สารพัดปัญหาเกี่ยวกับ “รากฟันเทียม”

รากฟันเทียม (Dental implant) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยรองรับการใส่ฟันปลอมทั้งแบบถอดได้ และแบบติดแน่น หรือช่วยยึดฟันธรรมชาติที่โยกให้แข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป

ในบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังทำรากฟันเทียม

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทำรากฟันเทียมช้าเกินไป

ในผู้ที่ตัดสินใจทำรากฟันเทียมช้าเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น

  • หากไม่ใส่ฟันปลอมทดแทนฟันธรรมชาติที่เสียไป ปล่อยให้เป็นพื้นที่โล่ง จะทำให้ฟันที่อยู่ข้างเคียงเคลื่อนที่และล้มไปยังพื้นที่โล่งนั้น
  • หากใส่ฟันปลอมแบบถอดได้โดยไม่มีรากฟันเทียมรองรับ จะทำให้ไม่มีตัวช่วยในการรับแรงบดเคี้ยว เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะส่งผลให้กระดูกสันเหงือกละลายจนไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้ในที่สุด
  • ในผู้ที่กระดูกสันเหงือกบางมากจะต้องทำการปลูกกระดูกก่อนทำรากฟันเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และใช้ระยะเวลาในการปลูกนาน ประมาณ 6 เดือน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม

การผ่าตัดรากฟันเทียมอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้เหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป โดยอาจเกิดได้จากการผ่าตัด หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้เข้ารับการรักษาเอง ดังนี้

  • รากฟันเทียมอักเสบจากการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารรสจัด ขบเคี้ยวของแข็ง ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • อาจมีอาการเจ็บ หรือปวดหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบทันตแพทย์ทันที
  • หลังการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมจะมีอาการบวมข้างที่ผ่าตัด สามารถประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง หรือผ้าเย็นได้
  • อาจเกิดการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้ หากมีอาการอักเสบ เป็นหนอง หรือฟันเทียมโยก ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทันที
  • ในระหว่างการผ่าตัดอาจไปทำลายถูกเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวด หรือชาไปยังฟันซี่อื่น เหงือก ริมฝีปาก หรือคางได้
  • อาจเกิดการล้มเหลวในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้

เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยทันตแพทย์อาจให้ดูแลตัวเองดังนี้

  • ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารรสชาติอ่อนๆ และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) และห้ามกลั้วแรงเกินไป จะช่วยลดการติดเชื้ออักเสบได้
  • หมั่นเปลี่ยนก๊อซทุก 30 นาที อย่างไรก็ตาม หากเลือดไหลไม่หยุด หรือไหลมากเกินไปให้แจ้งทันตแพทย์ทันที
  • ยาชาจะหมดฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเกิดอาการปวดตามมา หากทนไม่ไหวสามารถขอยาแก้ปวดกับทันตแพทย์ได้
  • รับประทานยาแก้อักเสบตามที่ทันตแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • งดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น
  • หลังจากผ่าตัด 2-3 วัน สามารถทำความสะอาดฟันและช่องปากได้ตามปกติ

แม้ว่าการทำรากฟันเทียมอาจเกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง และมีการดูแลรักษาในระหว่างพักฟื้นที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่หลังจากที่การทำรากฟันเทียมและใส่ครอบฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณจะได้รับฟันซี่ใหม่ที่มีคุณสมบัติแทบไม่ต่างจากฟันธรรมชาติเลย และวิธีการดูแลรากฟันเทียมง่ายๆ เหมือนฟันทั่วไป

ทำรากฟันเทียมและครอบฟัน ใช้ระยะเวลานานหลายเดือน

ขั้นตอนการทำรากฟันเทียมและใส่ครอบฟันใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน โดยในผู้ที่ไม่จำเป็นต้องปลูกกระดูก อาจใช้ระยะเวลาในการทำรากฟันเทียมประมาณ 2-3 เดือน ส่วนในผู้ที่ต้องปลูกกระดูก จะต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกกระดูกก่อนประมาณ 6 เดือน ซึ่งยังไม่รวมการทำรากฟันเทียม

ดังนั้นก่อนที่จะทำรากฟันเทียม ผู้เข้ารับการทำรากฟันเทียมควรเตรียมรับมือกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการรักษาเสียก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทำรากฟันเทียมและใส่ครอบฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากดูแลรักษาอย่างถูกวิธี รากฟันเทียมจะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 30-40 ปี

รากฟันเทียม ค่ารักษาค่อนข้างสูง

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของรากฟันเทียมคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการทำฟันปลอมแบบอื่นๆ โดยราคาของรากฟันเทียมจะแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ อาจมีราคาตั้งแต่ 30,000-90,000 บาท โดยที่ยังไม่รวมค่าครอบฟัน หรือการเสริมกระดูก

ผู้เข้ารับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมจึงควรปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเข้ารับบริการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีค่ารักษาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นการรักษาที่ยั่งยืน


เปรียบเทียมราคาและแพ็กเกจทำรากฟันเทียม ครอบฟัน

Scroll to Top