ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่


ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
  • อัตราการเต้นของหัวใจทารกมีความสำคัญมาก หากเต้นช้ากว่า 100 ครั้ง/นาที ในสัปดาห์ที่ 6 หรือน้อยกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในสัปดาห์ที่ 7 ของการตั้งครรภ์ให้ถือว่า "มีภาวะหัวใจเต้นช้า"
  • การตรวจสอบอัตราการเต้นหัวใจของทารกทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การฟังด้วยหูฟังแพทย์ การฟังด้วยเครื่อง Fetal Heart Doppler และการอัลตร้าซาวน์
  • ทารกในครรภ์จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่สัปดาห์ที่ 9 โดยอาจสูงถึง 180 ครั้ง/นาที และจะค่อยๆ ลดลงเมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้น
  • ทารกที่อยู่ในระยะครบกำหนดที่สัปดาห์ที่ 37 เป็นต้นไป และมีหัวใจเต้นเร็วกว่า 160-180 ครั้ง/นาที ให้ถือว่า มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจทารกอาจ "เสี่ยงต่อความปลอดภัย" ของครรภ์ได้ คุณแม่ทุกคนจึงควรฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด (ดูแพ็กเกจฝากครรภ์และตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์นั้นมีความสำคัญมาก หากทารกในครรภ์มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าผิดปกติ อาจหมายถึงการเพิ่มโอกาสเสี่ยงของทารกในครรภ์ได้

จะรู้ได้อย่างไรว่า "ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า” คำถามนี้เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีต่อไปนี้  

วิธีตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจทารก

  1. การฟังด้วยหูฟังแพทย์ (Stethoscope) โดยแพทย์ หรือพยาบาลเวชปฏิบัติ จะสามารถฟังจะนับอัตราการเต้นได้อย่างง่ายและ มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด วิธีนี้จะสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจของทารกเมื่ออายุครรภ์ 17-20 สัปดาห์
  2. การฟังด้วยเครื่อง Fetal Heart Doppler หรือ Fetal Doppler สามารถซื้อหาได้ตามร้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วิธีนี้คุณแม่จะสามารถฟังหัวใจของลูกน้อยได้เองที่บ้านและสามารถนับอัตราการเต้นของหัวใจลูกได้เอง แต่มีข้อเสียคือ กรณีที่คุณลูกกลับตัวอยู่ภายในครรภ์ ตำแหน่งที่ฟังได้ชัดก็จะเปลี่ยนไปด้วย วิธีนี้จะสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจของทารกเมื่ออายุครรภ์ 10-14 สัปดาห์
  3. การนับอัตราการเต้นของหัวใจลูกด้วยการทำอัลตร้าซาวน์ วิธีนี้จะมีความแม่นยำและตรวจพบได้เร็วที่สุด แต่เสียค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน ต้องไปโรงพยาบาล หรือคลินิก เพื่อให้แพทย์ทำอัลตร้าซาวน์ให้จนเห็นหัวใจและทำการนับ วิธีนี้จะสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจของทารกเมื่ออายุครรภ์ 5-10 สัปดาห์

การเลือกว่า จะนับอัตราการเต้นของหัวใจแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวก ความต้องการ และงบประมาณของคุณแม่แต่ละท่าน

ส่วนคำถามต่อไปที่หลายคนคงอยากรู้  “หัวใจของทารกควรมีอัตราการเต้นเท่าใดจึงจะปกติ”

อัตราการเต้นของหัวใจทารก

ทารกในครรภ์จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่สัปดาห์ที่ 9 โดยอาจสูงถึง 180 ครั้ง/นาที และจะค่อยๆ ลดลงเมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้น ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 5-6 : มีอัตราการเต้นของหัวใจ ประมาณ 110 ครั้ง/นาที (โดยเฉลี่ย)
  • สัปดาห์ที่ 9-10 : มีอัตราการเต้นของหัวใจ ประมาณ 170 ครั้ง/นาที
  • ประมาณสัปดาห์ที่ 14 : มีอัตราการเต้นของหัวใจ ประมาณ 150 ครั้ง/นาที
  • ประมาณสัปดาห์ที่ 20 : มีอัตราการเต้นของหัวใจ ประมาณ 140 ครั้ง/นาที
  • ช่วงใกล้คลอด : มีอัตราการเต้นของหัวใจ ประมาณ 130 ครั้ง/นาที

อัตราการเต้นของหัวใจแบบไหนที่เรียกว่า "ช้า" 

หากทารกมีอัตราการเต้นหัวใจน้อยกว่า 100 ครั้ง/นาทีในสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ หรือน้อยกว่า 120 ครั้ง/นาทีในสัปดาห์ที่ 7 ของการตั้งครรภ์ให้ถือว่า "มีภาวะหัวใจเต้นช้า"

ส่วนทารกที่อยู่ในระยะครบกำหนดที่สัปดาห์ที่ 37 เป็นต้นไป และมีหัวใจเต้นเร็วกว่า 160-180 ครั้ง/นาที ให้ถือว่า "มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว"

อย่างไรก็ตาม หากตรวจไม่พบว่า ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจหมายถึง ทารกในครรภ์เสียชีวิตแล้วนั่นเอง

นอกจากการอัลตร้าซาวน์จะมีประโยชน์ เช่น สามารถตรวจพบว่า ทารกมีหัวใจเต้นได้เร็วกว่าและมีความแม่นยำกว่าวิธีอื่นแล้ว การอัลตร้าซาวน์ยังทำให้คุณแม่สามารถดูความผิดปกติอื่นๆ ของทารกได้อีกหลายอย่าง เช่น

  • หาอายุของทารกในครรภ์
  • ตรวจเช็กจำนวนโครโมโซมว่า มีจำนวนมากกว่า หรือน้อยกว่าปกติหรือไม่
  • ประเมินความยาวของปากมดลูก
  • ประเมินความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์
  • ประเมินทางกายวิภาค ดูสภาพทางกายของทารกได้

การประเมินอายุครรภ์จากการอัลตร้าซาวน์ 

ในช่วงสัปดาห์ที่ 13-18 ของการตั้งครรภ์ สามารถประเมินอายุของทารกในครรภ์โดยใช้อัลตราซาวด์ (ULTRASOUND) จากข้อมูลต่อไปนี้

  • ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระโหลก (Biparietal diameter)
  • ความยาวรอบศีรษะ (Head circumference)
  • เส้นรอบวงท้อง (Abdominal circumference)
  • ความยาวของกระดูก (Femur length)

อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ไม่สามารถบอกเพศได้

ในปัจจุบันได้มีการพิสูจน์แล้วว่า หากทารกมีการขยับตัว อัตราการเต้นของหัวใจก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับที่เวลาเราขยับตัว หรือเคลื่อนไหว 

ส่วนอัตราการเต้นของหัวใจทารกเพศชายก็สามารถเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกับทารกเพศหญิงที่คนมักเชื่อว่า มีการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่า

นั่นทำให้สรุปได้ว่า "อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ไม่สามารถบอกเพศของทารกได้"

ถึงแม้ว่า ผลตรวจอัลตราซาวนด์จะแสดงว่า ทารกในครรภ์มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ค่อนข้างช้า อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอัตราการเต้นหัวใจทารกในครรภ์ก็อาจจะเป็นปกติและการตั้งครรภ์ก็ยังสามารถดำเนินต่อโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

แต่หากผลที่ได้เป็นอย่างอื่น คุณ หรือแพทย์ก็ไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงผลได้ 

ทั้งนี้ภาวะแท้งบุตรหลังการตรวจพบอัตราการเต้นของหัวใจทารกที่ค่อนข้างช้า มักเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมขณะเกิดการปฎิสนธินั่นเอง


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจฝากครรภ์คลอดบุตร


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Oudijk MA, Visser GH, Meijboom EJ. Fetal tachyarrhythmia--part I: Diagnosis. Indian Pacing Electrophysiol J. 2004;4 (3): 104-13
  • Doubilet PM, Benson CB. Embryonic heart rate in the early first trimester: what rate is normal? J Ultrasound Med. 1995;14 (6): 431-4.
  • Benson CB, Doubilet PM. Slow embryonic heart rate in early first trimester: indicator of poor pregnancy outcome. Radiology. 1994;192 (2): 343-4.
@‌hdcoth line chat