จัดฟัน มีทั้งหมดกี่แบบ? อุปกรณ์ที่ใช้ต่างกันอย่างไร?

เมื่อพูดถึง “การจัดฟัน” คนส่วนมากมักนึกถึงการจัดฟันเพื่อความสวยงาม ทำให้ฟันเรียงเป็นระเบียบ มีใบหน้าที่เข้ารูปมากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณคาง รวมทั้งส่งเสริมให้เรามีบุคลิกภาพที่ดี

จริงๆ แล้ว นอกจากเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว การจัดฟันยังมีข้อดีด้านสุขภาพ ช่วยแก้ปัญหาฟันเก ทำให้การสบกันระหว่างฟันบนและฟันล่างตรงกันมากขึ้นด้วย

รู้จักกับการจัดฟัน

การจัดฟัน เป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมที่จะช่วยทำให้ฟันเรียงตัวอย่างสวยงามขึ้น ด้วยเทคนิคของทันตแพทย์เฉพาะทาง โดยผู้เข้ารับบริการสามารถเข้ารับการจัดฟันได้ตั้งแต่อายุประมาณ 11 ปีขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ฟันไม่ซ้อนและเรียงตัวสวยขึ้น

นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยให้เราทำความสะอาดฟันได้ง่ายกว่าเดิม และทำให้ปัญหาฟันผุ หรือเหงือกอักเสบลดน้อยลง

เมื่อผู้เข้ารับบริการได้รับการจัดฟันแล้ว ฟันจะค่อยๆ เคลื่อนตัวไปอยู่ในตำแหน่ง หรือจุดที่ทันตแพทย์ต้องการ จากนั้นฟันจะเริ่มเรียงตัวเป็นระเบียบสวยงามขึ้น โดยระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี หลังจากนั้นก็สามารถถอดอุปกรณ์จัดฟันออกได้

รูปแบบและราคาของการจัดฟัน

1. การจัดฟันแบบโลหะธรรมดา

เป็นรูปแบบการจัดฟันซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่น เพราะมีสีสันสดใส และมีจุดเด่นสำคัญอีกอย่างคือ ยางรัดโอริง (O-Ring) ซึ่งผู้เข้ารับบริการสามารถเลือกสีที่จะใช้รัดกับลวด เพื่อให้ติดกับแบร็คเก็ตที่จัดฟันซึ่งเป็นโลหะสีเงินติดอยู่บนผิวด้านหน้าของฟันได้

การจัดฟันรูปแบบนี้เป็นชนิดติดแน่น ผู้เข้ารับบริการจะต้องมาพบทันตแพทย์ทุกเดือนเพื่อปรับลวดและเปลี่ยนยางรัดโอริง

าคา: ประมาณ 45,000-65,000 บาท

2. การจัดฟันแบบเซรามิก

เป็นการจัดฟันแบบติดแน่นโดยใช้อุปกรณ์จัดฟันที่สีเหมือนฟัน ลักษณะแบร็คเก็ตเหล็กดัดจะเป็นเซรามิกสีเหมือนฟัน หรือเซรามิกสีใส  รวมไปถึงยางรัดโอริงที่จะเป็นสีใสด้วย ส่วนตัวลวดเป็นโลหะสีเงิน

เหมาะกับผู้ที่ต้องการจัดฟันทุกเพศทุกวัย และทุกอาชีพ เนื่องจากสีสันไม่ฉูดฉาด ดูสุภาพ หากมองไกลๆ จะเห็นไม่ชัดเท่าไรนัก แต่ผู้เข้ารับบริการจะต้องมาพบทันตแพทย์ทุกเดือนเพื่อปรับลวดและเปลี่ยนยางรัดโอริง

ราคา: ประมาณ 60,000-85,000 บาท

3. การจัดฟันแบบดามอน

เป็นการจัดฟันแบบเร่งด่วนโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “เซลฟ์ ไลเกตติง” (Self-Ligating) ส่วนเครื่องมือที่ใช้จะเรียกว่า “ดามอน” (Damon) หรือ เคลียริตี้ (Clearity) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกเจ็บน้อยกว่าขณะจัดฟัน เพราะไม่ต้องใช้ยางโอริงรัด

การจัดฟันแบบดามอน ผู้เข้ารับบริการจะมาพบทันตแพทย์เพียง 2-3 เดือนต่อครั้ง หรือตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

ราคา: ประมาณ 70,000-95,000 บาท

4. การจัดฟันด้านใน 

นอกเหนือจากการจัดฟันแบบเซรามิกแล้ว การจัดฟันด้านใน (Lingual) ก็เป็นอีกประเภทของการจัดฟันแบบติดแน่น ที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเห็นอุปกรณ์จัดฟันด้านในช่องปาก แม้ในขณะสนทนา ยิ้มหรือหัวเราะ

เนื่องจากอุปกรณ์การจัดฟันจะถูกติดไว้ที่ด้านหลังของฟันของผู้เข้ารับบริการ ทั้งนี้อุปกรณ์จะออกแบบมาตามรูปปากของผู้เข้ารับบริการแต่ละราย อีกทั้งอุปกรณ์การจัดฟันจะมีขนาดเล็กกว่าการจัดฟันแบบด้านนอกด้วย จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ หรือเห็นว่าตนเองมีการจัดฟันอยู่

นอกจากนี้การจัดฟันด้านในยังไม่ส่งผลกระทบต่อการออกเสียงของผู้เข้ารับบริการด้วย แต่มีข้อเสียคือ แปรงฟันทำความสะอาดยากกว่า

ราคา: ประมาณ 150,000-180,000 บาท

5. การจัดฟันแบบใสถอดได้ (Invisalign)

การจัดฟันแบบใสถอดได้ หรือที่นิยมเรียกกันอีกชื่อว่า “การจัดฟันแบบอินวิสไลน์ (Invisalign)” ถือเป็นการจัดฟันที่ได้รับความนิยมในกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดง หรือกลุ่มผู้เข้ารับบริการที่มีอาชีพต้องใช้ความสวยงามของใบหน้าเป็นหลัก เช่น แอร์โฮสเตส ศิลปิน นักแสดง

เครื่องมือที่ใช้จัดฟันแบบอินวิสไลน์จะเป็นแผ่นวัสดุขนาดบาง ไม่มีเหล็ก ลวด หรือยางเป็นส่วนประกอบ ลักษณะการจัดคือ อุปกรณ์จะครอบฟันจริงเอาไว้ทั้งหมดและกลมกลืนไปกับสีเนื้อฟัน ทำให้ผู้อื่นมองไม่เห็นอุปกรณ์จัดฟันเลย

อีกทั้งเครื่องมือจัดฟันรูปแบบนี้ยังไม่หลุดง่าย ไม่ทำให้กระพุ้งแก้มเป็นแผล สามารถถอดเข้าออกได้อย่างง่ายดายรวมทั้งไม่เป็นคราบหินปูนด้วย

ราคา: ประมาณ 70,000-250,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีบริการจัดฟันใส (Clear Aligner) ให้บริการด้วย ซึ่งเป็นการจัดฟันใสที่มีคุณสมบัติรวมๆ คล้ายคลึงกับการจัดฟันใสแบบอินวิสไลน์ เพียงแต่อุปรณษจัดฟันใสจะผลิตด้วยแล็บในประเทศไทย ราคาจึงย่อมเยาว์กว่า

การตัดสินใจว่า ตนเองควรจะจัดฟันแบบใดดี ผู้เข้ารับบริการควรเข้าไปปรึกษาพูดคุยกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน เพื่อประเมินลักษณะฟันและช่องปาก เพื่อจะได้เลือกรูปแบบการจัดฟันที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจจัดฟันลวด 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำรีเทนเนอร์


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top