what is iui scaled

เจาะลึก IUI คืออะไร เหมาะกับใครบ้าง?

วิธีช่วยให้ผู้ที่มีลูกยากนั้นมีหลายวิธี แต่ไม่ใช่ว่าใครถูกใจวิธีการไหนแล้วจะสามารถเลือกใช้ได้เลย การเลือกวิธีให้เหมาะกับตัวเองจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ มากมาย

IUI คืออะไร?

IUI ย่อมาจากคำเต็มว่า Intrauterine insemination คืออีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยผู้มีลูกยากสามารถตั้งครรภ์ได้ ด้วยวิธีฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงที่เกิดการตกไข่พอดี

วิธีนี้จะช่วยลดระยะทางที่อสุจิจะต้องเดินทางไปผสมกับไข่ เพราะโดยธรรมชาติเวลามีเพศสัมพันธ์ อสุจิจะต้องเคลื่อนตัวจากช่องคลอดไปยังปากมดลูก เข้าไปในมดลูก และเคลื่อนต่ไปจนถึงท่อนำรังไข่

การทำ IUI จึงเป็นเหมือนทางลัดในการเคลื่อนตัวไปสู่ไข่ท่อนำรังไข่ ช่วยให้อสุจิมีโอกาสผสมกับไข่ได้มากขึ้น

การทำ IUI เหมาะกับใคร?

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ควรพิจารณาว่าตนและคู่ของตนเองเหมาะกับ IUI หรือไม่

  • ผู้ที่ต้องการรับบริจาคเชื้ออสุจิ คู่รักบางคู่อาจไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยตัวเอง จึงต้องการรับบริจาคอสุจิ ซึ่งอสุจิมักจะได้รับการแช่แข็งมาก่อน จากนั้นก็ใช้วิธี IUI เพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก
  • ผู้ที่มีลูกยากโดยหาสาเหตุไม่ได้ ในกรณีนี้ผู้ชำนาญการหลายคนอาจแนะนำให้ใช้วิธี IUI เป็นวิธีแรกในการรักษาร่วมกับยากระตุ้นการตกไข่
  • ผู้ที่มีลูกยากโดยเกิดจากปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก อาจทำร่วมกับใช้ยากระตุ้นเพื่อให้ได้ไข่ที่ดีที่สุด
  • ผู้ที่เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง ในคู่ที่มีลูกยากจะต้องมีการตรวจวิเคราะห์เชื้ออสุจิเพื่อหาสาเหตุ หากพบว่าอสุจิมีปริมาณน้อย เคลื่อนที่ช้า รูปร่างผิดปกติ IUI อาจเป็นวิธีแรกๆ ในการแก้ไข ช่วยให้อสุจิเดินทางถึงรังไข่ได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่มูกบริเวณช่องคลอดผิดปกติ โดยปกติแล้วหากผู้หญิงอยู่ในช่วงตกไข่จะมีของเหลวออกมาบริเวณช่องคลอดเพื่อให้อสุจิเคลื่อนที่ง่ายขึ้น แต่บางคนอาจผลิตของเหลวเหล่านี้มาเหนียวข้นเกินไป อสุจิจึงไม่สามารถเคลื่อนที่ถึงท่อนำรังไข่ได้
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ เช่น จำนวนไข่ตกน้อยเกินไป
  • ผู้ที่แพ้อสุจิ ผู้หญิงบางคนแพ้โปรตีนในน้ำอสุจิ การมีเพศสัมพันธ์จึงอาจทำให้เกิดอาการ แดง บวม แสงร้อน บางคนไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองแพ้อสุจิหากมีเพศสัมพันธ์แบบใช้ถุงยางมาตลอด แต่กรณีนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก และ IUI อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน

IUI เป็นหนึ่งในทางเลือกแรกๆ ของผู้ที่มีบุตรยาก ซึ่งแตกต่างกับการทำ IVF และ ICSI เพราะทั้ง 2 วิธีดังกล่าวมีความซับซ้อนมากกว่า

การทำ IUI ไม่เหมาะกับใคร?

แม้ IUI จะเป็นทางเลือกแรกๆ ในการช่วยเหลือผู้ที่มีลูกยากให้สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้วิธี IUI ได้ ต่อไปนี้คือรายการของคนที่อาจไม่เหมาะกับวิธี IUI

  • ผู้หญิงที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แบบรุนแรง
  • ผู้หญิงที่ตัดต่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้าง หรือทำการผูกท่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้างแล้ว
  • ผู้หญิงที่มีโรคเกี่ยวกับท่อนำรังไข่ชนิดรุนแรง
  • ผู้หญิงที่เกิดการติดเชื้อในอุ้งกระดูกเชิงกราน
  • ผู้ชายที่ไม่สามารถผลิตเชื้ออสุจิได้ (แต่คู่รักเพศหญิงยังคงสามารถใช้ IUI จากผู้บริจาคอสุจิได้)

หากใครที่เข้าเงื่อนดังกล่าว ควรนำเงื่อนไขนั้นปรึกษากับแพทย์เพื่อยืนยันว่าวิธีนี้ไม่เหมาะจริงหรือไม่ ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาวิธีอื่นต่อไป

ข้อดีและจุดเด่นของการทำ IUI

หนึ่งในเหตุผลที่หลายคนต้องการใช้วิธี IUI ในการช่วยตั้งครรภ์ เพราะมีข้อดีหลายข้อที่เหมาะกับผู้ใช้บริการ ดังนี้

  • เป็นการผสมเทียมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ
  • เป็นวิธีที่เจ็บตัวน้อยกว่าวิธีอื่นๆ เช่น IFV, ICSI, IMSI
  • ในบางกรณีสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ยากระตุ้น
  • ค่าใช้จ่ายถูกกว่าวิธีอื่นๆ เช่น IFV, ICSI, IMSI

ข้อเสียและข้อควรระวังของการทำ IUI

ข้อเสียและข้อควรระวังของ IUI มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย หรือเกิดขึ้นก็มักไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ควรที่จะนำไปปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาด้วยเช่นกัน

  • อาจเกิดการติดเชื้อ ในขั้นตอนการทำ IUI มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ แต่กรณีนี้พบได้น้อย
  • อาจเกิดการระคายเคือง ในขั้นตอนการทำ IUI จะต้องสอดสายสวนขนาดเล็กผ่านทางช่องคลอด อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเลือดออกเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์
  • อาจตั้งเกิดการครรภ์แฝด หนึ่งในขั้นตอนการทำ IUI จะต้องมีการให้ยากระตุ้นการตกไข่ จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดการตกไข่ และเกิดการปฎิสนธิมากกว่า 1 ฟอง ผู้ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน

ขั้นตอนการทำ IUI

การทำ IUI มีความซับซ้อนไม่มากเท่ากับการทำ IVF และ ICSI สามารถแบ่งขั้นตอนหลักๆ ได้ 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. การเตรียมตัวก่อนทำ IUI

กาารทำ IUI ต้องอาศัยความพร้อมจากปัจจัยหลายอย่าง สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนทำ IUI อาจมีดังนี้

  • ติดตามรอบการตกไข่ เพื่อให้สามารถทำ IUI ได้ตรงกับวันไข่ตก แพทย์อาจให้ชุดตรวจฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อถึงช่วงตกไข่ หรือแพทย์อาจนัดวันเพื่อมาทำ อัลตราซาวด์ช่องคลอดดูว่าไข่พร้อมหรือยัง นอกจากนี้ยังอาจมีการให้ Human chorionic gonadotropin (HCG) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตกไข่มากกว่า 1 ฟอง
  • เตรียมความพร้อมของน้ำอสุจิ แพทย์จะนำน้ำอสุจิเข้าไปเตรียมพร้อมในห้องปฎิบัติการด้วยการแยกเชื้ออสุจิออกจากน้ำ เพราะส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเชื้ออสุจิ อาจส่งผลกระทบกับการปฎิสนธิได้

เมื่อเตรียมรอบการตกไข่พร้อมแล้ว แพทย์จะกำหนดวันทำ IUI อาจนัดภายใน 1-2 วันหลังจากพบการตกไข่แล้ว

2. ขั้นตอนการทำ IUI

เมื่อถึงวันทำ IUI จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10-30 นาที ไม่ต้องรับยาระงับความรู้สึก ขั้นตอนการทำอาจมีดังนี้

  • แพทย์อาจให้นั่งบนขาหยั่งเช่นเดียวกับการตรวจภายใน จากนั้นแพทย์จะสอดเครื่องมือเพื่อถ่างช่องคลอด
  • แพทย์จะใส่สายสวนที่มีขนาดเล็ก แต่บรรจุเชื้ออสุจิที่แข็งแรงเอาไว้ที่ปลายเข้าไปในช่องคลอด
  • เมื่อสอดเข้าไปจนถึงบริเวณมดลูกจึงจะปล่อยอสุจิเข้าไป จากนั้นจึงนำสายสวนออก และถอดเครื่องถ่างออก

หลังจากเสร็จสิ้นเรียบร้อย แพทย์จะให้นอนหงายอยู่เฉยๆ สักครู่ จากนั้นสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

3. รอผลการตั้งครรภ์

หลังจากทำ IUI แล้วจะต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ และทำการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์

แพทย์จะนัดให้กลับมาตรวจเลือดเพื่อยืนยันผล หากไม่เกิดการตั้งครรภ์อาจต้องทำ IUI ใหม่อีกครั้ง หากทำหลายครั้งแล้วยังไม่สำเร็จ แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนไปลองวิธีอื่น

ทำ IUI มีโอกาสสำเร็จมากแค่ไหน?

อัตราความสำเร็จรวมของผู้ทำ IUI ทุกประเภทเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-15% แต่เปอร์เซ็นดังกล่าวมีความคาดเคลื่อนกันไปตามเกณฑ์วัดของแต่ละการศึกษา จึงควรใช้เป็นหนึ่งข้อมูลประกอบการพิจารณาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลายการศึกษาพบว่าจำนวนครั้งในการทำ IUI มีผลต่ออัตราความสำเร็จเช่นกัน หากทำหลายครั้งก็อาจมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

ในผู้ที่ทำ IUI จำนวน 3-4 ครั้ง มีโอกาสสำเร็จมากถึง 90% แต่ทั้งนี้ต้องประเมินปัจจัยอื่นๆ ในการทำด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่

แพทย์จะสามารถให้ความเห็นได้ว่าควรทำต่ออีกครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มว่าโอกาสจะลดลงมาก

การทำ IUI เลือกเพศลูกได้ไหม?

ไม่ได้ การทำ IUI เป็นเพียงวิธีช่วยให้อสุจิสามารถเข้าไปผสมกับไข่ตามธรรมชาติ “ง่ายขึ้น” เท่านั้น ซึ่งคล้ายกับการมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่สามารถเลือกเพศได้

การทำ IUI มีลูกแฝดได้ไหม?

มีโอกาสเป็นไปได้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าหากมีการกระตุ้นไข่จนตกไข่มากกว่า 1 ฟอง ก็อาจเกิดลูกแฝดได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์กันตามปกติ ก็มีโอกาสเกิดแฝดได้จากการที่เซลล์แบ่งตัวมากกว่าปกติเช่นกัน

ทำ IUI ราคาประมาณเท่าไร?

การทำ IUI ราคาอยู่ที่ประมาณ 18,000-25,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ว่าราคาที่กำหนดนั้นควบคุมอะไรบ้าง

Scroll to Top