กินยาคุมแล้วประจําเดือนไม่มา หมดแผงก็ไม่มา ทำไงดี

กินยาคุมแล้วประจําเดือนไม่มา เป็นปัญหาที่สาวๆ หลายคนกำลังประสบพบเจอกันอยู่ ซึ่งบทความนี้รวบรวมข้อมูลมาบอกกันให้สาวๆ หายข้อข้องใจ คลายความกังวลว่าจะท้องไหม และได้ความรู้กันไปในตัวด้วย

ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

สำหรับยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว ซึ่งมีเม็ดยาฮอร์โมน 28 เม็ด หรือแผง ไม่มีเม็ดยาหลอก เมื่อรับประทานหมดแผงแล้ว ไม่ต้องเว้นว่าง แต่ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย ซึ่งภาวะขาดประจำเดือน จัดเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยในผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดนี้

ดังนั้น สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวจนหมดแผงแล้วก็ยังไม่มีประจำเดือนมา ไม่ต้องตกใจ เพราะนั่นเป็นผลข้างเคียงจากยาคุมที่ใช้นั่นเอง ไม่มีอันตราย

หากมั่นใจว่ารับประทานยาคุมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และตรงเวลา สามารถต่อแผงใหม่ได้เลย

ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

กรณีที่ใช้ยาคุมแบบ 21 – 22 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแผงแล้วต้องเว้น 7 วัน (หรือ 6 วันหากใช้แบบ 22 เม็ด) ก่อนเริ่มแผงใหม่  ตามปกติแล้ว ประจำเดือนจะมาหลังหยุดยา 2 – 3 วัน

แต่หากใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแผงแล้วให้ต่อแผงใหม่ในวันต่อไปได้เลย ซึ่งประจำเดือนจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก (ซึ่งเป็นเม็ดแป้ง หรือเป็นยาบำรุงเลือดในบางยี่ห้อ)

ในช่วงที่เว้นว่างก่อนเริ่มแผงใหม่ (กรณีที่ใช้แบบ 21 หรือ 22 เม็ด) หรือช่วงที่รับประทานยาเม็ดหลอก (กรณีที่ใช้แบบ 28 เม็ด) ถือเป็นช่วง “ปลอดฮอร์โมน” นั่นเอง แล้วหากประจำเดือนไม่มาในช่วงที่เป็นวันปลอดฮอร์โมน จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงการตั้งครรภ์ ตามกรณีต่อไปนี้

กรณีที่ 1: ในรอบเดือนนี้ ไม่มีเพศสัมพันธ์เลย

ตัดโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ไปได้เลย สำหรับกรณีนี้

ถ้าไม่มีอะไรกัน จะใช้ยาคุมไปทำไม?

ประการแรก ยาคุมมีประโยชน์มากกว่าแค่การคุมกำเนิดเท่านั้น บางคนก็จำเป็นต้องใช้เพื่อเหตุผลอื่นๆ เช่น ลดการเกิดสิว, ควบคุมรอบประจำเดือนให้ปกติ, ลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เห็นใครพกยาคุมแบบแผงรายเดือน อย่าเพิ่งคิดเหมารวมว่าใช้เพื่อคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว

ประการที่สอง ในกรณีที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิด แต่ไม่ได้มีการสอดใส่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

ดังนั้น ในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยงเลยที่จะตั้งครรภ์ เมื่อหมดระยะปลอดฮอร์โมน แม้จะยังไม่มีประจำเดือนมา ก็สามารถต่อแผงใหม่ได้ตามปกติ

กรณีที่ 2: มีเพศสัมพันธ์ในรอบเดือนนี้ แต่รับประทานยาคุมได้ถูกต้อง เหมาะสม และตรงเวลา

แม้ยาคุมกำเนิดจะไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% แต่หากใช้อย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอตรงเวลา อีกทั้งไม่มีการใช้ยาอื่นๆ ที่อาจส่งผลในการลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดร่วมด้วย โอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ถือว่าน้อยมาก คือมีความเสี่ยงเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเว้นระยะปลอดฮอร์โมนครบ 7 วัน หากประจำเดือนยังไม่มา แนะนำให้ตรวจตั้งครรภ์ ซึ่งหากผลตรวจเป็นลบ ก็ให้ต่อแผงใหม่ได้ตามปกติ

กรณีที่ 3: มีเพศสัมพันธ์ในรอบเดือนนี้ แต่รับประทานยาคุมไม่ถูกต้อง

กรณี้นี้ คือ รับประทานยาคุมไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงเวลาอยู่บ่อยครั้ง หรือมีการใช้ยาอื่นๆ ที่อาจส่งผลลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดร่วมด้วย

  • กรณีที่ใช้เป็นแผงแรก เริ่มรับประทานยาคุมเหมาะสมหรือไม่
    หากเริ่มใช้ภายในวันที่ 1 – 5 ของรอบเดือน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เลยโดยไม่ต้องใช้วิธีป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย แต่หากเริ่มใช้หลังจากนั้น ต้องงดร่วมเพศ หรือใช้วิธีป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วยภายใน 7 วันแรกที่เริ่มรับประทาน
  • กรณีที่ใช้ต่อเนื่อง การต่อแผงใหม่เหมาะสมหรือไม่
    กรณีที่ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด เมื่อหมดแผง จะต้องเว้น 7 วันก่อนเริ่มแผงใหม่ หากเว้นระยะนานกว่านั้น ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะไม่ต่อเนื่อง (สำหรับยาคุมที่มี 22 เม็ด ก็ให้เว้น 6 วันก่อนต่อแผงใหม่) ส่วนยาคุมแบบ 28 เม็ด เมื่อหมดแผงแล้ว วันต่อไปให้ต่อแผงใหม่ได้เลย
  •  รับประทานยาคุมถูกต้องหรือไม่
    รับประทานตามลำดับการใช้ที่ควรจะเป็น เช่น รับประทานจากเม็ดยาฮอร์โมนไปหาเม็ดยาหลอก ซึ่งหากยาคุมที่ใช้นั้น ในเม็ดยาฮอร์โมนมีปริมาณยาเท่ากันทุกเม็ด การรับประทานผิดเม็ดโดยที่เป็นเม็ดยาฮอร์โมนเหมือนกันก็ไม่มีปัญหา
    แต่หากคุณรับประทานผิด โดยใช้ยาเม็ดหลอกแทนเม็ดยาฮอร์โมน ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้าใช้ผิดต่อเนื่องกันหลายวัน
  • รับประทานยาคุมต่อเนื่อง ตรงเวลาสม่ำเสมอหรือไม่ แบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
    • ลืมรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง รับประทานผิดโดยใช้เม็ดยาหลอกแทนเม็ดยาฮอร์โมน ติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป
    • ลืมรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ รับประทานผิดโดยใช้เม็ดยาหลอกแทนเม็ดยาฮอร์โมน ติดต่อกันตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป
    • ลืมรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยวรุ่นเก่า เกิน 3 ชั่วโมงขึ้นไป
    • ลืมรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยวรุ่นใหม่ เกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป

ทั้ง 4 กรณีที่กล่าวมา จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่ต่อเนื่อง และทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะเมื่อแก้ไขไม่ถูกวิธี

กรณีรับประทานยาบางชนิดร่วมด้วยในระหว่างที่มีการใช้ยาคุม จะส่งผลในการลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดหรือไม่

มีรายงานความล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อใช้ยาต้านจุลชีพ ยากันชัก และสมุนไพรบางชนิดร่วมด้วยในระหว่างที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด จึงควรแจ้งแพทย์ และเภสัชกรให้ทราบ เพื่อพิจารณาการใช้ยาอื่นแทน หรือให้แนะนำเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวจริงๆ

จากกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น หากครบ 7 วันของระยะปลอดฮอร์โมนแล้วประจำเดือนยังไม่มา ก็ควรทดสอบการตั้งครรภ์

หากทดสอบการตั้งครรภ์แล้วให้ผลเป็นลบ สามารถต่อแผงใหม่ได้เลยหรือไม่?

หากผลตรวจเป็นลบ คือ ไม่ตั้งครรภ์ ให้คุณดูว่า ตนเองมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ (ซึ่งอาจทำให้ไม่เห็นผลบวกในการทดสอบ) เช่น ลืมรับประทานยาคุมติดต่อกันหลายวันในแถวที่ 3 ของแผง แล้วมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันสอดคล้องกับช่วงที่ไม่มีผลในการคุมกำเนิด

ถ้าใช่… คุณยังไม่ควรเริ่มรับประทานยาคุมแผงใหม่ แต่ให้รอจนกว่าจะมีประจำเดือนมา แล้วค่อยเริ่มรับประทานใหม่ ระหว่างนั้น ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน

อาจมีการตรวจตั้งครรภ์ซ้ำอีกครั้ง หากนับวันที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ได้เกิน 14 วันแล้ว และประจำเดือนยังไม่มา ซึ่งถ้าผลตรวจเป็นลบ ก็ให้เริ่มยาคุมแผงใหม่ได้ แต่งดร่วมเพศ หรือให้ใช้ถุงยางร่วมด้วย ใน 7 วันแรกที่เริ่มใช้ยาคุมแผงนี้

สรุป ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อต่อยาคุมแผงใหม่ จะไม่มีประจำเดือนมาในช่วงที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมน นั่นคือ ประจำเดือนจะมาในช่วง “ปลอดฮอร์โมน” ของแผงใหม่เลย ซึ่งหากครบ 7 วันนั้น ประจำเดือนก็ยังไม่มาอีก ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจก่อนแต่งงาน


คำถามที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top