ฉีดวัคซีนสำหรับสุนัข ป้องกันโรคร้ายให้กับคู่หูตัวโปรด


ฉีดวัคซีนสุนัข 5 โรค

หลายคนคงทราบกันดีว่าการฉีดวัคซีนเป็นอีกแนวทางป้องกันโอกาสเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ได้จำเป็นแค่ในมนุษย์เท่านั้น แต่กลุ่มสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะสุนัขหรือแมวต่างก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วยเช่นกัน

ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาคุณไปหาคำตอบเกี่ยวกับวัคซีนที่จำเป็นในกลุ่มสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัข เพื่อให้ทุกครอบครัวที่มีสมาชิกหนึ่งในนั้นเป็นเจ้าตูบตัวแสบได้มีคู่มือในการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงได้อย่างเหมาะสม


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


สุนัขต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง?

การฉีดวัคซีนให้กับสุนัขจะคำนึงถึงโรคพบได้บ่อยในสุนัขเป็นหลัก และควรให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคเหล่านี้อย่างครบถ้วน ได้แก่

  • โรคหลอดลมอักเสบ (Canine Infectious Tracheobronchitis: CIT) มักเกิดมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส Canine Parainfluenza Virus เชื้อแบคทีเรีย Bordetella bronchiseptica จนทำให้สุนัขมีอาการไอแห้ง มีเสมหะ อาเจียน หรือมีอาการคล้ายกับอยากขากบางอย่างออกมาจากหลอดลม
  • โรคลำไส้อักเสบ (Canine Viral Enteritis: CVE) มักเกิดมาจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัส (Canine Parvovirus) ซึ่งติดต่อได้ผ่านการสัมผัสอุจจาระสุนัขตัวอื่นที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ในร่างกาย ส่งผลให้สุนัขเกิดอาการเซื่องซึม มีไข้ ท้องเสีย น้ำหนักลดผิดปกติ และอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้
  • โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Canine Distemper Virus พบได้บ่อยในสุนัขที่อายุยังน้อย และเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการเด่นๆ ที่สังเกตได้คือ ตาแฉะ มีน้ำมูกเหลืองปนเขียวและข้น มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นชักได้
  • โรคตับอักเสบ (Canine Adenovirus Infection) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Canine Adenovirus - 1 สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านน้ำลายของสุนัขตัวอื่นที่มีเชื้อนี้ ส่งผลให้อวัยวะตับในสุนัขทำงานผิดปกติ จนทำให้เจ้าตูบมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้สูง เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังแสดงอาการ
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคร้ายแรงที่ทำให้สุนัขคลุ้มคลั่งจนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ Rabies virus ซึ่งติดต่อได้ผ่านทางน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อนี้ ก่อนที่เชื้อจะลุกลามเข้าไปยังระบบประสาทและสมอง ทำให้สุนัขเกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการกระวนกระวาย ก้าวร้าวขึ้นหรืออาจประจบประแจงเจ้าของมากกว่าเดิม ชอบเดินหรือวิ่งอย่างไร้ทิศทาง และกัดทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้อยู่เบื้องหน้า นอกจากนี้ยังจะดุร้ายมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสง เสียง หรือการสั่นสะเทือนบางอย่าง
  • โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคติดต่อที่พบได้ทั้งในมนุษย์และสุนัข มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) ซึ่งจะเข้าไปทำลายอวัยวะตับ ไต และกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เจ้าตูบมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อจนไม่ขยับร่างกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเซื่องซึม มีไข้สูง เบื่ออาหาร ดวงตาและเหงือกเป็นสีเหลือง หากไม่รีบรักษาก็จะมีโอกาสไตวาย ขาดน้ำ และเสียชีวิตได้
เช็กราคาวัคซีนสุนัข

วัคซีนสุนัขฉีดได้เมื่อไร ต้องฉีดบ่อยไหม?

คุณสามารถพาสุนัขมาฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่เขาอายุได้ 2 เดือน สัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดและจำนวนวัคซีนที่ควรได้รับให้กับสุนัขของคุณเอง ซึ่งอาจเริ่มที่วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดหรือโรคหัดสุนัขก่อน จากนั้นเว้นระยะเวลาไป 2-4 สัปดาห์ แล้วค่อยตามด้วยวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ตามลำดับ

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนสำหรับสุนัขหลายๆ โรคให้รวมอยู่ในวัคซีนเข็มเดียว เพื่อประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย แต่ยังสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับสุนัขได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจำนวนเข็มที่ฉีดก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล

สิ่งสำคัญที่คุณจะต้องไม่ลืม คือ คุณยังต้องพาสุนัขของคุณมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อป้องกันโรคอีกทุกๆ 1 ปีไม่ให้ขาด ถึงแม้ว่าคุณจะเคยพาเขามารับวัคซีนอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม

คุณอาจทำปฏิธินหรือทำบันทึกวัคซีนสุนัขเอาไว้ เพื่อจะได้พาคู่หูกลับมาฉีดวัคซีนอีกครั้งเมื่อครบกำหนดได้อย่างสม่ำเสมอ

วัคซีนสุนัข อายุเกินแล้วฉีดได้ไหม?

หากสุนัขของคุณอายุเกิน หรือคุณเพิ่งรับสุนัขที่อายุเยอะแล้วมาเลี้ยงในบ้าน คุณยังสามารถพาเขาไปรับวัคซีนป้องกันโรคได้อยู่ แต่สัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวัคซีนที่สุนัขตัวนั้นสามารถรับได้เอง โดยอาจมีการตรวจสุขภาพเพื่อเช็กความพร้อมของร่างกายเสียก่อน

เนื่องจากหากสุนัขของคุณอายุเยอะมากแล้ว การฉีดวัคซีนบางตัวอาจจะไปส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของอวัยวะภายในได้

วัคซีนสุนัขไม่เหมาะกับสุนัขแบบไหน?

สุนัขที่กำลังเจ็บป่วย มีโรคประจำตัวบางอย่าง หรือระบบภูมิคุ้มกันกำลังบกพร่องและยังรักษาไม่หายอาจไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคได้ในทันที และจำเป็นต้องรับการรักษากับสัตวแพทย์จนหายดีเสียก่อนจึงจะรับวัคซีนได้

การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนสุนัข

เช่นเดียวกับมนุษย์ ก่อนเดินทางพาคู่หูของคุณมาฉีดวัคซีน คุณจำเป็นต้องมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของสุนัขของคุณเล็กน้อย เช่น

  • พาสุนัขมาตรวจสุขภาพล่วงหน้าก่อน เพื่อให้แน่ใจถึงภาวะด้านสุขภาพที่พร้อมต่อการฉีดวัคซีน
  • อาบน้ำให้สุนัขก่อน เพราะหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว คุณจะไม่สามารถทำความสะอาดร่างกายให้คู่หูได้ถึง 7 วัน
  • หากคุณไม่แน่ใจว่าสุนัขจะดุ กัด หรือไปอาละวาดที่โรงพยาบาลหรือเปล่า ให้เตรียมสายจูง ปลอกคอ หรือตะกร้อครอบปากไว้ล่วงหน้าด้วย
  • เตรียมที่นอนสำหรับให้สุนัขพักผ่อน เพราะเขาอาจมีอาการซึมหรือมีไข้อ่อนๆ หลังจากรับวัคซีนได้

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนสุนัข

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนให้สุนัขแทบจะคล้ายคลึงกับการฉีดวัคซีนในมนุษย์ โดยขึ้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้

  1. เริ่มต้นจากการชั่งน้ำหนักสุนัขก่อนเพื่อทำประวัติสุขภาพ
  2. จากนั้นสัตวแพทย์หรือผู้ช่วยจะอุ้มสุนัขขึ้นไปยืนบนโต๊ะเพื่อให้ง่ายต่อการฉีดวัคซีน ระหว่างนั้นเจ้าของอาจได้รับอนุญาตให้อยู่ในห้องร่วมกับสุนัขด้วย เพื่อสร้างความคุ้นชินและไม่ทำให้สุนัขตื่นกลัวเกินไป
  3. จากนั้นแพทย์จะฉีดวัคซีนบริเวณผิวด้านหลังแผงคอ หรือบริเวณขาหน้าหรือขาหลังจนครบปริมาณที่กำหนด
  4. หลังจากฉีดแล้วอาจนวดผิวบริเวณที่ฉีดเบาๆ เพื่อให้วัคซีนกระจายตัว เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นขั้นตอน

ในบางสถานพยาบาลจะแนะนำให้เจ้าของอยู่ดูอาการสุนัขต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น จากนั้นจึงค่อยพาสุนัขเดินทางกลับบ้านได้

การดูแลหลังฉีดวัคซีนสุนัข

หลังจากฉีดวัคซีน สุนัขของคุณอาจมีอาการเซื่องซึม มีไข้อ่อน หรือเบื่ออาหารได้บ้าง แต่หลังจากผ่านไปไม่กี่วันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น คุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อดูแลสุนัขของคุณหลังฉีดวัคซีนได้

  • งดอาบน้ำสุนัขเป็นเวลา 7 วัน เพราะจะยิ่งทำให้ไข้สูงขึ้นกว่าเดิม
  • ให้สุนัขพักผ่อนมากๆ อย่าเพิ่งทำกิจกรรมที่ทำให้สุนัขต้องออกแรงหรือทำให้ตื่นตัว
  • ลองให้ขนมหรืออาหารของโปรดของเขาในระหว่างนี้ เพื่อไม่ให้สุนัขขาดอาหารจากาอาการเบื่ออาหารได้ โดยอาจปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนเกี่ยวกับประเภทอาหารที่จะป้อนให้สุนัขระหว่างพักฟื้นหลังฉีดวัคซีน
ฉีดวัคซีนสุนัขราคาประหยัด

ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหลังฉีดวัคซีนสุนัข

สุนัขบางตัวอาจมีอาการแพ้วัคซีน ซึ่งจะต้องรีบนำตัวกลับมาพบสัตวแพทย์โดยทันที มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น

  • หายใจไม่ออก หรือหายใจติดขัด
  • ผิวบวมแดง อาจสังเกตดูได้จากบริเวณใบหน้า รอบดวงตา ใบหู หน้าท้อง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสียอย่างรุนแรง
  • มีก้อนแข็งบริเวณที่ฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนสุนัขเป็นกระบวนการที่จำเป็นต่อสุนัขทุกตัว เพื่อให้คู่หูประจำบ้านของคุณได้มีชีวิตยืนยาวอยู่เป็นเพื่อนคุณได้ตราบนานเท่านาน อย่าประมาทชะล่าใจ และรีบพาสุนัขของคุณไปรับวัคซีนให้ครบก่อนที่จะเขาจะเกิดโรคร้ายที่ยากจะรักษาให้หายขาดได้

เช็กราคาแพ็กเกจฉีดวัคซีนสุนัขผ่านแพ็กเกจสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เว็บไซต์ HDmall.co.th พร้อมเลือกดูบริการแพ็กเกจอื่นๆ ที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับสุนัข เช่น แพ็กเกจฝึกสุนัข แพ็กเกจอาบน้ำตัดขนสุนัข แพ็กเกจทำหมันสุนัข ในราคาส่วนลดพิเศษ หรือหากมีข้อสงสัย คุณสามารถแอดไลน์ @hdcoth เพื่อสอบถามข้อมูลกับทางแอดมินของเราได้ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงตีหนึ่งครึ่ง


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • American Kennel Club, Your Complete Guide to First-Year Puppy Vaccinations (https://www.akc.org/expert-advice/health/puppy-shots-complete-guide/), 4 April 2022.
  • Bolttech, วัคซีนรวมสุนัข 5 โรคทุกปี มีอะไรบ้าง? (https://www.bolttech.co.th/blog/วัคซีนรวมสุนัขมีอะไรบ้าง), 4 เมษายน 2565.
  • Gotoro, วัคซีนสุนัข: 9 คำถามพบบ่อยเมื่อนำสุนัขไปฉีดวัคซีน (https://gatoro.co/8-things-about-dog-vaccine/), 4 เมษายน 2565.
  • Patt Veterinary Hospital, Everything You Must Know About Vaccinating Your Dog (https://www.pattvet.com/services/dogs/dog-vaccinations), 4 April 2022.
  • Royal Canin, การฉีดวัคซีนในลูกสุนัข (https://www.royalcanin.com/th/dogs/puppy/puppy-vaccinations), 4 เมษายน 2565.
  • Royal Canin, พาร์โวไวรัสในสุนัข (https://www.royalcanin.com/th/dogs/puppy/parvovirus-in-dogs), 4 เมษายน 2565.
  • Thonglor Pet Hospital, บริการฉีดวัคซีนรวมสุนัข และฉีดวัคซีนแมว (https://www.thonglorpet.com/th/diary/69), 4 เมษายน 2565.
  • VCA ANIMAL HOSPITALS, Giving Injections to Dogs (https://vcahospitals.com/know-your-pet/giving-injections-to-dogs), 4 April 2022.
  • พัชนี ศรีงาม, โรคติดต่อที่สำคัญและการให้วัคซีนในสุนัข (https://vet.kku.ac.th/physio/DOG%20PDF/7โรคติดต่อที่สำคัญ_วัคซีน_.pdf), 4 เมษายน 2565.
@‌hdcoth line chat