โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบรักษาหายไหม?


โรคปริทันต์-โรคปริทันต์อักเสบ-การรักษา

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ เกิดจากอวัยวะที่อยู่รอบๆ ฟัน เช่น เหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน เคลือบรากฟัน และผิวรากฟัน ได้รับสารพิษจากเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในหินปูน หรือหินน้ำลาย จึงเกิดการอักเสบขึ้น
  • โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ แบ่งการรักษาตามความรุนแรงของอาการ ได้แก่ การขูดหินปูน เกลารากฟัน เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนตัวฟันและบริเวณขอบเหงือกออก หากไม่ดีขึ้นจึงรักษาด้วยการผ่าตัดเหงือก และหากไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดๆ อีก จำเป็นต้องใช้วิธีถอนฟัน
  • เราไม่สามารถรักษาโรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบด้วยตนเองได้ เนื่องจากสาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ที่หินปูน หรือหินน้ำลายในช่องปาก จำเป็นต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ขูดหินปูนออกเท่านั้น 
  • สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ด้วยตนเองคือ หลังการรักษาโรคปริทันต์แล้ว ต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธีด้วยไหมขัดฟันและแปรงสีฟันเป็นประจำทุกวัน และไปพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจดูว่า ยังมีรอยโรคอีกหรือไม่
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ หรือแอดไลน์ @hdcoth

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) หรือที่เรียกกันว่า “รำมะนาด” เป็นโรคในช่องปากที่มีความรุนแรง และเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร เนื่องจากโรคดังกล่าวจะทำลายกระดูกรากฟันให้เสียหายนั่นเอง

โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบรักษาหายไหม? รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบมีกี่วิธี? รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบด้วยตัวเองได้อย่างไร? ป้องกันโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบอย่างไร? HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ

โรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบ รักษาหายไหม?

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ เกิดจากอวัยวะที่อยู่รอบๆ ฟัน เช่น เหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน เคลือบรากฟัน และผิวรากฟัน ได้รับสารพิษจากเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในหินปูน หรือหินน้ำลาย จึงเกิดการอักเสบขึ้น

แม้จะขึ้นชื่อว่า เป็นโรคในช่องปากเรื้อรัง แต่ในบางกรณีหากอาการยังไม่รุนแรงมากก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากอาการรุนแรงมากจนมีการทำลายเนื้อเยื่อ เหงือกร่น กระดูกเบ้าฟันเสียหาย ฟันโยกคลอนแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถสร้างส่วนดังกล่าวกลับมาใหม่ได้อีก

อย่างไรก็ตาม หลังรักษาอาการทุกระยะแล้ว ผู้ป่วยยังต้องป้องกันตนเองไม่ให้มีสาเหตุของโรคกลับมาอีก

โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบรักษาได้อย่างไร?

โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบแบ่งการรักษาตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้

การรักษาโรคปริทันต์ระยะแรก

  1. การขูดหินปูน: ทันตแพทย์จะขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนตัวฟันและบริเวณขอบเหงือกออก
  2. การเกลารากฟัน: ทันตแพทย์จะเกลารากฟันให้ผิวรากฟันให้สะอาดและเรียบ เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะลึกลงไปในผิวรากฟันออก เมื่อผิวรากฟันสะอาด เรียบ จะยากต่อการสะสมของหินปูนและคราบจุลินทรีย์ อีกทั้งยังช่วยให้เหงือกสามรถกลับมายึดติดตัวฟันได้ดังเดิม

การขูดหินปูนและเกลารากฟันต้องทำหลายๆ ครั้ง จนครบทั้งช่องปาก  ทั้งนี้จะใช้ระยะเวลามากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความลึกของร่องปริทันต์และปริมาณคราบหินปูนใต้เหงือกด้วย 

หลังรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟันไป 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดมาตรวจดูอาการอีกครั้ง หากยังมีร่องปริทันต์เหลืออยู่ หรือกระดูกยังมีการละลายตัวอยู่ ทันตแพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าเหงือกต่อไป

การรักษาโรคปริทันต์ระยะกลาง

การผ่าตัดเหงือก: ทันตแพทย์จะผ่าตัดยกเหงือกเพื่อดูการอักเสบที่ลุกลามไปยังรากฟัน หรือกระดูกเบ้าฟัน และกำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูนออกหากมี จากนั้นทันตแพทย์จึงนำเหงือกกลับสู่ตำแหน่งเดิม วิธีนี้จะทำให้ร่องเหงือกตื้นขึ้น

บางกรณีหากทันตแพทย์พบว่า กระดูกเบ้าฟันถูกทำลายไปมาก อาจศัลยกรรมปลูกกระดูกทดแทน

การรักษาโรคปริทันต์ระยะท้าย

การถอนฟัน: ทันตแพทย์จะใช้การถอนฟันเมื่อมีการลุกลามของเนื้อเยื่อ ปริทันต์ไปมาก จนไม่สามารถรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้อีกต่อไป

รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบด้วยตัวเองได้ไหม?

เราไม่สามารถรักษาโรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบด้วยตนเองได้ เนื่องจากสาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ที่หินปูน หรือหินน้ำลายในช่องปาก

วิธีรักษาที่สำคัญคือ ต้องกำจัดหินปูน หรือหินน้ำลายที่ฟัน ร่องฟัน และใต้เหงือกออกให้หมดเท่านั้น ซึ่งการแปรงฟันไม่สามารถกำจัดหินปูน หรือหินน้ำลายได้ นอกจากการขูดหินปูนด้วยเครื่องมือทางทันตกรรมเท่านั้น

สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ด้วยตนเองคือ หลังการรักษาโรคปริทันต์แล้ว ต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธี ด้วยการใช้ไหมขัดฟันและแปรงสีฟันเป็นประจำทุกวัน 

รวมทั้งต้องไปพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจดูว่า "ยังมีรอยโรคอีกหรือไม่ ยังมีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่" เพราะโรคปริทันต์อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคปริทันต์ควรได้รับการขูดหินปูนทุกๆ 3-6 เดือน

หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพื่อให้การรักษาโรคปริทันต์ดีขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ ควรลด หรือเลิกการสูบบุหรี่ เพื่อให้การรักษาโรคปริทันต์ดีขึ้น

ป้องกันโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบอย่างไร?

  • ควรทำความสะอาดช่องปากด้วยการใช้ไหมขัดฟันและแปรงฟันอย่างวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้ได้อย่างสม่ำเสมอ
  • ไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ขูดหินปูน
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน รวมทั้งควบคุมโรคเบาหวานให้ดีขึ้น
  • ลด หรือเลิกการสูบบุหรี่
  • หากมีสัญญาณเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกเริ่มบวม มีกลิ่นปาก มีเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

โรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบเป็นโรคในช่องปากที่น่ากลัว เสี่ยงต่อการเหงือกร่น และสูญเสียฟันได้ แม้รักษาให้อาการดีขึ้นได้ แต่ช่องปากของคุณก็อาจไม่สมบูรณ์ดังเดิมอีกต่อไป

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบ ด้วยการใส่ใจช่องปากให้มาก ทำความสะอาดให้ถูกวิธีและสม่ำเสมอ รวมทั้งไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน

หากสนใจเข้ารับการรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ ที่ตรงใจ คุ้มค่ากับงบประมาณได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, โรคปริทันต์อักเสบกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (http://www.info.dent.nu.ac.th/dentalHospital/index.php/2012-09-18-18-57-27/2-2012-09-27-23-42-04/25-2013-01-05-22-27-52), 2 มิถุนายน 2564.

รศ.ทพ.ยสวิมล คูผาสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรคปริทันต์อักเสบ (https://dt.mahidol.ac.th/th/โรคปริทันต์อักเสบ/), 2 มิถุนายน 2564.

Centers for Disease Control and Prevention (CDC), Periodontal Disease (https://www.cdc.gov/oralhealth/conditions/periodontal-disease.html), 2 June 2021.

Jacquelyn Cafasso, Periodontitis (https://www.healthline.com/health/periodontitis), 2 June 2021.

Yvette Brazier, What is periodontitis? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/242321), 2 June 2021.

@‌hdcoth line chat