กาบหอยแครง ต่างจากว่านกาบหอยอย่างไร กินแมลงทำไม

พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ดังนั้นการเจริญเติบโตต้องอาศัยสารอาหารจากดินเป็นหลัก หากขาดแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่พืชบางชนิดก็สามารถทดแทนแร่ธาตุโดยการจับสัตว์มาเป็นอาหาร เช่น ต้นกาบหอยแครง ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นไม้กินแมลง (Carnivorous plant) ที่เป็นที่รู้จักกันดี นอกเหนือจากต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง และต้นหยาดน้ำค้าง ที่เป็นพืชกินสัตว์ด้วยกัน ต้นไม้ประเภทนี้จะนำไนโตรเจนจากแมลงที่จับได้ มาย่อยสลายเพื่อสร้างโปรตีนนั่นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกาบหอยแครง

กาบหอยแครง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dionaea muscipula หรือชื่อสามัญที่เรียกกันทั่วไปคือ Venus Flytrap (ที่ดักจับแมลง) อยู่ในวงศ์ Droseraceae มีถิ่นกำเนิดบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ทรงพุ่มเตี้ย มีเหง้าลักษณะคล้ายหัว ใบมีสีเขียวและสีแดงฉูดฉาด ใช้ล่อแมลงให้มาติดกับดัก อยู่เป็นกระจุกรอบเหง้า ประมาณ 4-8 ใบ ยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร มีกาบแบบกลมเป็นแผ่นสองแผ่น คล้ายกาบหอยคู่ มีฟันเลื่อยแหลมคม เรียงสลับกันเป็นระเบียบลักษณะเหมือนขนตา มีเส้นกลางใบทำหน้าที่เป็นบานพับ ก้านใบสีเขียวเป็นแผ่นแผ่กว้าง

ต้นกาบหอยแครง พบมากในบริเวณที่มีความชื้นสูง หรือบริเวณที่มีแอ่งน้ำท่วมขัง มีไนโตรเจนต่ำ เช่น หนองน้ำ หรือทุ่งหญ้าสะวันนาที่เปียกชื้น

ต้นกาบหอยแครงและว่านกาบหอยเป็นต้นเดียวกันหรือไม่?

กาบหอยแครงกับว่านกาบหอยเป็นต้นไม้คนละชนิดกัน

ว่านกาบหอยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tradescantia spathacea Stearn. จัดอยู่ในวงศ์ Commelinaceae ตระกูลเดียวกับผักปลาบ และหญ้าปักกิ่ง ลักษณะเป็นใบหอกยาว ปลายแหลม หน้าใบมีสีเขียวเข้มส่วนหลังใบมีสีม่วงแดง มีสรรพคุณทางยา คือใบต้มน้ำดื่ม แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ แก้บิดถ่ายเป็นเลือดได้

ต้นกาบหอยแครงรู้ได้อย่างไรว่ากินเหยื่อตอนไหน?

ในใบของต้นกาบหอยแครงจะมีขนกระตุ้น (Trigger Hairs) เมื่อมีแมลงมาสัมผัสขน และได้รับการกระตุ้นมากว่า 1 ครั้งติดต่อกันในระยะเวลาสั้นๆ ใบทั้งสองจะหุบเข้าหากันทันที เรียกว่าเป็นกับดักแบบตะครุบ เพื่อจับและย่อยเหยื่อ โดยปกติจะใช้เวลาย่อยประมาณ 3-10 วัน ทั้งนี้ขนดังกล่าวจะตอบสนองต่อสิ่งที่เคลื่อนไหวได้เท่านั้น เพื่อป้องกันการสูญเสียพลังงานไปกับการดักจับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อาหาร เช่น หยดน้ำฝน หรือสิ่งแปลกปลอมอย่างอื่น

ทำไมต้นไม้ต้องกินสัตว์?

เนื่องจากวิวัฒนาการและการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของพืชที่มีต้นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ขาดแร่ธาตุหลักในดิน จึงไม่เพียงพอสำหรับการเจริญโต ทำให้ต้นไม้กินสัตว์เหล่านี้ต้องมีการชดเชยในส่วนที่ขาดไปเพื่อความอยู่รอด โดยเปลี่ยนแปลงในส่วนของใบให้สามารถล่าเหยื่อที่เป็นสิ่งมีชีวิต เพื่อเพิ่มแร่ธาตุไนโตรเจนให้กับตัวเอง บริเวณใบนี้จะมีเซลล์ที่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยโปรตีนได้หลากหลายชนิด

ถ้ามีอย่างอื่นลงไปในใบกาบหอยแครงจะเป็นอย่างไร?

ปฏิกิริยาแรกเมื่อมีอะไรบางอย่างตกลงในกาบหอยแครง คือ ฝาใบจะปิด แต่จะไม่แน่น เนื่องจากไม่มีการกระตุ้นจากสิ่งแปลกปลอม ทำให้ขนของใบไม่ทำงาน จากนั้นต้นกาบหอยแครงจะค่อยๆ คายสิ่งนั้นออกมา ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ จะเป็นการตัดวงจรชีวิตของต้นไม้ไปเรื่อยๆ เพราะหนึ่งใบของต้นกาบหอยแครงสามารถเปิดปิดได้ไม่กี่ครั้ง โดยความเร็วของฝาใบขึ้นอยู่กับอายุ สภาพอากาศ และความแข็งแรงของต้นไม้

ต้นกาบหอยแครงกินได้หรือไม่ ?

โดยพื้นฐานต้นกาบหอยแครงไม่มีพิษต่อมนุษย์ แต่เนื่องจากไม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นและมีจำนวนไม่มากในธรรมชาติ อีกทั้งไม่ได้มีจุดเด่นด้านรสชาติ ทำให้ไม่มีเหตุผลที่ต้องทานต้นไม้ชนิดนี้


ที่มาของข้อมูล

  • นพพล เกตุประสาท, หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม, กาบหอยแครง (http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/ornament/tradescantia.html), เมื่อ 28 พ.ค. 2562.
  • ทวีศักดิ์ บุญเกิด และ รสริน พลวัฒน์, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การปรับตัว (Adaptation) เพื่อการอยู่รอดและการคัดสรรทางธรรมชาติ (Natural Selection) (http://www1a.biotec.or.th/BRT/images/stories/plant%20adaptation.pdf), December 2008.
Scroll to Top