ACL Injury / ACL Tear คืออะไร? ข้อมูลโรค อาการ รักษา


ภาวะเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด (Anterior cruciate ligament injury) ถือเป็นการบาดเจ็บของเข่าที่พบได้มากที่สุดประเภทหนึ่ง โดยเส้นเอ็น ACL นี้ เป็น 1 ใน 4 เส้นเอ็นหลักของข้อเข่า ทำหน้าที่เชื่อมส่วนบนของกระดูกหน้าแข้งกับส่วนล่างของกระดูกต้นขาเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าแข้งเลื่อนไปข้างหน้า รวมถึงเพิ่มเสถียรภาพในการหมุนเข่า

เส้นเอ็นหลักของข้อเข่า ประกอบไปด้วย

  • เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament: ACL)
  • เอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament: PCL)
  • เอ็นเข่าด้านใน (Medial collateral ligament: MCL)
  • เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament: LCL)

การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า มักเกิดบริเวณกลางเส้นเอ็น หรือเมื่อเส้นเอ็นถูกดึงหลุดออกจากกระดูกต้นขา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างปลายที่ฉีกขาดซึ่งไม่สามารถหายได้เอง ภาวะนี้สามารถแบ่งออกตามความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ คือ

  1. ระดับ 1 มีการบาดเจ็บเล็กน้อยที่เส้นเอ็น แต่ข้อเข่ายังเสถียรอยู่
  2. ระดับ 2 มีการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นมากขึ้น ข้อเข่าหลวมเล็กน้อย มักเรียกว่าการฉีกขาดบางส่วน
  3. ระดับ 3 เส้นเอ็นฉีกขาดโดยสมบูรณ์ ข้อเข่าหลวมมาก

อาการของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

ผู้ที่มีภาวะเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เข่าลั่น รู้สึก หรือได้ยินเสียงป็อบในข้อเข่าเมื่อได้รับบาดเจ็บ
  • เข่าพับกลับด้าน รู้สึกว่าเข่าพับกลับด้านได้ชั่วครู่ เมื่อดันข้อเข่าไปด้านหลังขณะได้รับบาดเจ็บ
  • เข่าบวม โดยเฉพาะระหว่าง 6 ชั่วโมงแรก และอาจบวมขึ้นอีก 2 วัน จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้ย 
  • ปวดและรู้สึกไม่สบายที่เข่า ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ และจะรู้สึกเจ็บมาเมื่อลงน้ำหนักที่ขาข้างที่เจ็บ

สาเหตุของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

การบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า มักเกิดกับนักกีฬาที่ต้องมีการกระทบกระทั่งสูง รวมทั้งมีการหมุนรอบแกนอย่างรวดเร็วหรือหันตัวบ่อยๆ เช่น บาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอล สกี และฟุตบอล มีรายงานว่าประมาณ 70% ของการฉีกขาดบริเวณเส้นเอ็นนี้ เมักเกิดขึ้นขณะวิ่งและเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการบิดหรือการฉีกขาด บางกรณีอาจพบว่าเกิดจากการยืดเข่ามากเกินไปขณะลงพื้นหลังการกระโดด อย่างไรก็ตาม การกระทบโดยตรงต่อข้อเข่า เช่น การแท็คเคิลในกีฬาอเมริกันฟุตบอล ก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บนี้ได้

การรักษาภาวะเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

การรักษาที่ได้รับความนิยมที่สุด คือการผ่าตัดซ่อมแซมรอยฉีกขาด ซึ่งจะประเมินจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • อาชีพ หรือกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ
  • กระดูกอ่อนและส่วนอื่นๆ ของข้อเข่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่
  • ระดับการเคลื่อนไหวข้อที่ผิดปกติ

ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมต่างๆ มาก อาจเลือกที่จะไม่ทำการผ่าตัดก็ได้ หากสามารถกลับไปทำกิจวัตรหลังฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือใส่เครื่องช่วยพยุง อย่างไรก็ตามผู้ที่ตัดสินใจไม่ผ่าตัดซ่อมแซมอาจได้รับบาดเจ็บอื่นๆ จากข้อเข่าที่ไม่เสถียร และอาจมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อเวลาผ่านไป

ในการผ่าตัดซ่อมแซมรอยฉีกขาด แพทย์จะเปลี่ยนเส้นเอ็นจากผู้บริจาคอวัยวะ หรือจากเอ็นข้อเข่าอื่นๆ เช่น เอ็นจากกล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstring) ที่น่อง เส้นเอ็นของกลุ่มกล้ามเนื้อควอไดเซป (Quadriceps) ที่ยึดจากสะบ้าเข่าไปยังต้นขา หรือเอ็น Patella ที่ยึดจากใต้สะบ้าเข่าไปยังส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง หลังจากนั้นแพทย์ผ่าตัดจะผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องตรวจภายในข้อ (Arthroscope) ส่องดูข้างในเข่าก่อนเจาะรูที่กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งผ่านเส้นเอ็นใหม่เข้าไปข้างในเพื่อยึดเส้นเอ็นไว้กับที่ด้วยไขควงหรืออุปกรณ์อื่นๆ ปิดท้ายด้วยการเย็บหรือการพันแผล เมื่อเวลาผ่านไปจะเอ็นใหม่ที่ปลูกเข้าไปก็จะกลายเป็นเอ็นจริงในเข่า

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด อาจเกิดความเสี่ยงต่อภาวะดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อ
  • การบาดเจ็บของระบบประสาทและหลอดเลือด
  • โรคลิ่มเลือดอุดตัน
  • โรคหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน
  • การปลูกถ่ายอวัยวะผิดตำแหน่ง
  • ภาวะข้อเข่าแข็ง
  • อาการปวดที่เข่าด้านหน้า
  • เส้นเอ็นกระดูกเข่าอักเสบ
  • กระดูกเข่าแตก
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ

หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องประคบเย็นและยกเข่าขึ้นสูงทันที อาจต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินจนกว่าจะสามารถเดินเองได้ ซึ่งแพทย์จะให้รายละเอียดขั้นตอนการดูแลเข่าที่บ้าน หากต้องนั่งทำงานที่โต๊ะ ก็อาจกลับไปทำงานได้หลังผ่าตัดภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากเป็นงานที่ต้องใช้แรง อาจต้องหยุดพักประมาณ 3-6 เดือนจึงจะสามารถกลับไปทำงานได้

การป้องกันการบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า

การปฏิบัติด้วยวิธีต่อไปนี้สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉีกขาดของเอ็นในอนาคตได้

  • ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา
  • ยืดกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ
  • วอร์มร่างกายทุกครั้งก่อนเล่นกีฬา

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat