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว แต่ในขณะเดียวกันก็จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการคลอดธรรมชาติ นั่นก็คือระยะคลอดรก

    ระยะนี้คุณอาจรู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูกอีกครั้ง เพื่อพยายามขับเอารกออกมาบริเวณช่องคลอด แพทย์จะบอกให้คุณค่อยๆ เบ่งเพื่อขับเอารกออก บางกรณีอาจมีการให้ยาก่อนหรือหลังคลอดรกเพื่อกระตุ้นการหดตัวและลดการเสียเลือด

    ระยะนี้มักกินเวลาประมาณ 30 นาที และอาจนานสุดได้ถึงชั่วโมง หลังจากขับรกออกจากมดลูกแล้ว มดลูกจะยังคงมีการบีบตัวอยู่บ้างเพื่อพยายามกลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง

    เจ้าหน้าที่อาจมีการนวดหน้าท้องเพื่อช่วยให้มดลูกบีบตัวและลดเลือดออก รวมถึงอาจตรวจดูว่ามีการฉีกขาดของช่องคลอดที่จำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่

    คลอดบุตรราคาจากหลายที่

    ใครที่สามารถคลอดธรรมชาติได้บ้าง?

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะสามารถคลอดธรรมชาติได้ ถึงแม้คุณแม่บางรายจะตัดสินใจเลือกการคลอดก่อนแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาต้องคลอดจริงๆ ก็ยังอาจมีปัจจัยเหนือการควบคุมเกิดขึ้นได้

    โดยทั่วไปคุณแม่ที่สามารถคลอดธรรมชาติได้จะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทารกในครรภ์อยู่ในท่าศีรษะกลับลงสู่เชิงกรานแล้ว แต่หากแพทย์ตรวจพบว่า ทารกยังไม่กลับศีรษะ และมีแนวโน้มคลอดโดยนำเท้าออกมาก่อน ก็ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ กรณีนี้แพทย์มักแนะนำให้ผ่าคลอดแทนเพื่อรักษาชีวิตแม่และทารกเอาไว้

    หากท้องแรกของคุณแม่คลอดด้วยการผ่าคลอดมาแล้วเกิน 1 ปี ในท้องนี้หากคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงและทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอดก็สามารถคลอดธรรมชาติได้เช่นกัน

    เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์แนะนำให้รีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ครรภ์อยู่ในความดูแลของแพทย์ไปจนครบกำหนดคลอด แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่คุณแม่เพื่อให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกปลอดภัย รวมทั้งร่วมวางแผนคลอดได้เหมาะสมที่สุด   

    ว่าที่คุณแม่สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่ตรงใจ คุ้มค่ากับงบประมาณได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Mayo Clinic, Labor and delivery, postpartum care, (https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/in-depth/stages-of-labor/art-20046545), 13 January 2022.
    • WebMD, Childbirth: The Stages of Delivery (https://www.webmd.com/baby/features/childbirth-stages-delivery#3), 25 March 2021.
    • The Healthline Editorial Team, What to Expect During a Vaginal Delivery (https://www.healthline.com/health/pregnancy/intrapartum-care-vaginal-delivery), 25 March 2021.
    • Judith A. Lothian, Why Natural Childbirth? (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1595040/), 25 March 2021.
    • Erica Hersh, What You Need to Know About Natural Birth (https://www.healthline.com/health/pregnancy/natural-birth), 25 March 2021.
    @‌hdcoth line chat