ตรวจ ThinPrep หาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก ไม่เจ็บ แปลผลเร็ว และแม่นยำ

โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคร้ายอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกไปแล้วหลายล้านราย กระบวนการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยงโรคนี้จึงเป็นการตรวจที่ขาดไม่ได้ในผู้หญิงทุกคน และหนึ่งในกระบวนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็คือ “การตรวจ Thin Prep”

ตรวจ Thinprep คืออะไร?

การตรวจตินเพร็พ (Thin Prep) หรือ “การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test) คือ วิธีการตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว (Liquid-Based Cytology: LBC)

ภาพรวมของการตรวจ Thin Prep เริ่มต้นจากการขึ้นเตียงขาหยั่ง แล้วแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์พิเศษที่คล้ายกับแปรงขนาดเล็ก จากนั้นนำตัวอย่างเซลล์ไปเก็บไว้ในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ แล้วส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

หากตรวจพบความผิดปกติที่เซลล์เยื่อบุดังกล่าว ก็อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้

ข้อดีของการตรวจ ThinPrep ดีกว่าการตรวจ Pap Smear อย่างไร?

การตรวจ Thin Prep มักถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบคู่กับการตรวจ Pap Smear เนื่องจากเป็นการตรวจที่ต้องเก็บเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูกเหมือนกัน แต่จะให้ผลตรวจที่ละเอียด แม่นยำ และรอผลสั้นกว่าการตรวจ Pap Smear

เพราะการตรวจ Thin Prep เมื่อมีการเก็บเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูกออกมาแล้ว จะยังไม่นำไปป้ายลงที่แผ่นสไลด์เพื่อเตรียมตรวจวิเคราะห์ในทันทีเหมือนกับการตรวจ Pap Smear แต่จะมีการนำตัวอย่างเซลล์ไปแช่ไว้ในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ และคัดแยกตัวอย่างเซลล์ที่ปนเปื้อนหรือบดบังเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูกออกไปเสียก่อน

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจึงค่อยตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจากการคัดกรองเซลล์เยื่อบุผิวที่ละเอียดมากขึ้น จะทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ได้เห็นตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูกชัดเจนกว่าเดิม ส่งผลให้การแปลผลมีความแม่นยำ ลดโอกาสเกิดผลตรวจลวงได้

นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถใช้ตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวที่ปากมดลูกที่ได้จากการตรวจ Thin Prep ไปใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างเซลล์เพิ่มอีกด้วย

ใครควรตรวจ ThinPrep?

ผู้หญิงทุกคนควรรับการตรวจ Thin Prep กันทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น

หลายคนอาจคิดว่า ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเท่านั้นที่ควรตรวจ Thin Prep เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ความจริงแล้วโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ไม่สามารถควบคุมให้เกิดหรือไม่ให้เกิดในร่างกายใครได้ทั้งนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจคัดกรองโรคนี้ด้วยกันหมดทุกคน

ควรตรวจ ThinPrep เมื่ออายุเท่าไร?

การตรวจ Thin Prep สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก

ควรตรวจ ThinPrep บ่อยแค่ไหน?

หลังจากตรวจ Thin Prep ครั้งแรกแล้ว หากผลตรวจออกมาไม่พบความผิดปกติ โดยทั่วไปแพทย์จะให้แนะนำให้ผู้เข้ารับบริการเข้ามาตรวจ Thin Prep ซ้ำอีกทุก 3 ปีอย่างสม่ำเสมอ แต่หากตรวจพบความผิดปกติ ก็อาจต้องมาตรวจเร็วกว่านั้น และรับการตรวจที่ละเอียดด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์

ตรวจ ThinPrep เจ็บไหม?

โดยทั่วไปการตรวจ Thin Prep จะไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด เพียงแต่อาจเผชิญความรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณจุดซ่อนเร้นได้บ้างในระหว่างการตรวจครั้งแรก

การเตรียมตัวก่อนตรวจ ThinPrep

การเตรียมตัวก่อนตรวจ Thin Prep มีแนวทางคล้ายกับการตรวจ Pap Smear ได้แก่

  • ทำความสะอาดช่องคลอดและเช็ดให้แห้ง งดการทาแป้งหรือฉีดผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นจุดซ่อนเร้นก่อนมารับบริการ
  • ไม่จำเป็นต้องโกนขนอวัยวะเพศมา เพราะการโกนขนอาจทำให้ผิวปากช่องคลอดระคายเคืองหรือเกิดการติดเชื้อจนการแปลผล Thin Prep คลาดเคลื่อนได้
  • สวมกระโปรงหรือกางเกงที่ถอดออกง่าย เนื่องจากการเก็บตัวอย่างเยื่อบุผิวบริเวณปากช่องคลอดจะต้องมีขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่งคล้ายกับการตรวจภายใน
  • นัดหมายวันตรวจ Thin Prep อย่าให้ตรงกับวันที่มีประจำเดือน หรือทางที่ดีควรนัดหมายในช่วงหลังประจำเดือนรอบล่าสุดหมดไปแล้วประมาณ 10-20 วัน
  • งดการใช้ยากิน ยาสวน หรือยาทาบริเวณปากช่องคลอด 2-3 วัน หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการงดยาล่วงหน้าก่อนรับบริการ
  • งดมีเพศสัมพันธ์และงดการใช้สารหล่อลื่นในช่องคลอด 48 ชั่วโมงก่อนรับบริการ

ขั้นตอนการตรวจ ThinPrep

การตรวจ Thin Prep จะมีขั้นตอนคล้ายกับการตรวจ Pap Smear ดังนี้

  1. ผู้เข้ารับบริการถอดกางเกงหรือกระโปรง ตามด้วยกางเกงชั้นใน จากนั้นขึ้นนั่งบนเตียงขาหยั่ง
  2. หลังจากนั้นแพทย์จะสอดอุปกรณ์คล้ายกับแปรงขนาดเล็กเข้าไปในปากช่องคลอด ลึกถึงตำแหน่งปากมดลูก
  3. แพทย์จะป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวออกมา แล้วถอดหัวแปรงใส่ลงไปในกระบอกใส่น้ำยารักษาสภาพเซลล์ หมุนหัวแปรงไปมาในน้ำยาประมาณ 10 นาที
  4. นำกระบอกน้ำยาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ต่อไป

การดูแลตัวเองหลังตรวจ ThinPrep

หลังจากตรวจ Thin Prep แล้ว ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยไม่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ

ฉีดวัคซีน HPV แล้วต้องตรวจ ThinPrep ไหม?

ยังต้องตรวจอยู่เช่นเดิม เพราะวัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ทุกสายพันธุ์ ผู้หญิงทุกคนจึงยังต้องมารับการตรวจ Thin Prep ตามกำหนดการที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ

ตรวจ ThinPrep พร้อมฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม?

สามารถตรวจและฉีดภายในวันเดียวกันได้ การฉีดวัคซีน HPV ภายในวันเดียวกันจะไม่ได้ทำให้ผลตรวจ Thin Prep คลาดเคลื่อนแต่อย่างใด

ใจความสำคัญของการตรวจ Thin Prep คือความสม่ำเสมอในการมาตรวจกับแพทย์ตามกำหนดการ และอย่าชะล่าใจคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงน้อยจึงไม่มาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะหากตรวจพบในระยะที่เชื้อมะเร็งลุกลามรุนแรงไปแล้ว ก็อาจยากต่อการรักษาให้หายได้โดยไม่กระทบต่อสุขภาพส่วนอื่นๆ ได้


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจโรคมะเร็งผู้หญิง

Scroll to Top