เอ็นขาด ข้อมูล สาเหตุ อาการ รักษากี่วัน วิธีการรักษา

เอ็นบาดเจ็บ (Ligament injury) และเอ็นขาด (Ligament tear หรือ Ligament rupture) เป็นความผิดปกติของเส้นเอ็นที่พบได้เป็นประจำ ทั้งจากอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬา หรือการดำเนินกิจวัตรประจำวัน พบได้ในทุกเพศและทุกวัย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อต่อ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อเท้า

เอ็น คืออะไร อาการของเอ็นขาดเป็นอย่างไร?

เส้นเอ็น (Ligament) เป็นโครงสร้างที่ประกอบขึ้นจากเส้นใยจำนวนมาก ทำให้มีความแข็งแรง แต่ก็ยังมีความยืดหยุ่นอยู่บ้าง พบได้ที่เกือบทุกข้อต่อในร่างกาย

หน้าที่หลักของเอ็นคือ ให้ความแข็งแรงแก่ข้อต่อและช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกสองชิ้นเคลื่อนที่ออกจากกันมากเกินไป

เอ็นบาดเจ็บเกิดขึ้นได้กับทุกข้อต่อ มักเกิดขึ้นเมื่อได้รับแรงกระทำจากภายนอก (Acute injury) โดยเฉพาะแรงบิด หรือการยืดแบบกระทันหัน

อุบัติเหตุที่ทำให้ข้อต่อบาดเจ็บได้บ่อยๆ มักเกิดระหว่างการเล่นกีฬา หรือข้อเท้าพลิกจากการสะดุด

เอ็นข้อต่อที่บาดเจ็บบ่อยๆ ได้แก่ เอ็นข้อเท้าและเอ็นข้อเข่า มักทำให้เกิดอาการปวดอย่างทันที มีอาการบวม แดง และรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นอุ่นขึ้น หากมีเส้นเอ็นบาดเจ็บรุนแรงมากหรือขาดออกจากกัน อาจทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นเดินต่อไปได้เลย

นอกจากนี้ การใช้งานข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งในทิศทางซ้ำๆ อย่างรุนแรง (Overuse หรือ Repetitive injury) ก็อาจจะทำให้เส้นเอ็นบาดเจ็บหรือขาดได้เช่นกัน

เอ็นขาด ต่อได้หรือไม่ วิธีการรักษาเป็นอย่างไร ต้องผ่าตัดหรือเปล่า?

การบาดเจ็บของเส้นเอ็นแบ่งอกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. บาดเจ็บเล็กน้อย
  2. บาดเจ็บปานกลาง
  3. เส้นเอ้นขาดออกจากกัน

ในสมัยก่อน เมื่อมีการบาดเจ็บระดับสองขึ้นไป ผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาด้วยการใส่เฝือก เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวให้เส้นเอ็นฟื้นฟูตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนผู้ป่วยเส้นเอ็นบาดเจ็บระดับสามมักได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ขาดออกจากกันก่อนจะใส่เฝือก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีรายงานการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ชี้ให้เห็นว่าการทำกายภาพบำบัดตั้งแต่เริ่มมีการบาดเจ็บ (Early mobilization) ให้ผลที่ดีกว่าการใส่เฝือกแล้วค่อยกลับมาทำกายภาพเมื่อถอดเฝือกแล้ว ทั้งในแง่ของระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวและความพึงพอใจของผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่มีเอ็นฉีก ไม่ว่าจะรับการผ่าตัดทันทีหรือจะรับการรักษาแบบอนุรักษ์(Conservative treatment) ด้วยการทำกายภาพบำบัดก่อน ก็ไม่มีความแตกต่างกัน

โดยสรุป ในปัจจุบันผู้ป่วยเอ็นบาดเจ็บระดับสามไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดทันทีก็ได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่เฝือกแล้ว

ผู้ป่วยสามารถเลือกรับการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ทำกายภาพบำบัดก่อน แล้วค่อยกลับไปเลือกรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเมื่อการรักษาแบบอนุรักษ์ไม่ให้ผลที่น่าพึงพอใจก็ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักกีฬาหรือผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะแต่ละรายต่อไป

เอ็นขาดเดินได้หรือไม่ กี่วันหาย?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยที่มีเอ็นบาดเจ็บหรือเอ็นขาดนั้น ในบางรายจะไม่สามารถลุกขึ้นเดินต่อได้ทันที ขึ้นกับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บนั้น ดังนี้

1. เอ็นขาดระดับ1 (Grade I)

โดยทั่วไปจะสังเกตพบอาการปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอักเสบทันที ผู้ป่วยมักจะเดินต่อได้ แต่ก็มีความยากลำบาก โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ และมักจะกลับมาเป็นปกติภายใน 6 สัปดาห์

2. ระดับ2 (Grade II)

มักจะพบอาการอักเสบรุนแรงกว่าการบาดเจ็บระดับ 1 ผู้ป่วยจะปวดมากจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินต่อไปได้เอง ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6-12 สัปดาห์ก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติ

ขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บและความหนักของกิจกรรมที่คาดหวังว่าจะกลับไปทำ เช่น นักกีฬาอาจจะใช้เวลานานกว่าคนทั่วไป กว่าจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ตามเดิม

3. ระดับ3 (Grade III)

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดมากจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินต่อไปได้ ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3-12 เดือนกว่าจะหายดี

สำหรับผู้ที่มีเอ็นบาดเจ็บหรือเอ็นขาด มักจะถูกกำหนดน้ำหนักที่สามารถเหยียบลงบนเท้าข้างที่มีอาการบาดเจ็บนั้นได้ เช่น ประมาณ 25% ของน้ำหนักตัว ตามความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย

แพทย์อาจสั่งให้ผู้ป่วยให้ใช้อุปกรณ์พยุงเดินไม้ค้ำรักแร้ (Crushes) หรือกรอบฝึกเดิน (Walker) นอกจากนี้อาจจะต้องใช้อุปกรณ์พยุงข้อเท้าชนิดต่างๆ ด้วย

เพื่อให้การฟื้นฟูของเส้นเอ็นเป็นไปอย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว ผู้ป่วยควรลงน้ำหนักและใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆ ตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำอย่างเคร่งครัด

เอ็นขาด ควรกินอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?

ผู้ป่วยที่มีภาวะเอ็นบาดเจ็บหรือเอ็นขาด ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ ควรรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ และต้องระวังเรื่องปริมาณโปรตีนที่ได้รับในแต่ละวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

โดยสามารถคำนวณได้โดยประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม เช่น หากน้ำหนักตัว 56 กิโลกรัม ก็ควรรับประทานโปรตีนให้ได้วันละ 56 กรัม เป็นต้น

วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการเอ็นขาด

  1. ทันทีที่มีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น ควรปฐมพยบาลด้วยหลักการ POLICE ดังที่เคยแนะนำไว้แล้วในเรื่องข้อเท้าพลิก
  2. ใช้อุปกรณ์ช่วยและลงน้ำหนักตามที่ได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด
  3. ออกกำลังกายส่วนที่บาดเจ็บด้วยการเคลื่อนไหวเบาๆ เพื่อคงช่วงการเคลื่อนไหวและป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การบวม การไหลเวียนที่ลดลง เป็นต้น
  4. ไปพบนักกายภาพบำบัดตามนัดเพื่อฟื้นฟูให้เอ็นที่บาดเจ็บกลับมาทำงานได้อย่างปกติ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  5. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อต่อนั้นๆ ในระยะพักฟื้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่มากขึ้น โดยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ แต่ระวังไม่ใช้งานมากเกินไปเท่านั้น

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top