หญิงและชายจะมีฮอร์โมนเพศในร่างกายทั้ง 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจัดเป็นฮอร์โมนเพศหญิงและโปรเจสเตอโรนที่เป็นฮอร์โมนที่นำไปสร้างเป็นแอนโดรเจนที่เป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศชายซึ่งมีหลายชนิด
เอสโตรเจนผลิตมาจากไหน?
ร่างกายสามารถผลิตเอสโตรเจนได้จากต่อมหมวกไตชั้นนอก จากรกและจากถุงไข่ในรังไข่ระยะที่กำลังเจริญเติบโต โดยเริ่มต้นจากการนำโคเลสเตอรอลในเลือดมาเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นโปรเจสเตอโรน และสุดท้ายจึงได้เป็นเอสโตรเจน
เอสโตรเจนที่ร่างกายสร้างจัดเป็นเอสโตรเจนธรรมชาติ มีโครงสร้างเคมีเป็นสารกลุ่มสเตียรอยด์ 6 ชนิด แต่ที่สำคัญมี 3 ชนิด ได้แก่
- เอสไตรออล
- เอสโตรน
- เอสตราไดออล
เอสโตรเจนมีผลต่อร่างกายอย่างไร?
ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่อร่างกาย ดังนี้
- ทำให้มีลักษณะของเพศหญิง เช่น ช่วงไหล่แคบ สะโพกผาย มีหน้าอก และมีไขมันสะสมบริเวณสะโพก ผิวตึง มีเสียงแหลม ฯลฯ
- กระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ถุงไข่ และไข่อ่อน
- ทำให้ปีกมดลูกหรือท่อนำไข่และกล้ามเนื้อมดลูกหดตัว กล้ามเนื้อเรียบ เช่น หลอดเลือดฝอย มีการเคลื่อนไหวบีบรัดมากขึ้น
- เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มดลูกมีขนาดใหญ่และผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น
- กระตุ้นเซลล์บริเวณปากมดลูกและช่องคลอดให้หลั่งน้ำเมือกหรือตกขาวที่ใส ไม่เหนียว และมีปริมาณมาก เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ของอสุจิไปยังมดลูกและปีกมดลูก
- ทำให้มีการปิดของกระดูกในทางยาวหรือกระดูดในทางยาวหยุดเจริญเติบโต เราจะสังเกตได้ว่าเด็กผู้หญิงจะหยุดสูงเมื่อมีประจำเดือน ซึ่งหมายความว่ารังไข่ได้สร้างเอสโตรเจนแล้วนั่นเอง
- ยับยั้งการสลายของเนื้อกระดูก เนื่องจากเอสโตรเจนควบคุมให้เกิดความสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย โดยเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าเกาะกับเนื้อกระดูกได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ลดการสลายตัวของแคลเซียมออกจากเนื้อกระดูก ผลคือทำให้เนื้อกระดูกหรือมวลกระดูดยังคงความหนาแน่น แข็งแรง ไม่เปราะบางและแตกหักง่าย
- มีผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน พบว่าเอสโตรเจนทำให้โคเลสเตอรอลชนิดดีหรือที่เรียกว่า เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL-cholesterol) เพิ่มขึ้นและปริมาณโคเลสเตอรอลนิดไม่ดีหรือที่เรียกว่า แอลดีแอล โคเลสเตอรอล(LDL-cholesterol) ลดลงนอกจานั้นยังทำให้ระดับของไตรกีเชอไรด์ลดลง การเปลี่ยนแปลงของไขมันในลักษณะนี้ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ทำให้ไตซับโซเดียวออกจากร่างกายน้อยลง มีผลให้เกิดการคั่งของน้ำและโซเดียมในร่างกาย
- มีผลต่อต่อมใต้สมองส่วนหน้า
พบว่าเอสโตรเจนในปริมาณต่ำจะกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH) ซึ่งเอฟเอสเอชเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของถุงไข่และไข่อ่อน แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีปริมาณเอสโตรเจนมาก กลับมีผลตรงกันข้าม คือ จะไปยังยั้งต่อมใต้สมองส่วนหน้าไม่ให้หลั่งเอฟเอสเอช เมื่อไม่มีเอฟเอสเอช ก็จะทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของถุงไข่อ่อนและไข่อ่อน
ในทางการแพทย์จึงได้นำผลของเอสโตรเจนข้อนี้มาใช้ในการคุมกำเนิด โดยทำเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด เมื่อรับประทานเข้าไปก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณเอสโตรเจนในร่างกายให้มากขึ้น ทำให้มีผลยังยั้งต่อมใต้สมองส่วนหน้าไม่ให้หลั่งเอฟเอสเอช เมื่อไม่มีเอฟเอสเอช ถุงไข่และไข่อ่อนก็ไม่เจริญเติบโต เป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ทางอ้อมนั่นเอง
นอกจากเอสโตรเจนธรรมชาติที่สร้างจากร่างกายแล้ว ยังมีเอสโตรเจนธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่พบในพืชต่างๆ เรียกกันอีกอย่างว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” ซึ่งโครงสร้างทางเคมีของเอสโตเจนที่ได้จากพืชนี้ เป็นโครงสร้างเคมีที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ตัวอย่างเช่น ฟลาโวน ไอโซฟลาโวน และอนุพันธ์คูเมสแทน เป็นต้น
ไฟโตเอสโตรเจนต่างๆ เหล่านี้พบได้ในพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วนัท ข้าวสาลี เมล็ดธัญพืช หัวกลอย และมันเทศ แต่ที่พบในปริมาณสูง คือ ถั่วเหลือง
เนื่องจากเอสโตรเจนธรรมชาติที่มาจากพืชและสัตว์มีการดูดซึมไม่ดี ประสิทธิภาพต่ำและระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น จึงได้มีการสังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลองเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ เช่น ทำเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด หรือใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น
สรุปแล้ว เราสามารถแบ่งเอสโตรเจนออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- เอสโตรเจนธรรมชาติ เป็นเอสโตรเจนที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ซึ่งถ้าได้จากสัตว์จะมีโครงสร้างเคมีเป็นสเตียรอยด์ ถ้าได้จากพืชจะมีโครงสร้างเคมีไม่ใช่สเตียรอยด์ และเรียกอีกอย่างว่า “ไฟโตเอสโตรเจน”
- เอสโตรเจนสังเคราะห์ ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี อย่างไรก็ตามแม้ว่าเอสโตรเจนสังเคราะห์จะมีข้อดีกว่าเอสโตรเจนธรรมชาติดังกล่าวข้างต้นก็ตาม แต่ก็มีผลที่ต้องระวังหลายข้อ เช่น
- เอสโตรเจนสังเคราะห์เมื่อให้โดยวิธีรับประทานจะถูกดูดซึมผ่านตับและมีผลทำให้การสร้างโปรตีนจากตับหลายชนิดเกิดการเปลี่ยนแปลง
- เอสโตรเจนสังเคราะห์ทำให้เมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและไขมันเปลี่ยนแปลง
- เอสโตรเจนสังเคราะห์ทำให้ระบบที่ควบคุมความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
- เอสโตรเจนสังเคราะห์ทำให้การแข็งตัวของเลือดเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นเมื่อใช้เอสโตรเจนสังเคราะห์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง ความดันโลหิตสูงขึ้น ตลอดจนเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆ เป็นต้น
ประโยชน์ของเอสโตรเจน
เอสโตรเจนสังเคราะห์ก็มีประโยชน์มากมายที่ใช้ในทางการแพทย์ คือ
- นำมาใช้ในหญิงวัยประจำเดือนที่มีภาวะผิดปกติจากการที่ร่างกายมีปริมาณเอสโตรเจนต่ำ และมีอาการแสดงออก เช่น นำมาใช้ในหญิงวัยประจำเดือนที่มีภาวะผิดปกติจากการที่ร่างกายมีปริมาณเอสโตรเจนต่ำ และมีอาการแสดงออก เช่น
- มีอาการ้อนวูบวาบบริเวณผิวหนังตามร่างกาย
- มีการฝ่อของระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเล็ด หูรูดกระเพาะปัสสาวะหย่อน อั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
- มีการฝ่อของเซลล์บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น เต้านมคล้อยลง ผนังช่องคลอดบางลงและแห้ง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์และเกิดช่องคลอดอักเสบบ่อย มูกที่ปากมดลูกแห้งและมดลูกมีขนาดเล็กลง
- มีภาวะกระดูกบางและพรุน
- มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- นำมาใช้ทดแทนในหญิงที่มีเอสโตรเจนต่ำไม่เพียงพอหรือมีภาวะขาดเอสโตรเจน เช่น วัยรุ่นที่รังไข่ยังไม่ทำงานหรือทำงานต่ำ ทำให้มีการเจริญทางเพศช้ากว่าปกติ ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องผ่าตัดเอารังไข่ออก ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการต่างๆที่มาจากปริมาณเอสโตรเจนต่ำกว่าปกติเช่นเดียวกับหญิงวัยหมดประจำเดือน
- ใช้ในการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน เช่น ทำเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดรับประทานเพื่อเพิ่มปริมาณเอสโตรเจนทำให้มีผลยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนเอฟเอสเอชจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ซึ่งเท่ากับมีผลทางอ้อมทำให้ถุงไข่และไข่อ่อนไม่เจริญเติบโต
- ใช้ยังยั้งการหลั่งน้ำนมในหญิงระยะหลังคลอดที่มีน้ำนมมากกว่าปกติ
- ใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือน
- ใช้เพื่อลดอาการปวดประจำเดือน
- ใช้เพื่อทำให้รอบเดือนเป็นปกติหรือปรับประจำเดือนให้มาตามกำหนดเวลา