เมื่อเกิดฟันผุแล้วไม่รักษา จะทำให้รูหรือโพรงลุกลาม กว้าง และลึกขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ปวดฟัน ฟันโยก เคี้ยวไม่ได้ เกิดฝี หรือหนองตามมา
ในบางรายอาจไม่สามารถรักษาได้ จำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้นออก ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฟันผุ ควรรีบไปอุดฟันตั้งแต่เนิ่นๆ
สารบัญ
การอุดฟัน คืออะไร?
การอุดฟัน คือการเติมเต็มเนื้อฟันที่ถูกสูญเสียไปจากกรณีต่างๆ เช่น ฟันผุ ฟันสึก ฟันแตกหรือบิ่นจากอุบัติเหตุ หรือวัสดุอุดเก่าชำรุด หรือบิ่น ด้วยวัสดุสำหรับอุดฟันโดยเฉพาะ เพื่อให้ฟันกลับมามีรูปร่างปกติ และสามารถบดเคี้ยวอาหารได้เหมือนเดิม
วัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน มีกี่ชนิด มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?
วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันที่เป็นที่นิยม มี 2 ชนิด ได้แก่ วัสดุอุดโลหะ และวัสดุสีเหมือนฟัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. วัสดุอุดโลหะ หรืออะมัลกัม
วัสดุอุดโลหะทำจากอะมัลกัม (Amalgam) เป็นโลหะที่ได้จากการผสมระหว่างปรอทกับโลหะอื่นๆ ในทางทันตกรรมใช้สารประกอบ เงิน-ดีบุก-อะมัลกรัม (Silver-tin amalgram) มีสีเทาเงิน นุ่ม ไหล และสามารถปั้นได้
ข้อดีของการอุดฟันด้วยวัสดุอุดโลหะคือ มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี แข็งแรง สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้ดี และมีราคาถูกกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
อย่างไรก็ตาม การอุดฟันด้วยวัสดุอุดโลหะต้องเสียเนื้อฟันมากกว่า เพราะต้องใช้พื้นที่ในการรองรับวัสดุมากกว่า มีสีไม่เหมือนฟันตามธรรมชาติ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของเนื้อฟันรอบๆ ให้เป็นสีเทา และแม้ว่าจะมีโอกาสน้อย แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้สารปรอทที่ผสมอยู่ในวัสดุอะมัลกัมได้
2. วัสดุสีเหมือนฟัน หรือเรซินคอมโพสิต
เรซินคอมโพสิต (Resin Composite) เป็นวัสดุอุดฟันที่ลอกเลียนลักษณะของฟันธรรมชาติ ทำจากส่วนผสมหลัก 2 ส่วน ได้แก่ เมทริกซ์ (Matrix phase) ที่ประกอบด้วยสารโมโนเทอร์ และส่วนของวัสดุอัดแทรก (Filter phase) ที่ช่วยเพิ่มด้านความแข็งแรงให้กับวัสดุ
ข้อดีของการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันคือ สามารถเลือกสีที่เหมือนฟันได้ ใช้อุดฟันได้หลากหลายสาเหตุ ทั้งฟันผุ ซ่อมแซมฟันที่บิ่นหรือแตกให้กลับมามีรูปร่างปกติ และสูญเสียเนื้อฟันน้อยกว่าการอุดด้วยวัสดุอุดโลหะ เพราะไม่จำเป็นต้องกรอฟันมากกว่าส่วนที่ผุเพื่อรองรับวัสดุ
อย่างไรก็ตาม เรซินคอมโพสิตมีอายุการใช้งานน้อยกว่าอะมัลกัม มีความแข็งแรงน้อยกว่า จึงมีโอกาสเสี่ยงในการแตกของวัสดุได้มากกว่า และมีวิธีการที่ซับซ้อนกว่า ทำให้มีราคาสูงกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ
ขั้นตอนการอุดฟัน เป็นอย่างไร?
การอุดฟันไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ สามารถเข้าพับทันตกรรมเพื่อทำการอุดฟันได้เลย โดยมีขั้นตอนทั่วไป ดังนี้
- ทันตแพทย์วินิจฉัยอาการ และทำการกรอเนื้อฟันที่ผุและติดเชื้อออกไป เพื่อเตรียมพื้นที่ในการอุดฟัน
- ทันตแพทย์ทำการอุดฟัน หากเป็นวัสดุสีเหมือนฟันจะมีการสลับกับการฉายแสงเพื่อให้วัสดุแข็งตัวเป็นชั้นๆ
- หลังจากอุดฟันจนเต็มพื้นที่ ทันตแพทย์จะกรอแต่งฟันให้มีรูปร่างที่เหมาะสม และขัดวัสดุให้มีความเงางามดูเป็นเนื้อเดียวกับฟันตามธรรมชาติ
การดูแลหลังการอุดฟัน เป็นอย่างไร?
หากอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ ไม่ควรเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากในช่วงแรกวัสดุอุดฟันยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ส่วนการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันไม่มีการดูแลเป็นพิเศษ
หลังจากนั้นให้ดูแลฟันด้วยวิธีปกติทั่วไป ดังนี้
- ทำความสะอาดฟันร่วมกับใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ก่อนเข้านอนทุกวัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหนียวติดฟัน ใช้ฟันผิดหน้าที่ และเคี้ยวของแข็ง
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และขูดหินปูน เป็นประจำทุก 6 เดือน
เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
หากหลังจากอุดฟัน มีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน มีการแตก หรือหลุดของวัสดุอุดฟัน ควรไปพบทันตแพทย์ทราบเพื่อทำการอุดฟันใหม่อีกครั้ง
อุดฟัน ราคาเท่าไร?
ราคาอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ เริ่มต้นที่ 500-1,600 บาท ส่วนราคาอุดฟันด้วยสีเหมือนฟัน เริ่มต้นที่ 500-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับระดับความยาก และเป้าหมายในการอุดฟัน
อย่างไรก็ตาม สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ในคลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลที่ร่วมรายการ โดยมีวงเงินให้ไม่เกิน 900 บาทต่อปี หากค่ารักษาเกินวงเงิน จะต้องจ่ายเงินส่วนเกินนั้น
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน วัสดุอะมัลกัม