การพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเสียสมดุลของสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์


การพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเสียสมดุลของสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์

การพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเสียสมดุลของสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ มี 3 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

1. ประเมินอาการทางร่างกาย

  • ประเมินอาการและอาการแสดงของการเสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ เช่น ระดับโปแตสเซียม หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันเลือดต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด เป็นต้น
  • ประเมินอาการและอาการแสดงของการได้รับน้ำเกิน ได้แก่ น้ำหนักตัวลดเพิ่ม ความดันเลือดสูง ระดับการรู้สติเปลี่ยนไป ฟังปอดได้เสียง Rales ผลถ่ายภาพรังสีปอดพบมีน้ำคั่งในปอด ค่าโซเดียมและ Osmolality ลดลง ปัสสาวะมีความถ่วงจำเพาะต่ำ เหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้ บวมที่ปลายมือปลายเท้า ค่า CVP สูง หลอดเลือดดำบริเวณคอโป่ง

2. เริ่มให้การช่วยเหลือ

  • กรณีที่มีอาการสูญเสียน้ำ โดยไม่ปรากฏอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย แคลอรี่และโปรตีนสูง โดยให้ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอแก่ร่างกาย
  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำทดแทนอย่างน้อย 2,000-3,000 มิลลิลิตรต่อวัน และดูแลให้ได้รับสารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำหรือทางปาก เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป
  • กรณีที่มีอาการถ่ายเหลวเนื่องจากภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส ควรให้อาหารที่ปราศจากแลคโตส เพื่อลดการกระตุ้นการถ่ายอุจจาระ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพื่อลดการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ดูแลให้ได้รับยาระงับอาการถ่ายเหลวหรือยาระงับอาการอาเจียนตามแผนการรักษา และสำหรับผู้ป่วยที่ถ่ายเหลวจากการติดเชื้อดูแลให้ยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา เพื่อแก้ไขการถ่ายเหลว การอาเจียน และการติดเชื้อ
  • ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลว เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการระคายเคืองต่อผิวหนัง

3. ติดตามอาการ

  • บันทึกสัญญาณชีพทุก 1 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวหลายครั้ง เพื่อประเมินภาวะช็อก
  • บันทึกและติดตามอาการและอาการแสดงที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ซึม สับสน หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ระดับความรู้สึกตัวลดลง ความตึงตัวของผิวหนังไม่ดี ผิวแห้ง ปากแห้ง มีการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวลดลง ความดันเลือดต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า ปัสสาวะลดลงและมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าปกติ เป็นต้น ชั่งน้ำหนักตัว สังเกตลักษณะของอุจจาระและจำนวนครั้ง หากพบความผิดปกติให้รายงานให้แพทย์ทราบ และสังเกตอาการที่เกิดจากภาวะน้ำเกิน เช่น บวม ไอมีเสมหะเป็นฟองสีชมพู เป็นต้น เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพของผู้ป่วย
  • เก็บอุจจาระส่งตรวจ ส่งเลือดตรวจเพื่อหาค่าอิเล็กโทรไลต์ในเลือด เพื่อประเมินเลือดออกในทางเดินอาหารและภาวะสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในเลือด และดูหน้าที่ของโต
  • บันทึกปริมาณน้ำเข้าออกจากร่างกาย ติดตามปริมาณปัสสาวะใน 1 ชั่วโมง เพื่อประเมินการทำงานของไต
  • ให้สารน้ำและอิเล็กโตรไลท์และ/หรือเลือดตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดไป
  • ในระยะที่โรครุนแรงอาจต้องงดน้ำและอาหารทางปาก จะต้องให้อาหารทดแทนทางหลอดเลือดดำ เมื่ออาการทุเลาลงให้อาหารอ่อนย่อยง่าย และเหมะสมตามสภาวะของโรคที่เป็นอยู่
  • ติดตามผลการตรวจระดับเกลือแร่ในซีรัม เช่น ระดับโซเดียม โปแตสเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนต เป็นต้น เพื่อประเมินและติดตามผลอิเล็กโทรไลต์
  • หากผู้ป่วยรับประทานอาหารทางปากได้ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีอิเล็กโทรไลต์สูง หากผู้ป่วยมีระดับโปแตสเซียมต่ำ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง ได้แก่ ส้ม กล้วย น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat